ต่างประเทศอินโดจีน : สูงสุดคืนสู่สามัญ

ระบบการค้าในยุคปัจจุบันก้าวไปไกลมาก การสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีเบ่งบานและแทบ “ขาดไม่ได้” ในโลกยุคนี้

แต่แล้วโควิด-19 ก็มาถึง สกัดทุกอย่างให้หยุดชะงัก

ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ยุติให้บริการ ความเคลื่อนไหวสัญจรไป-มาของผู้คนหยุดสนิท ด้วยคำสั่งของทางการให้ “อยู่แต่กับบ้าน”

เมื่อนั้น เทคโนโลยีด้านการค้าที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ก็ตกกลับสู่สภาวะสามัญที่สุดย้อนไปสู่ยุค “พรี-โมเดิร์น” เมื่อครั้งอดัม สมิธ ยังคงมีชีวิตอยู่

อดัม สมิธ พูดถึงระบบการค้าที่ใช้สินค้าแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันไว้เมื่อ 244 ปีก่อนใน “เวลธ์ ออฟ เนชั่นส์”

ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บาร์เตอร์เทรด”

 

เมื่อโควิด-19 จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่างในฟิลิปปินส์ลง บาร์เตอร์เทรดก็เบ่งบานอย่างเหลือเชื่อ

จากการสำรวจของรอยเตอร์สพบว่า เฉพาะที่ลูซอน เกาะที่อยู่อาศัยหลักของชาวฟิลิปปินส์ ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีกลุ่มบาร์เตอร์เทรดผุดขึ้นมามากกว่า 100 กลุ่ม

บางกลุ่มในจำนวนนั้นมีสมาชิกอยู่มากถึง 250,000 คนเลยทีเดียว

ลูซอนทั้งเกาะ เป็นที่อยู่ของประชากรราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ 107 ล้านคน ถูกล็อกดาวน์สนิทตั้งแต่ราวกลางเดือนมีนาคม เรื่อยมาจนถึงราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมเวลา 3 เดือนเศษ

การแลกเปลี่ยนในกลุ่มบาร์เตอร์เทรดใหญ่-น้อยทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไปได้ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานอย่างอินเตอร์เน็ตและ “เฟซบุ๊ก” ทั้งเพื่อการนำเสนอสินค้าที่ตนเองมี และเพื่อแจ้งความต้องการสินค้าที่สมาชิกในกลุ่มอยากได้

พวกเขาแลกเปลี่ยนสินค้ากันตั้งแต่ข้าวของพื้นฐานที่ต้องการแต่หาซื้อไม่ได้ในยามนั้น อย่างเช่นกรณีของเกรซ ลากาเดย์ คุณแม่เพิ่งคลอดวัย 31 ปีที่ต้องการขวดนม กับผ้ากันเปื้อนเด็กตอนป้อนนม แลกกับช็อกโกแลต เอ็มแอนด์เอ็ม 2-3 ถุงกับนูเทลล่าอีกขวด

นั่นคือจุดเริ่ม ต่อมาลากาเดย์แลกเปลี่ยนสินค้ากันอีกหลายอย่างในกลุ่มเฟซบุ๊ก อาทิ ไม้แขวนเสื้อบุนวมตกแต่งด้วยตุ๊กตา แลกกับข้าวสารถุง 5 ก.ก. หรือแลกเครื่องกำจัดยุงไฟฟ้ากับน้ำมันปรุงอาหาร 2 ขวด เป็นต้น

แต่การแลกเปลี่ยนที่ไม่ธรรมดาก็มีให้เห็น อย่างเช่น หนุ่มตากาล็อกวัย 36 ปีรายหนึ่งนำมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ปี 1993 มาแลกเป็นเงินส่วนหนึ่ง 125,000 เปโซ (ราว 80,000 บาท) ที่เหลือแลกเป็นสินค้ากระป๋อง, บะหมี่สำเร็จรูปและข้าวถุง เพื่อนำไปแจกคนจน

หรือนักศึกษาวัย 20 ปีชาวเมืองเซบูอีกราย ขอ “ไก่ชน” ของพ่อมาแลกกับไก่ทอด 16 ชิ้น เป็นต้น

 

การยกตลาดบาร์เตอร์เทรดมาไว้ออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่ได้ชื่อว่า “พึ่งพาอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก”

คนฟิลิปปินส์ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตต่อวันสูงถึงเกือบ 10 ชั่วโมง เทียบกับอัตราเฉลี่ยของทั้งโลกที่เกือบ 7 ชั่วโมงแล้วนับว่าสูงมากทีเดียว

ที่สำคัญคือ ฟิลิปปิโนส์ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียต่อวันสูงถึง 4 ชั่วโมง สูงที่สุดในโลก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่เพียงแค่ 2.5 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ในระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม การสืบค้นผ่านกูเกิลเสิร์ชด้วยคำว่า “บาร์เตอร์เทรด” พุ่งขึ้นสูงถึง 203 เปอร์เซ็นต์

ในหน้าเพจเฟซบุ๊กแต่ละวัน มีการโพสต์สินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนเป็นเรือนพันเรือนหมื่นโพสต์

สินค้ามีตั้งแต่หนังสือ, เสื้อผ้า, แกดเจ็ตและอุปกรณ์เสริม, แว่นตา, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์ และสัตว์ อย่างไก่ชน ที่แลกกับไก่ทอด ฯลฯ

ตราบเท่าที่ยังมีคนต้องการก็สามารถนำมาบาร์เตอร์เทรดได้ทั้งสิ้น