อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ระหว่างในสภากับนอกสภา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผู้เชี่ยวชาญการชุมนุมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า

“…การชุมนุมหน้าสภาวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ไม่มีผลอะไรต่อการเมือง ไม่ได้กดดันการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เห็นมีอะไร…”

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายความคิดเห็นของนักการเมืองในสภาต่อการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ส.ว.บางท่านก็บอกว่า

“…ถึงเวลาเอาม็อบมาล้อมสภา แล้วบอกว่าเอาเลยๆ สมาชิกวุฒิสภายังไม่เห็นด้วย อย่ามัดมือชกเราครับ…”

แล้วมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่เป็นที่ประหลาดใจสักนิดแล้วมีการรับลูกจาก ส.ว. มีการอ้างว่า มีเวลาเพียง 8 วันเพิ่งได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อ้างกันไป

ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ต่างรู้แล้วว่า นี่เป็นการดึงเรื่องซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ายังมีอีกหลายๆ วิธีที่จะดึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญด้วยฝีมือของผู้เชี่ยวชาญการเมืองในสภาและผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ

เช่นกัน การชุมนุมทางการเมืองคงดูไม่ได้แค่จำนวนของผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่ว่าชุมนุมจะมีจำนวนน้อยหรือมาก เราไม่ควรหลงลืมไปว่า การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ก่อตัวและปะทุขึ้นเพียงในระยะเวลาอันสั้น จากต้นปีนี้ทว่าการชุมนุมทางการเมืองกลับพัฒนาไปมาก อย่างรวดเร็วและขยายตัวไปในวงกว้าง

หากเราไม่มัวหลงประเด็นอยู่กับเรื่องทางเทคนิค เช่น มีจำนวน ส.ส.และ ส.ว.กี่ท่านเห็นชอบ ใช้เวลานานแค่ไหน ใครเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญบ้างหรือกลเกมการเมืองอื่นๆ พร้อมทำความเข้าใจการตอบโต้จากนักการเมืองฝ่ายต่างๆ แล้ว

ผมคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้อย่างน้อยที่สุด ช่วยให้เรามองเห็นภูมิทัศน์การเมืองไทยอีกภูมิทัศน์หนึ่ง

ที่ผมเรียกว่า ระหว่างในสภากับนอกสภา

 

ระหว่างในสภากับนอกสภา

ระหว่างในสภากับนอกสภาเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกในขณะนี้ รวมทั้งการเมืองไทยด้วยในแง่การจัดแบ่งกลุ่มแนวคิดทางการเมืองอันเนื่องมาจากพลังขับเคลื่อนของฝ่ายต่างๆ แล้วก่อรูปเป็น 2 ฝ่ายคร่าวๆ คือ

กลุ่มดั้งเดิมกับกลุ่มใหม่

การชุมนุมทางการเมืองหนนี้ในบ้านเราได้แบ่งแยกพื้นที่ทางการเมือง (political space) อย่างชัดเจน อย่างน้อยที่สุดคือการเมืองในสภากับการเมืองนอกสภา

พร้อมทั้งได้จัดแบ่ง (classification) ความคิดและวิสัยทัศน์ของคนไทยในสองกรอบใหญ่

โดยเป็นความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มดั้งเดิมกับกลุ่มใหม่

 

กลุ่มดั้งเดิม

กลุ่มดั้งเดิมนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มาจากการทำรัฐประหาร 2 ครั้งในไทยที่ผ่านมาในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557

กลุ่มนี้ต้องการรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ทั้งกติกาคือ รัฐธรรมนูญปัจจุบันและกติกาต่างๆ ที่สนับสนุนฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

เพื่อให้กลุ่มของตนยังคงความเหนือกว่าและเข้มแข็งได้ต่อไป

โดยให้มีการท้าทายอันเบาบางจากกลุ่มอื่นๆ

 

กลุ่มใหม่

กลุ่มใหม่นี้มุ่งเป้าหมายไปที่การเปลี่ยนแปลงกติกาสังคมให้เป็นกติกาใหม่

กติกาอันแรกและสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยได้นำเสนอประเด็นปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญปัจจุบันหลายประการ

อาทิ ชี้ให้เห็นโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางอำนาจเดิมที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและสังคม

ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันหลักสุ่มเสี่ยงภาระและความรับผิดชอบอันเกินขอบเขตอันเป็นอันตรายที่อาจย้อนกลับมาบั่นทอนความสามารถการตอบสนองของสถาบันได้

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อาจสุ่มเสี่ยงสถานะความชอบธรรมหรือ (authority) อันเป็นสิทธิธรรมในการปกครอง

ระหว่างในสภากับนอกสภาได้สลายทั้งความชอบธรรมอันเป็นการผูกขาดดั้งเดิมในการดำเนินการทางการเมืองเฉพาะของนักการเมืองเท่านั้นและบทบาทหน้าที่ (function) อันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะนักการเมืองเพียงผู้เดียว แทนที่เป็นการเมืองในสภา เมื่อปิดสภาแล้วก็ไม่มีการอภิปรายประเด็นการเมือง ไม่มีการนำเสนอแนวความคิดสาธารณะ รวมทั้งลดทอนความหมายของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

สิ่งใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้นแล้วกลายเป็น นวัตกรรมทางการเมือง

เมื่อกลุ่มใหม่เปิดพื้นที่การเมืองให้อยู่นอกสภา เป็นสภาสาธารณะที่เปิดออกตลอดเวลา เปิดทุกเวลานาที ไปปรากฏในทุกๆ ที่ เหมือนโลกออนไลน์ ด้วยหมุดคณะราษฎร 2563 ที่อยู่ทุกที่ ทุกเวลา หลากหลายแพลตฟอร์ม

หมุดจึงเป็นอะไรที่มากกว่าสัญลักษณ์ (Symbol) แต่แสดงและเล่น (play) ประเด็นวาระการเมืองหลักของคนกลุ่มใหม่ดังข้อความที่ปรากฏในหมุด

ที่น่าสนใจยิ่ง ข้อความในหมุดมีคุณค่าทางการเมืองถึงสองคุณค่าได้แก่ สองตรง

คือ ตรงหนึ่ง ไปที่โครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยปัจจุบัน

ตรงสอง คือตรงกับความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยหรือแม้แต่ผู้คนที่อยู่นอกสังคมไทย

 

มองไปข้างหน้า

ผมไม่เคยประเมินว่า ใครฉลาดหรือโง่กว่ากัน

ผมไม่อินอะไรนักต่อการใช้โซเชียลมีเดียไม่ว่าของคนกลุ่มไหน

ผมเห็นว่า คำปราศรัยของเด็กๆ ที่อายุเพียง 20 ปีต้นๆ มีพลานุภาพมากนัก

เพราะนี่ไม่ใช่วาทศิลป์สวยหรู หากทว่าเป็นแก่นกลางของโครงสร้างการเมือง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอุดมการณ์ ในสังคมไทยที่ไม่สนองตอบความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายใน ที่แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว

แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะคุกคามและเป็นอันตรายได้อย่างไร

หนูแฮมเตอร์และเพลงแฮมทาโร่ กำลังสร้างประวัติศาสตร์ของสังคมไทย