อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ปานามา เปเปอร์ส

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / RODRIGO ARANGUA

ตามที่หนังสือพิมพ์ “ซุดดอยต์เชอ ไซตุง” (Suddeutsche Zeitung) ของเยอรมนี และสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigation Journalists-ICIJ) ได้ร่วมกันเปิดเผยและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเข้ารหัสจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนเป็นเอกสารภายในบริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและให้คำปรึกษาด้านการเงินและการจัดการทรัพย์สิน1

การวิเคราะห์ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย องค์กรการกุศลอเมริกันที่ชื่อว่า the Centre for Public Integrity2

เอกสารดังกล่าวถือเป็นการเปิดโปงให้เห็นเรื่องราวของโลกที่ถูกปิดอยู่ กล่าวคือ มีอุตสาหกรรมระดับโลกที่นำโดยธนาคารขนาดใหญ่ บริษัทกฎหมาย บริษัทจัดการทรัพย์สิน คอยดูแลจัดการทรัพย์สินของคนรวย นักการเมือง ดาราและคนที่มีชื่อเสียงของโลก รวมทั้งเจ้าหน้าที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า นักกีฬาอาชีพ รวมทั้งนักต้มตุ๋นและผู้ลอบค้ายาเสพติด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้มองว่า คนเหล่านี้เป็น “คนร้าย” ทั้งหมดแต่อย่างไร ปานามา เปเปอร์ส ก็น่าสนใจในหลายด้าน

ข้อมูลรั่ว

รายงานจากหนังสือพิมพ์ The Economist ฉบับวันที่ 6 เมษายน 2016 อธิบายว่า รายงานของ ปานามา เปเปอร์ส ครอบคลุมเกือบ 40 ปี แต่บางกรณี ผู้ใช้บริการบางคนเพิ่งเริ่มใช้บริการนี้และมีข้อมูลอยู่เพียงไม่กี่เดือน

ทั้งนี้ ITCJ ได้ใช้ผู้สื่อข่าวที่เป็นสมาชิกของสมาคมนี้จำนวนมาก (ประมาณ 400 คน) องค์กรสื่อ 100 องค์กร และมาจาก 80 ประเทศรวมทั้งสื่อจากอังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนตินาและเยอรมนี เป็นต้น วิเคราะห์รายงานจากข่าวรั่วนี้

ความจริงแล้ว ITCJ ได้เคยวิเคราะห์และรายงานข่าวรั่วในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงเอกสาร “Luk Leaks” ซึ่งแสดงรายงานเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี ระหว่างบรรษัทข้ามชาติกับรัฐบาลประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg)3

จากรายงานของ ซุดดอยต์เชอ ไซตุง ระบุว่า บริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา เป็นบริษัทสัญชาติปานามาที่มีสำนักงานอยู่หลายแห่งทั่วโลกทั้งในเมือง ซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลอนดอน เครือสหราชอาณาจักร และฮ่องกง วิธีการขั้นต้นคือ บริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา จะขายบริษัทในนิรนามให้กับผู้ซื้อในราคาเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสามารถจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อผู้อำนวยการปลอม และให้ช่วยซ่อนผู้ถือหุ้นของบริษัทได้

ผลที่ตามมาคือ มีบริษัทนอกประเทศเกิดขึ้นโดยที่ภายนอกไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์แท้จริงคืออะไร และโครงสร้างเจ้าของกิจการเป็นใครบ้าง

นี่เป็นหลักการเดียวกับการก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต หรือ ออฟชอร์

เอเชียวิถี?

จากรายงานของสื่อมวลชนบางแขนง ข้อมูลทั่วไปที่น่าสนใจคือ ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ถูกนับว่าเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของบริษัทนอกอาณาเขต ที่อยู่ในปานามา เปเปอร์ส บริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา ได้รับค่าจ้างจากบริษัทนอกอาณาเขตเกือบ 16,300 แห่งที่บริหารงานอยู่ในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่4

การดำเนินงานของบริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา สาขาฮ่องกงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1989 ตามข้อมูลของ ICIJ อ้างว่าบริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา สาขาฮ่องกง เป็นบริษัทที่ยุ่งที่สุดในโลก นอกจากนี้ บริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยังมีสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่อีก 8 แห่ง ได้แก่ ต้าเหลียน หางโจว จีนาน นานจิง นิวโบ กิงเดา เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น

สิ่งที่น่าวิเคราะห์อาจแบ่งได้ดังนี้

ข่าวปล่อย?

ช่างบังเอิญเหลือเกินที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ มีการพักไว้ระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่ถูกคลี่ออกมาโดยนักข่าวเชิงสืบสวน ที่เป็นสมาชิกของ ICIJ และองค์กรสื่อจำนวนหนึ่ง ที่น่าสนใจมากด้วย สำนักข่าว Bloomberg ซึ่งผู้เขียนใช้ข้อมูลส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICIJ อีกทั้งยังดูเหมือนว่า ข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือเขาแจ้งว่าราว 1 ใน 3 ของข้อมูลเกี่ยวข้องกับเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวข้องกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศรัสเซีย ซึ่งเท่ากับว่าข่าวย่อมไปพัวพันกับผู้นำ ญาติและเพื่อนๆ ของผู้นำประเทศทั้งสองนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกนี้ ไม่มีรายงานของนักการเมือง นักธุรกิจและดาราชาวอเมริกันและเยอรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังปรากฏในเอกสารปานามา เปเปอร์ส ซึ่งมีอยู่ 2 เหตุผล

ประการที่หนึ่ง ซุดดอยต์เชอ ไซตุง ชื่อของบุคคลต่างๆ ยังไม่ได้รายงานออกมาหมด หนังสือพิมพ์ยังรายงานว่า เอกสารเหล่านี้มีสำเนาหนังสือเดินทางคนอเมริกัน 200 คน และคนอเมริกันที่ถือหุ้นในบริษัทนอกอาณาเขตนี้จำนวนเกือบ 3,500 คน

บริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา ได้ดูแลลูกค้าอเมริกันเฉพาะคนอเมริกันที่กำลังอยู่อาศัยในประเทศปานามา

ลูกค้าเหล่านี้เป็นคนที่เกิดในเยอรมนีและมีความเกี่ยวข้องอันยาวนานกับประเทศต่างๆ ในยุโรปมายาวนานหลายปี พวกเขามีธุรกิจที่อยู่ในยุโรปและในละตินอเมริกา

ประการที่สอง ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายของมลรัฐให้อำนาจบริษัท บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและการจัดการทรัพย์สินจัดตั้งบริษัทนอกเขตอำนาจได้เอง เช่น รัฐเนวาดา เป็นต้น

ดังนั้น บริษัทนอกเขตอำนาจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของนักการเมือง นักธุรกิจ ดาราและผู้มีชื่อเสียงอเมริกัน

ไม่ควรลืมว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ผลิตนักกฎหมาย บริษัทกฎหมายและที่ปรึกษากฎหมายชั้นเยี่ยมของโลก มีหรือที่บริษัทกฎหมายอเมริกันจะไม่ใช้บริษัทนอกอาณาเขตของตัวเอง

หากสังเกตให้ดี บริษัทนอกอาณาเขตชั้นนำของโลกมีถิ่นที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ทวีปอเมริกานั่นเอง

บริษัทนอกอาณาเขต บริษัทกระดาษ เกาะสวรรค์ ฯ ล้วนเป็นสิ่งที่นักกฎหมายและนักบัญชีและภาษีใช้กันมานาน

นักกฎหมายศรีธนญชัยมีอยู่ทั่วโลกครับ

 


1“PanamaPapers แฉระดับมหึมา บิ๊กผู้นำโลกจ้างบริษัทซ่อนธุรกรรม ก่อทุจริต-ฟอกเงิน” ประชาไท 7 เมษายน 2016
2http://panamapapers.sueddeutsche.de/articles/56febff0a1bb8d3c3495adf4/
3“The Panama papers : a torrential leak” The Economist April 6th 2016.
4Brendan Scott, “China, Hong Kong Top Market for Firm at Center of Panama Leaks” Bloomberg April 7 2016.
5Frank Jordan and Raf Casert, “EU threatens to put sanctions on Panama, other tax havens” AP 7April 2016.