กาแฟดำ | ว่าด้วยเปลือกและแก่นของ สิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์”

สุทธิชัย หยุ่น

ยุคสมัยที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเพราะ “ความป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีและ “ระเบียบโลกใหม่” นั้นคำว่า “อุดมการณ์” หรือ ideology กำลังถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางและรอบด้าน

เมื่อ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” กำลังถูกตั้งคำถามเพราะความบิดเบี้ยวของรูปแบบการบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ

ที่เรียกขานกันว่าอเมริกาเป็น “แม่แบบ” ของสิ่งที่เรียกว่า “เสรีนิยม” (liberalism) นั้นกำลังถูกวิพากษ์ว่า “เสรี” จริงหรือไม่…

และการทำการเมืองเพื่อประโยชน์แห่งตนเองด้วยวิธีการที่กดขี่ผู้เห็นต่างในประเทศที่เคยเรียกตัวเองว่า “ดินแดนแห่งความคิดเห็นที่เสรี” นั้นถือว่าเป็น “เสรีนิยม” แบบใด

และคำว่า “สังคมนิยม” กับ “คอมมิวนิสต์” ถูกสีจิ้นผิงของจีนปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางใหม่ที่บางคนเรียกว่า “state capitalism” หรือ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

ทำให้เกิดการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วนของโลกว่าคำว่า “อุดมการณ์” ยังมีความหมายอะไรสำหรับคนรุ่นนี้หรือไม่อย่างไร

ความจริง แนวความคิดว่า “หมดยุคแห่งอุดมการณ์แล้ว” (End of Ideology) ไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงแห่งความสับสนของแนวทางการเมืองเท่านั้น

ในยุค 1950s แวดวงปัญญาชนทางตะวันตกก็เริ่มจะตั้งคำถามเกี่ยวกับคำนิยามของ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ไม่น้อยก่อนโลกจะก้าวเข้าสู่ “สงครามเย็น” หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อันเป็นฉากประวัติศาสตร์ที่แบ่งโลกออกเป็นขั้ว “เสรีนิยม” ที่นำโดยสหรัฐ และ “สังคมนิยม” นำโดยสหภาพโซเวียต

ต่อมาสหภาพโซเวียตล่มสลาย เหลือรัสเซียเป็นแกน และจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต จนกลายมาเป็นการไปเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน

นำมาซึ่งโลกยุคจีนภายใต้เติ้งเสี่ยวผิงที่ประกาศแนวความคิด “แมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ก่อนจะแปรเป็น “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

คอมมิวนิสต์แบบจีนก็คลายความเข้มข้น หันมาใช้ทุนนิยมในเนื้อหาที่ยังห่อหุ้มด้วยคำขวัญสังคมนิยม

จึงไม่ต้องแปลกใจว่านักคิดตะวันตกบางคนเคยประกาศ “การหมดยุคของอุดมการณ์”

วันก่อนผมอ่านบทความของคุณธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ที่เขียนไว้ในหนังสือเนื่องในวาระครบรอบ 6 รอบอายุของคุณประสาร มฤคพิทักษ์ (ที่เพิ่งออกมาในเดือนกันยายน, 2563) นี้ไว้น่าสนใจ

ภายใต้หัวข้อ “14 ตุลาคมกับอุดมการณ์” คุณธีรยุทธเล่าว่า

ในยุค 14 ตุลาคม 2516 มีคำที่ใช้จำแนกบุคคลอยู่คำหนึ่งคือคำ “อุดมการณ์”

ถ้าใช้ในทางยกย่องก็เช่น “เขาเป็นคนมีอุดมการณ์”

ถ้าแสดงความหมั่นไส้ไม่เห็นด้วยก็เช่น “พวกกินอุดมการณ์” หรือ “อุดมการณ์กินได้หรือเปล่า”

คุณธีรยุทธบอกว่าคำนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบางอาชีพ เช่น นักหนังสือพิมพ, แพทย์, ผู้พิพากษา, นักกฎหมายและปัญญาชน

คำ “อุดมการณ์” สื่อความหมายถึงคติ รากฐานของสิ่งที่ดีงามสูงส่ง เป็นวีรกรรมหรือการเสียสละ

ส่วนภาษาอังกฤษ idealism มีรากเหง้าเก่าแก่จากปรัชญากรีกที่เชื่อในสิ่งหรือแบบแผนที่สูงส่ง

จริงแท้ ดีงาม (idea = รูปแบบที่จริงแท้ ตายตัว)

และ ideology ก็คือศาสตร์หรือวาทกรรมที่เกี่ยวกับความจริงสูงสุด ดีที่สุด

คำ ideology ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เสรีนิยม สังคมนิยม ชาตินิยม หรือคอมมิวนิสต์นิยม มีความหมาย ความจริงจังสำหรับคนตะวันตกมากกว่าคนไทย เพราะเขาเชื่อมโยงสิ่งจริงแท้ที่สุดในตนคือวิญญาณ (soul) เข้ากับสิ่งจริงแท้ทางความเชื่อและการแสดงออก

พุทธศาสนาของคนไทยสอนให้ไม่ยึดติดกับวิญญาณหรือตัวตน แต่ให้ความสำคัญกับการกระทำที่พิจารณาถึงความเป็นจริงที่สัมพันธ์กับสภาวะรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง สังคม เพื่อนร่วมโลก คนไทยจึงจริงจังกับหลักคิดแนวคิดทางการเมืองน้อยกว่าตะวันตก

คุณธีรยุทธเขียนต่อว่า

มีคำวิจารณ์หนึ่งคือ “คนรุ่น 14 ตุลาคมละทิ้งอุดมการณ์แล้ว” หรือที่แรงขึ้นคือ “คนรุ่น 14 ตุลาคมขายอุดมการณ์” ผมไม่ให้ความสำคัญคำวิจารณ์เหล่านี้มากนัก

ผมไม่แก้ต่างให้กับบางพวกบางคนที่อาจหันเหชีวิตไปเพื่อผลประโยชน์ตัวเองอย่างเดียว

แต่ผมเห็นใจและเข้าใจคนรุ่นผมที่ร่วมต่อสู้กันมาในอดีต

แม้แต่ตัวผมเอง “อุดมการณ์” ยังมีความสำคัญยิ่ง แต่ผมก็ตระหนักถึงความเบาบางของมันเมื่อเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายของชีวิต สภาพสังคม การเมืองและอำนาจ

บ่อยครั้งอุดมการณ์ก็ขาดสะบั้นลงได้

อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลาฯ อธิบายต่อว่า

ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือคำว่า “อุดมการณ์” ในโลกตะวันตกก็เผชิญความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของโลกมาเกือบศตวรรษแล้ว

จนนักคิดบางคนประกาศ “จุดจบของอุดมการณ์” หรือ “อุดมการณ์ตายแล้ว”

เพราะอุดมการณ์เจอกระแสวิจารณ์หนักเมื่อมันผลักตัวเองไปจนสุดขั้ว สร้างความวิบัติร้ายแรง

เช่น เป็นลัทธิชาตินิยมแบบฟาสซิสต์ นาซี ลัทธิสตาลิน ลัทธิเหมา

ต่อมาก็เผชิญปัญหาต่อคำวิจารณ์ว่ามันเป็นเพียงความเชื่อหรือความจริงแท้

ตามมาด้วยคำวิพากษ์จากกระแสพหุนิยมที่มองว่าต่างชาติ ต่างภาษา วัฒนธรรมก็อาจมีชุดความคิด ความเชื่อ ความชื่นชอบในบางเรื่องบางอย่างต่างกัน

จนหลังสุดคือแนว “โพสต์โมเดิร์น” ที่มองว่าแก่นแกนของทุกอุดมการณ์ล้วนมีข้อบกพร่อง ย้อนแย้งกันจนไม่สามารถยึดเป็นสรณะได้แท้จริง

ทุกอย่างเป็นวาทกรรมเพื่อการครอบงำจากอำนาจ อคติ ผลประโยชน์ ทั้งสิ้น

ในยุคปัจจุบัน เกือบจะไม่มีนักคิดนักวิชาการในโลกที่ยังอ้างว่าตัวเองมี idealism หรือมี ideology ที่เชื่อมั่นอยู่เลย

คุณธีรยุทธบอกว่า ปัญญาชนนักเคลื่อนไหวไทยได้รับผลสะเทือนทางความคิดเหล่านี้บ้าง

แต่ปัญหานี้กลับส่งผลรุนแรงเพราะความผันผวนทางการเมืองภายในของเราเอง

เช่น มีการใช้วาทกรรมว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “เผด็จการไทย” ต่างไปจากเผด็จการที่อื่นตรงที่ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพ ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันต่างๆ ในลักษณะที่หนักหนาสาหัส

จริงอยู่ว่าในปัจจุบันเกือบไม่มีใครยึดถือกับความเชื่อว่าอุดมการณ์ในแง่ที่เป็นอุดมคติ คือเป็นแบบแผนหลักการที่บริสุทธิ์ถูกต้อง จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อันเป็นคติแบบที่เชื่อว่ามีโลกที่บริสุทธิ์ สัมบูรณ์ เป็นหลักให้พวกเราที่อยู่ในโลกสามัญคอยยึดถือเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติอยู่

แต่ที่จริงแล้วนักคิดในโลกไม่ได้แอบอ้างว่ามนุษย์เราจะเลือกทำอะไรก็ได้ กล่าวอ้างอะไรก็ได้

มนุษย์ยังต้องมีจริยธรรม คุณธรรม หลักการการเมือง การปกครอง ซึ่งอาจคิดจากการใช้เหตุผลตรึกตรองร่วมกัน และ/หรืออาศัยฉันทามติประกอบด้วย หรืออาศัยกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อตกลงควบความถูกต้องเป็นประโยชน์ให้หลักยึดเป็นช่วงๆ คราวๆ ไป

เลิกคิดเปลือก มายึดกุมที่แก่นได้ไหม?

ผมสนใจที่คุณธีรยุทธย้ำว่า

ผมเองเลิกยึดติดกับวาทกรรมที่สร้างอุดมการณ์ทั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” “เสรีนิยม” หรืออุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มานานแล้ว

เพราะวาทกรรมเหล่านี้ถูกใช้อย่างฉาบฉวยมักง่ายจนหันกลับมาทำลายคุณค่าของประชาธิปไตย

สถาบันต่างๆ ซึ่งโดยเนื้อแท้มีความจำเป็นและสำคัญต่อสังคมไทยในมิติต่างๆ กันไป

ผมเองต้องถอดเปลือกของอุดมการณ์ต่างๆ ทิ้งไป

ตอนนี้เหลือเพียง “แก่น” หรือ “กระบวนการต่อรองเพื่อตกลงร่วมกัน” ที่ผมเชื่อว่าเป็นหัวใจของอุดมการณ์ทั้งสองข้างต้นคือ

1. ต้องเชื่อมั่นในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนที่อ่อนแอกว่า ด้อยกว่าในสังคม

2. ต้องเชื่อมั่นในการมีอำนาจร่วมกันของคนทุกคนอย่างกว้างขวางที่สุด

3. เชื่อมั่นในการเคารพความคิด ประสานความคิดของกันและกันให้มากที่สุด

4. ทุกคนหรือทุกองค์กรสถาบันจะดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าได้จะต้องมีอุดมคติ ก็คือการอุทิศตัวเพื่อสามสิ่งข้างต้น

คุณธีรยุทธสรุปว่า

“ยังมีค่านิยมส่วนตัวของผมคือชีวิตต้องอยู่กับความจริง ความหนักแน่น และความจริงใจ คนเป็นเพื่อนมิตรกันต้องเข้าใจ อดทนต่อความเห็นที่ต่าง วิถีชีวิตที่ต่างของแต่ละคน และที่เป็นส่วนตัวก็อาจจะเป็นแง่คิดว่าคนเราต้องมีความเป็นนักเลงที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจในวาระที่สำคัญๆ จริงใจให้อภัยกับเพื่อนมิตร จนกล่าวได้ว่าผมเองไม่เคยโกรธเคืองใครเลย เว้นแต่ผู้ที่ขาดแก่นหลักชีวิตของตนถึงขั้นผิดคุณธรรม ความเป็นคน และความเป็นมิตรที่ดี เช่นการโกงกินบ้านเมือง แต่งเรื่องกุเรื่องขึ้นมาด่าทอทำลายกัน…”

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า…ไม่ว่าจะเป็น “เสรีนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม” หรือวาทกรรมใดๆ ต้องแยกเปลือกจากแก่นให้ได้!