ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ : ฐากูร บุนปาน

น่าจะเป็นเพราะอาการ “เสพโซเชียล” มากไปในระยะหลัง

ความคิดความอ่านเลยฟุ้งกระจายไปทางโน้นทีทางนี้ที

อ่านโน่นอ่านนี่มากๆ เข้า แล้วก็เลยพาลนึกไปถึงสำนวนจีนที่ว่า “ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ขึ้นมา

พอนึกแล้วก็ไปค้น พอไปอ่านแล้วก็สนุก

ช่วยให้หางอึ่งงอกเพิ่มขึ้นมาอีกนิด

อาศัยความเป็นศิษย์นอกห้องเรียนแบบครูพักลักจำ ขออนุญาตตัดตอนข้อความจากบัญชร “เงาตะวันออก” ของท่านอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ในมติชนสุดสัปดาห์นี้เองมาเล่าต่อ

ถ้าผู้อ่านสนุกไปด้วย แปลว่าต้นตอท่านเรียบเรียงค้นคว้ามาดี

ถ้าอ่านแล้วขัดใจ

แปลว่าคนสรุปมาไม่ได้เรื่อง

ท่านเขียนอธิบายไว้อย่างนี้ครับ

“ปราชญ์แห่งสำนักต่างๆ ของจีนเวลานั้นเกิดในช่วงปลายยุควสันตสารท แล้วต่อเนื่องไปจนถึงปลายยุครัฐศึก

(เรียกว่ายุคชุนชิว-จ้านกว๋อ หรือคนไทยรู้จักในชื่อเดิมว่าเลียดก๊ก-ผู้เขียน)

การปรากฏขึ้นของสำนักเหล่านี้ผ่านช่วงเวลานานนับร้อยปี ทำให้มีสำนักเกิดขึ้นจำนวนมาก

จนกล่าวกันว่ามีอยู่นับ “ร้อยสำนัก”

เป็นคำกล่าวเปรียบว่ามีอยู่จำนวนมากจนเกินจะนับ

สำนักปรัชญาที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของคำกล่าวเปรียบว่า “ร้อยสำนัก” นี้เอง

ทำให้เกิดคำเรียกขานปรากฏการณ์นี้ว่า “ไป่เจียเจิงหมิง” หรือ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ขึ้นมา

ส่วนสำนวนที่ว่า “ไป่ฮวาฉีฟ่าง ไป่เจียเจิงหมิง” หรือ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นั้น

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1950 หลังจากที่จีนตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้ว

ผู้ที่ใช้สำนวนที่ว่าคือ เหมาเจ๋อตง (1893-1976)

ซึ่งเป็นการใช้ด้วยเหตุผลทางการเมือง”

แต่จาก “ร้อยสำนัก” ที่ว่า จะมีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่มีชื่อเสียง

และมิได้หมายความว่ากลุ่มคนในระดับชนชั้นปกครองจะให้การยอมรับเสมอไป

ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า สำนักที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นปกครองค่อนข้างสูงมักจะเป็นสำนักนิตินิยม

อันเป็นสำนักที่มีแนวคิดที่สามารถนำมาปฏิบัติและเห็นผลได้จริง

โดยไม่จำเป็นว่าการปฏิบัตินั้นจะอิงกับหลักจริยธรรมหรือคุณธรรมหรือไม่

ด้วยเหตุดังนั้น สำนักที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่มิได้รับการยอมรับจากผู้นำรัฐในขณะนั้น

จึงมักเป็นสำนักที่ให้คุณค่ากับจริยธรรมและคุณธรรม

ซึ่งมีความเป็นอุดมคติสูง

แล้วสำนักไหนโดดเด่นบ้าง ไล่เรียงดูก็ได้แก่

ขงจื่อกับสำนักหญู

แต่กว่าที่หลักคำสอนหรือหลักคิดของเขาจะเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง ก็ล่วงไปจนถึงเมื่อราชวงศ์ฮั่นก้าวขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน หรือในอีกราว 300 ปีต่อมาแล้ว

แต่นับจากนั้นต่อมาอีกกว่า 2,000 ปี ก็คือห้วงเวลาที่สำนักหญูของขงจื่อมีอิทธิพลเหนือสังคมจีนตลอดมา

สำนักเต้ากับเหลาจื่อ

หลักคิดของสำนักเต้านั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติที่เป็นไปอย่างแนบแน่น

ทำให้สำนักนี้ต้องอาศัยความรู้ในเรื่องอิน-หยางและอู่สิงหรือธาตุทั้งห้า (น้ำ ไฟ ไม้ โลหะ และดิน) มาอธิบายหลักคิดทางปรัชญาของตนด้วย

(ก่อนบางส่วนจะกลายเป็นสำนักเล่นแร่แปรธาตุในเวลาต่อมา-ผู้เขียน)

สำนักม่อกับม่อจื่อ

ม่อจื่อคัดค้านธรรมเนียมปฏิบัติ พิธีกรรม ประเพณี หรือขนบจารีต แบบที่ขงจื่อและสำนักหญูยึดถือ

ไม่เห็นด้วยแม้กระทั่งการไว้ทุกข์ให้แก่บิดามารดาที่นานถึง 3 ปี

บอกว่าทำให้ราษฎรต้องสูญเสียทั้งเงินทองและแรงกายไปโดยเปล่าประโยชน์

แต่เชื่อเรื่องผีสางเทวดา เช่นเดียวกับราษฎรทั่วไปหรือผู้มีฐานะต่ำต้อยในสังคม

และเน้นสารัตถะที่ “ความรัก” เป็นสำคัญ

โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ภราดรภาพ

“แต่น่าเสียดายที่อีกไม่กี่ร้อยปีต่อมา เกิดการเผาตำราในสมัยราชวงศ์ฉินโดยจักรพรรดิฉินสื่อที่เกิดเมื่อ 213 ปีก่อน ค.ศ. หรือปีที่ 8 ของการครองราชย์นี้

ผู้เป็นต้นคิดคือมหาอำมาตย์หลี่ซือ ที่เสนอให้เผาตำราของปราชญ์ทุกสำนัก ด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต่อการบริหารรัฐ

ให้เหลือไว้ก็แต่ตำราบางเล่ม เช่น แพทยศาสตร์ โหราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น”

ผ่านไปหลายพันปีแล้ว ความเป็นไปของสังคมและมนุษย์ยังเวียนๆ วนๆ อยู่ใกล้ที่เดิม

ควรจะประหลาดใจ สังเวชใจ

หรือดีใจ?