อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ความรุ่งเรือง ที่ดิน คอนโดฯ และแรงงานย้ายถิ่น

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในการใช้ที่ดินในชนบทและความสัมพันธ์ทางสังคมอันสืบเนื่องจากการใช้ที่ดินและคนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นได้ชัด มาก

คือ มีการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงนี้ไปที่ภาคเกษตร การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอุตสาหกรรม ความเป็นเมืองได้ปรับเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงโดยทันทีของการใช้พื้นที่ทางการเกษตร ไปสู่การใช้เพื่ออุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยวและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

ในเวลาเดียวกัน ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเนื่องจากการดูแลรักษาธรรมชาติที่นำโดยภาครัฐในการ จัดโซน พื้นที่ขนาดใหญ่ โดยจำกัดพื้นที่เกษตรและเพิ่มการบังคับเพื่อจัดโซนมากขึ้น¹

ความเปลี่ยนแปลงนี้บางส่วนมองได้ว่าเป็นการพัฒนาและความรุ่งเรือง แต่ด้านตรงกันข้าม เป็นการคุกคามชีวิตชาวนาและผืนนาของพวกเขา โดยนักลงทุนชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ฝรั่ง

แต่เป็นเพื่อนบ้านของเขาคือ นักลงทุนจีน ไทยและเวียดนามเอง

จากผืนนาสู่คอนโดฯ และเส้นทางรถไฟใน สปป.ลาว

ในแง่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียน เราต้องถือว่า สปป.ลาวเป็นประเทศที่เคยยากจน คนมีรายได้น้อย ไม่มีทางออกทะเล

แต่ในช่วงปี 2005 เป็นต้นมา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาวดีและต่อเนื่องหลายปี

GDP ของคนลาวต่อหัวปี 2010 ได้รายได้ 1,045 เหรียญสหรัฐ

แต่ในปี 2015 GDP คนลาวต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,657 เหรียญสหรัฐต่อคน² รวยมากขนาดนี้แล้วอะไรเกิดขึ้นกับชาวนาและชาวบ้านลาว

เดือนพฤศจิกายน 2015 คนเวียงจันทน์และนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมงานประจำปีธาตุหลวง (That Luang Festival) ซึ่งเป็นงานเทศกาลทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศใน สปป.ลาว

ในวันที่ 3 ของงาน มีการละเล่นตามประเพณีดั้งเดิมคือ tiklhi ซึ่งเป็นการเล่นฮ็อกกี้ชนิดหนึ่งระหว่างทีมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและประชาชนชาวลาว

ปรากฏว่า ชาวบ้านลาวชนะ ตามความเห็นของ Vientiane Times ผลชัยชนะในกีฬาได้ชี้ให้เห็นโชคชะตาของเมืองในปีที่กำลังจะมาถึง ชัยชนะของประชาชนจะนำมาซึ่งความผาสุก และความกินดีอยู่ดี ตามความเชื่อของเมือง จะได้รัฐบาลที่ปกครองดีในปีต่อไป³

 

แต่อะไรคือการปกครองที่ดีและ/หรือความรุ่งเรือง

ในปัจจุบันการพัฒนาเผยให้เห็นว่าภูมิทัศน์ของเมืองเวียงจันทน์และบริเวณชนบทรอบๆ เมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พื้นที่การก่อสร้างสำหรับถนนสายใหม่และการปลูกสร้างตึกจำนวนมากครอบครองพื้นที่ไปทั่วเขตเมือง

นักลงทุนจีน ไทยและเวียดนามจำนวนมากเข้าร่วมลงทุนในที่ดินในประเทศ สปป.ลาวในปัจจุบัน

และหนึ่งในตัวอย่างของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อครหามากคือ การใช้พื้นที่ดินของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเก่า ซึ่งต้องใช้สร้างศูนย์การค้าและโรงแรมของนักลงทุนจีน

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงหอสมุดแห่งชาติที่อยู่ตรงข้ามกับจัตุรัส Nam Phu Square ด้วย แรงงานย้ายถิ่นชาวเวียดนามจำนวนหลายหมื่นคนเข้ามาทำงานก่อสร้างในพื้นที่ก่อสร้างหลายโครงการ คนเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วยลักษณะสีเทา ด้วยการใช้วีซ่าปกติ 30 วัน และได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตำรวจด้วย

 

นักท่องเที่ยวที่มาเยือน สปป.ลาวเวลานี้ต่างตะลึงงันกับตึกรามที่สร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว อันตั้งอยู่ในพื้นนาที่เคยเป็นนาข้าวมาก่อน That Luang Marshes ได้ขายให้นักลงทุนจีนเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาซึ่งจะใช้เนื่องในโอกาสซีเกมส์ปี 2009 อันทำให้ผู้พบเห็นหลายคนทึ่งด้วยโครงการก่อสร้างตึกที่ใหญ่เกินขนาด

ท่ามกลางงานเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ ยังมีถ้อยแถลงของผู้นำระดับสูงของรัฐบาล สปป.ลาว ถึงอีกความสำเร็จพิเศษอันอื่นด้วยคือ สปป.ลาวจะก่อสร้างทางรถไฟข้ามประเทศใหม่จากเมืองเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความใฝ่ฝันของรัฐบาลจีน ตามโครงการ Kunming-Singapore railway project 4

ขนาดของโครงการก่อสร้างทางรถไฟจากเมืองเวียงจันทน์ไปชายแดนจีนอยู่ที่ความยาวทางรถไฟ 427 กิโลเมตร รวมทั้งอุโมงค์อีก 72 แห่ง ความยาวรวม 183 กิโลเมตร ประมาณว่าจะมีการใช้แรงงานราว 100,000 คน รวมทั้งใช้ที่ดินอีก 150 เฮกตาร์ในเมืองเวียงจันทน์สำรองไว้เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่5

โครงการก่อสร้างทั้งหมดนี้สร้างความกังวลใจในหมู่คนลาวจำนวนมาก อย่างน้อยๆ โครงการพัฒนาอื่นๆ ก่อนหน้านั้นที่รัฐบาล สปป.ลาวอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการ ต่างสร้างปัญหาเรื่องความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ดิน และการจ่ายค่าชดเชยล่าช้ามาก

อีกเหตุผลหนึ่งของข้อสงสัยคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาล (state debt) จากการประมาณการต้นทุนอย่างคร่าวๆ ของโครงการรถไฟจากเวียงจันทน์ข้ามไปยังชายแดนจีน มูลค่า US$ 6 billion รัฐบาล สปป.ลาวจะเข้าถือหุ้นในมูลค่า 480 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ สปป.ลาวมี Gross Domestic Income มากกว่า 20% ในปี 20136

รัฐบาลจีนจะเป็นผู้จัดหาเงินกู้ที่เหมาะสม? (จำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยร้อยละเท่าไรต่อปี และนานกี่ปี ยังไม่มีใครทราบ) โดยแลกเป็นสัมปทานเหมืองแร่โพแทสเซียม 5 แห่ง โพแทสเซียมเป็นแร่ที่มีความต้องการอย่างยิ่งในการผลิตปุ๋ยให้กับภาคเกษตรของจีน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาโพแทสเซียมในตลาดโลกตกต่ำลงเมื่อไม่นานนี้

ดังนั้น บริษัทจีนจะต้องทำเหมืองแร่โพแทสเซียมให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนการทำเหมืองแร่ของทางการจีน

ประเด็นเหมืองแร่โพแทสเซียมน่าสนต่อไปอีก กล่าวคือ แหล่งสำรองแร่โพแทสเซียมขนาดใหญ่อยู่บริเวณที่ตั้งของพื้นที่ราบเวียงจันทน์ ที่ซึ่งมีจำนวนประชากรหนาแน่นและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแง่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวชั้นดีอีกด้วย

เราจึงคาดการณ์ต่อไปได้ว่า จะเกิดปัญหาเปลี่ยนมือเจ้าของที่นาที่เป็นของชาวนาลาวเป็นนักลงทุนจีน และปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับน้ำเสียและสารละลายที่ประกอบด้วยน้ำเกลือ การทำลายล้างในไม่ช้าของดินที่เป็นปุ๋ยใน สปป.ลาวเพื่อการส่งออกปุ๋ยของพ่อค้าชาวจีนจะเป็นโศกนาฏกรรมที่ย้อนแย้งความเจริญทางเศรษฐกิจ พื้นที่นาและวิถีชีวิตชาวนาในชนบทอย่างน่าเศร้า

มากไปกว่านั้น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเหมืองแร่ต่างๆ ยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากต่อการทำลายป่า (deforestation) ใน สปป.ลาว มันไม่ใช่เรื่องโดยบังเอิญเลยที่การส่งออกไม้สักจำนวนมากโดยผิดกฎหมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของคนจีนและคนเวียดนามในเหมืองแร่ เกษตรกรรม ป่าไม้และเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว

ลักษณะเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเหมือนกัน เพราะการทำลายป่าและผลที่ตามมาดังกล่าวเกิดขึ้นในกัมพูชา7 เช่นกัน

กัมพูชาได้ชี้ให้เรารับรู้ถึงการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมิติความสัมพันธ์ต่างๆ เกี่ยวกับที่ดิน

ในปี 2005 เกษตรกรรมในกัมพูชาสร้างขึ้นจากภาคเกษตรกร ดังนั้น จึงมีเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากมาย

แต่ในช่วงทศวรรษ 1998-2008 แปลงเกษตรราว 100 แปลงซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 500 ถึง 330,000 เฮกตาร์ได้รับการอนุญาตให้ปลูกพืชไร่ เช่น เนื้อไม้เพื่อทำเยื่อกระดาษ ยางพารา และมันสำปะหลัง

เดี๋ยวนี้การใช้ที่ดินเพื่อไม่ใช่การเกษตรยังขยายตัว มีจำนวนการอนุญาต 23 โครงการเพื่อใช้ที่ดินทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการทำเหมือง 88 บริษัทซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา มีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลอีก 67 โครงการ และมีที่ดินแปลงใหญ่จำนวนราว 18% ถูกจัดโซนในลักษณะ “คุ้มครอง” และจำกัดการใช้เพื่อเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ8

ผืนนาแปลงเป็นคอนโดฯ ไม่ได้หมายความถึงความรุ่งเรืองเสมอไป

นี่คือ อีกด้านของเหรียญในอาเซียน

 


1Derek Hall, Philip Hirsch and Tania Murray Li, Power of Exclusion : Land Dilemmas in Southeast Asia (Singapore : National University of Singapore Press, 2011) introduction
2พิภพ อุดร และ อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร (บรรณาธิการ) ASEAN INFORGRAFHIC (กระทรวงการต่างประเทศและสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2555) : 50
3Vientiane Times November 2015.
4เพิ่งอ้าง
5Oliver Tappe, ” Forty years of Lao PDR : what”s next?” New Mandala 22 January 2016 : 2
6Ibid., 3
7Oliver Tappe, Opcit., : 3.
8Derek Hall, Opcit., : 37-50.