วิเคราะห์ : โควิด-19 ส่งผลต่อวงการปั่นจักรยานอย่างไร

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กับสตรีหมายเลข 1 ของทำเนียบขาวติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความสะใจให้กับผู้คนทั่วโลกไม่น้อยทีเดียว เพราะช่วงแรกที่เชื้อไวรัสตัวนี้แพร่ระบาด นายทรัมป์แสดงท่าทีไม่เชื่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

แถมใช้โวหารเพี้ยนๆ ไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เชื้อโควิด-19 จะหายไปเองเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน อากาศร้อนขึ้น หรือบอกว่า 99% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการรุนแรง

“ทรัมป์” ยังเอาโควิดไปเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจ เช่น ถ้าล็อกดาวน์ปิดเมือง จะเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจและคนอเมริกันฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19

พฤติกรรมและการพูดจาของ “ทรัมป์” ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากเอาอย่าง ไม่ใส่แมสก์ในที่สาธารณะ ไม่แยแสกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด จนในที่สุดสหรัฐกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ป่วยมากถึง 7.4 ล้านคน เสียชีวิต 2.09 แสนคน จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก 34.8 ล้านคน และเสียชีวิตราว 1 ล้านคน

นั่นเป็นข่าวคราวของนายทรัมป์ผู้นำโลกที่ทำให้โลกป่วนในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งตาแก่วัย 74 ปีคนนี้ไม่เชื่อและสั่งให้รัฐบาลสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส พร้อมกับตัดเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กลับมาว่ากันเรื่องของโควิด-19 ส่งผลดีให้กับวงการนักปั่นสองล้ออย่างไรบ้าง

 

คุณเคต แวนดี้ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม รายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดโครงการก่อสร้างเส้นทางจักรยานทั่วยุโรประยะทางทั้งสิ้น 2,300 กิโลเมตร ใช้งบฯ ลงทุนจำนวนกว่า 1,000 ล้านยูโร หรือราว 37,000 ล้านบาท

ทางจักรยานก่อสร้างใหม่ๆ ในกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย กรุงบรัสเซลส์ และกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

คุณจิลล์ วอร์เรน ตัวแทนสหพันธ์นักจักรยานแห่งยุโรปให้สัมภาษณ์ “แวนดี้” ว่า ปรากฏการณ์โควิด-19 ปลุกให้นักปั่นจักรยานกลายเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่

“ห้วงเวลานี้บอกให้เรารู้ว่าจักรยานนั้นเป็นพาหนะที่มีศักยภาพมากที่สุดและเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของเมืองและวิถีชีวิตของเราไปแล้ว” วอร์เรนให้สัมภาษณ์

แวนดี้ได้จำแนกแจกแจงเมืองใหญ่ๆ 4 แห่งในยุโรปใช้งบประมาณลงทุนเพื่อปรับโฉมภูมิทัศน์ของเมืองหลังวิกฤตโควิด

 

1.มิลาน ประเทศอิตาลี

มิลานเป็นเมืองใหญ่เมืองหลักสำคัญทางตอนเหนือของอิตาลีซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมทอผ้า โรงงานเคมี เครื่องจักรกล ฯลฯ มีประชากรราวๆ 3 ล้านคน

ก่อนโควิดระบาด นักท่องเที่ยวทั่วโลกแห่กันมาเยือนมิลานวันละหลายหมื่นคน เพื่อเยี่ยมชมโบสถ์ดูโอโมและแหล่งโบราณสถานอื่นๆ ที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงามโดดเด่น

กระทั่งเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มิลานเปลี่ยนจากศูนย์กลางท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อกว่า 1 แสนคน และเสียชีวิตราวๆ 1.6 หมื่นคน ส่วนนักท่องเที่ยวหายวับ

เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ ผู้บริหารเมืองมิลานวางแผนให้ชาวเมืองได้อยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโควิดเนื่องจากผลวิจัยชี้ว่ามิลานมีมลพิษทางอากาศมากสุดในอิตาลีและมีส่วนสำคัญทำให้คนติดเชื้อรุนแรง

ผู้บริหารเมืองมิลานคิดแผน “The Strade Aperte” มีความหมายว่า “ถนนเปิด” เป็นทางจักรยานเส้นใหม่สร้างในใจกลางเมืองมิลาน ระยะทาง 35 กิโลเมตร ออกแบบเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้งสำคัญๆ ของเมือง เป็นทางจักรยานที่กว้าง เป็นมิตรกับคนเดิน

หลังจากก่อสร้างเสร็จปรากฏว่าทางจักรยานใหม่ดึงชาวมิลานปั่นจักรยานเข้ามาในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด นักปั่นจักรยานปั่นเข้าไปในแหล่งช้อปปิ้งกลางเมืองมิลานประมาณ 1,000 คน แต่เดี๋ยวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 คน

นักปั่นเพิ่มขึ้นก็มีผลต่อร้านรวงตลอดเส้นทางจักรยาน การค้าขายดีขึ้นกว่าเดิม

ทางจักรยานใหม่ของมิลานได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับเมือง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวเมืองที่ใช้รถยนต์ รถเมล์เป็นพาหนะในการเดินทาง

ชาวมิลานจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรถเมล์ รถราง รถไฟใต้ดิน หันมาใช้จักรยานแทน เพราะไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คน หลีกเลี่ยงการสัมผัสและหายใจรดใส่กัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

ปัจจุบันรัฐบาลอิตาลีสนับสนุนแนวทางการสร้างทางจักรยานด้วยการจัดงบประมาณ 115 ล้านยูโรให้กับเมืองต่างๆ ทางตอนเหนือ รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้กับผู้ซื้อจักรยานหรือรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคันใหม่ คันละ 500 ยูโร

 

2.กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้บริหารกรุงปารีสปรับปรุงเมืองหลวงแห่งนี้ให้มีโฉมหน้าใหม่ด้วยการสร้างเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นระยะทางมากกว่า 800 กิโลเมตร เชื่อมจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงปารีส ผ่านเส้นทางสำคัญๆ เช่น ถนนสายริโวลี่ (Rue de Rivoli)

เส้นทางจักรยานใหม่ของปารีส ออกแบบให้กว้าง นักปั่นได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

“เดวิด เบียวยาร์ด” รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส บอกกับนักข่าวบีบีซีว่า หลังเกิดโควิด-19 เราปรับเปลี่ยนเมืองหลวงของฝรั่งเศสครั้งใหญ่ ลงทุน 20 ล้านยูโรเพื่อสร้างไบก์เลนให้ชาวเมืองปั่นอย่างมีความสุข

“นี่เป็นเหมือนการปฏิวัติเมืองเลยทีเดียว” เบียวยาร์ดบอก พร้อมกับยกเหตุผลว่า ไบก์เลนใหม่ปลุกชาวเมืองหันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้จักรยานเมื่อปีที่แล้ว เส้นทางที่มีการจราจรแออัดเดี๋ยวนี้โล่งลงมาก รถยนต์วิ่งน้อยกว่าเดิม

นอกจากสร้างทางจักรยานใหม่แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยังช่วยสนับสนุนการใช้จักรยานด้วยการให้เงินอุดหนุน 50 ยูโร เมื่อนำจักรยานไปซ่อมที่ร้าน

ช่วงมีการล็อกดาวน์ ร้านซ่อมจักรยานในกรุงปารีสกลับคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเปิดร้านซ่อมจักรยานให้ชาวเมืองตลอดทั้งวัน

 

3.กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดใหม่ๆ ผู้บริหารกรุงบรัสเซลส์ทำจดหมายเปิดผนึกไปยังชาวเมือง เรียกร้องผู้ใช้รถยนต์และผู้ที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหันมาใช้จักรยานเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาด ปรากฏว่าชาวบรัสเซลส์เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จำนวนคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

กรุงบรัสเซลส์สร้างทางจักรยานเส้นใหม่เพิ่มขึ้น 40 กิโลเมตรทางตอนเหนือของเมืองซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุด

ร้านซ่อมจักรยานในกรุงบรัสเซลส์เต็มไปด้วยจักรยานรอซ่อม ส่วนใครจะซื้อจักรยานคันใหม่ต้องเข้าคิวรออย่างน้อย 2 เดือน ช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจจักรยานโตขึ้น 60%

 

4.อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองจักรยานมานานแล้ว คนที่นั่นใช้จักรยานมากกว่ารถยนต์เพราะสะดวกมาก มีเส้นทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 767 กิโลเมตร

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด คนที่ใช้รถยนต์เปลี่ยนความคิด หันมาซื้อจักรยานเพิ่มขึ้นจนกระทั่งร้านขายจักรยานเป็นงง นึกไม่ถึงว่าโควิดจะทำให้ชาวอัมสเตอร์ดัมเปลี่ยนไป

 

คาร์โก ไบก์

ส่วนจักรยานบรรทุกสัมภาระไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า คาร์โก ไบก์ เป็นจักรยานยอดนิยมในอัมสเตอร์ดัมมียอดขายกระฉูดถึง 53% ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด

“จิลล์ วอร์เรน” ปิดท้ายการให้สัมภาษณ์กับ “แวนดี้” ว่า หลายๆ เมืองในยุโรปเตรียมแผนรองรับกับอนาคตอันไม่แน่นอน เพราะไม่มั่นใจว่าการใช้วิถีชีวิตเก่าๆ จะย้อนกลับมาอีกหรือไม่ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดครั้งนี้ทำให้แนวคิดของผู้คนเปลี่ยนไปมาก

“สำหรับดิฉันแล้ว จักรยานคือพาหนะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน ทุกวัย และจะเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนเมือง”