คนมองหนัง | วิกฤตโรงภาพยนตร์ ในสหราชอาณาจักร

คนมองหนัง

“ซีเนเวิลด์” ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เพิ่งออกมาประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่าบริษัทได้ตัดสินใจปิดกิจการโรงภาพยนตร์ในเครือซีเนเวิลด์และ “บูทีค พิคเจอร์เฮาส์” จำนวน 127 แห่งในสหราชอาณาจักร และโรงภาพยนตร์ในเครือ “รีกัล ซีเนมาส์” จำนวน 536 แห่งในสหรัฐอเมริกา ลงเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมเป็นต้นไป

ในการนี้ จะมีพนักงานที่ได้รับผลกระทบราว 45,000 ราย

“เมื่อตลาดใหญ่ในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิวยอร์ก ยังคงปิดตัว และยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งได้อีกเมื่อไหร่ บรรดาสตูดิโอภาพยนตร์จึงไม่เต็มใจที่จะปล่อยผลงานใหม่ๆ ออกมา

“ด้วยเหตุนี้ เมื่อไม่มีหนังใหม่ๆ เปิดตัว ซีเนเวิลด์จึงไม่สามารถให้บริการผู้บริโภคทั้งในสหรัฐและสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นสองตลาดหลักของบริษัทได้ เพราะภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ที่มีความแข็งแรงถือเป็นปัจจัยหลักซึ่งจะดึงดูดผู้บริโภคทั้งหลายกลับคืนสู่โรงภาพยนตร์ ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่” แถลงการณ์ของบริษัทระบุ

ผู้บริหารซีเนเวิลด์ชี้แจงว่าจะจับตาดูสถานการณ์ในอนาคตอย่างใกล้ชิด โดยมีสองปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาในทั้งสองตลาดใหญ่จะผ่อนคลายลงเมื่อใด และสตูดิโอทั้งหลายพร้อมจะเผยแพร่ผลงานออกสู่โรงหนังเมื่อไหร่

เพราะล่าสุด ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ชุด “James Bond” ภาคใหม่ คือ “No Time To Die” ก็เพิ่งประกาศเลื่อนการเปิดตัว จากกำหนดการเดิม เดือนพฤศจิกายนปีนี้ ไปเป็นเดือนเมษายนปีหน้า

สตรีคนหนึ่งซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการสาขาของโรงภาพยนตร์ซีเนเวิลด์ในทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ณ วันที่ 5 ตุลาคม เธอยังไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง และได้รับรู้ข่าวคราวทั้งหมดของบริษัทผ่านทางสื่อมวลชนเท่านั้น

ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ที่เปรียบเทียบว่าสถานที่ทำงานแห่งนี้เป็นเสมือนครอบครัว ยอมรับว่ารู้สึกตกใจนิดหน่อยกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เธอมิได้แปลกใจ เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ยากลำบากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

“เมื่อเรากลับมาเปิดโรงหนังกันอีกครั้ง (ในเดือนกรกฎาคม) จำนวนผู้ชมก็ไม่มากเท่ากับในช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาด”

“ส่วนหนึ่งของความตื่นเต้นที่จะได้กลับมายังโรงภาพยนตร์ก็คือการหวังจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ … แต่เรากลับพบว่าไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นเลย”

ความหวังสุดท้ายของบรรดาคนทำงานในโรงภาพยนตร์เครือซีเนเวิลด์ คือการเข้าฉายของหนังไซไฟฟอร์มยักษ์เรื่อง “Tenet” ซึ่งชักจูงผู้บริโภคให้กลับมาตีตั๋วชมมหรสพประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาภาพรวมทั่วโลก “Tenet” กลับประสบภาวะขาดทุน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา

คล้อยหลังการตัดสินใจของซีเนเวิลด์ไม่นาน “เอเอ็มซี เธียเตอร์ส” ที่บริหารกิจการของ “โอเดียน” อีกหนึ่งเครือโรงภาพยนตร์เจ้าสำคัญของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีพนักงานอยู่ประมาณ 5,500 คน ก็ประกาศนโยบายให้โรงหนังในสังกัดจำนวนราว 25 เปอร์เซ็นต์ หยุดให้บริการลูกค้าในช่วงวันธรรมดา

ปัจจุบัน โรงภาพยนตร์โอเดียนนั้นกระจายตัวอยู่ในทั้งสหราชอาณาจักร (122 สาขา) และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (11 สาขา)

จึงคาดการณ์ว่าจะมีโรงภาพยนตร์กว่า 30 สาขา ที่จะต้องปิดทำการในช่วงวันจันทร์-พุธหรือพฤหัสบดี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคมเป็นต้นไป

ขณะที่ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ออกมากระตุ้นให้ประชาชนหวนกลับไปใช้บริการโรงภาพยนตร์ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ตนเอง สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น พร้อมๆ ไปกับการมีพฤติกรรมเคร่งครัดในมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของจอห์นสันได้อัดฉีดงบประมาณจำนวน 30 ล้านปอนด์ (ราว 1.2 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์อิสระในประเทศ

ข้อมูลจาก

https://www.screendaily.com/news/cineworld-confirms-temporary-closure-of-all-uk-us-sites-from-thursday/5153740.article

https://www.bbc.com/news/newsbeat-54423908

https://www.screendaily.com/news/odeon-to-open-a-quarter-of-uk-cinemas-at-weekend-only/5153770.article

https://www.bbc.com/news/business-54387856