ต่างประเทศ : การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการปฏิวัติการใช้จักรยานในยุโรป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

การคมนาคมเป็นหนึ่งในหลากหลายวิถีการใช้ชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างมาก

และหนึ่งในการคมนาคมในยุโรปที่กำลังถูกจับตามองว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นการ “ปฏิวัติ” เลยก็ว่าได้ ก็คือการหันมาใช้ “จักรยาน” แทนการใช้การขนส่งสาธารณะ

หลักฐานของคำกล่าวอ้างที่ว่าอาจมองได้จาก งบประมาณที่หลายประเทศในยุโรปทุ่มลงไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้จักรยานรวมๆ แล้วมากกว่า 1,000 ล้านยูโร

เส้นทางจักรยานถูกสร้างขึ้นใหม่คิดเป็นระยะทางถึง 2,300 กิโลเมตร นับเฉพาะตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

บีบีซีเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ได้น่าสนใจ โดยตั้งคำถามว่าแล้วงบประมาณเหล่านี้ถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง และการลงทุนของหลายประเทศในยุโรปจะส่งผลระยะยาวอย่างไร โดยใช้สิ่งที่เกิดขึ้นใน 4 เมืองใหญ่ในยุโรป เป็นแนวทางของคำตอบที่อาจเป็นไปได้

เมืองมิลาน ที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของอิตาลี ถูกมองว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีทิศทางของการใช้จักรยานที่เปลี่ยนแปลงไป

ปิแอร์ฟรานเชสโก มาราน รองนายกเทศมนตรีด้านการวางแผนเมือง พื้นที่สีเขียวและการเกษตร ระบุว่า มิลานพยายามสร้างเส้นทางจักรยานมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องถูกคนขับรถยนต์ออกมาประท้วงจนข้อเสนอดังกล่าวต้องตกไป

แต่ช่วงที่ผ่านมามิลานได้เริ่มต้นสร้างเส้นทางจักรยานขึ้นใหม่แล้วความยาว 35 กิโลเมตร แม้ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางชั่วคราว แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

มารานระบุว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาด มีจักรยานขับบนถนนช้อปปิ้งหลักของเมืองราว 1,000 คัน แต่เวลานี้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นมากกว่า 7,000 คันแล้ว

ด้านอเลซานโดร ลูกจ้างบริษัทเปปิโน่ ดราลี ผู้ผลิตจักรยานที่มีความเป็นมายาวนาน 92 ปี ระบุว่า เวลานี้ทุกคนต้องมีจักรยาน แต่บริษัทไม่สามารถผลิตจักรยานรองรับความต้องการได้ทันเพราะชิ้นส่วนจักรยานหาได้ยาก เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน

ด้านนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในอิตาลี มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเพียงน้ำหยดเดียวในมหาสมุทรเท่านั้น และหวังว่านักการเมืองกล้าหาญพอที่จะใช้โอกาส “ครั้งเดียวในชั่วอายุคน” ครั้งนี้ในการเปลี่ยนแปลงเมืองแห่งนี้ให้เหมาะกับการขี่จักรยานมากขึ้น

สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นของอิตาลีเองก็ทุ่มงบประมาณถึง 115 ล้านยูโรในการอัดฉีดการคมนาคมด้วยจักรยาน ในจำนวนนี้รวมไปถึงโครงการสนับสนุนเงินทุนมูลค่าสูงถึง 500 ยูโร สำหรับผู้ที่จะซื้อจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาใช้แทนที่การคมนาคมด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

 

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นอีกเมืองที่มีการลงทุนสำหรับการคมนาคมด้วยจักรยานมากขึ้นในช่วงเวลานี้ ล่าสุดทุ่มงบประมาณไปแล้ว 20 ล้านปอนด์นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดขึ้น

การใช้จักรยานคมนาคมในตัวเมืองกรุงปารีสเพิ่มขึ้นถึง 27 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลสนับสนุนเงิน 50 ยูโร หรือราว 1,800 บาทเป็นค่าซ่อมจักรยาน

นโยบายดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจรับซ่อมจักรยานที่คิวเข้าซ่อมยาวเหยียด จนถึงขั้นต้องรับพนักงานเพิ่ม

รัฐบาลท้องถิ่นกรุงปารีสต้องการสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานอย่างจริงจัง จึงมีนโยบายในการสอนขี่จักรยานให้คนที่ขี่จักรยานไม่เป็นด้วย และมีผู้เข้าเรียนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

 

ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ล่าสุดมีการก่อสร้างเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้นอีก 40 กิโลเมตร ตลอดแนวถนนที่พลุกพล่านที่สุดของเมือง

การเพิ่มเส้นทางจักรยานนั้นเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหลายๆ พื้นที่คนเดินถนนและจักรยานถูกให้ความสำคัญมากกว่ารถยนต์ไปแล้ว และล่าสุดการใช้จักรยานบนท้องถนนเพิ่มขึ้นถึง 44 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ไดอาน่า ชาวกรุงบรัสเซลส์ ที่เข้าคิวที่หน้าร้านซ่อมจักรยาน ระบุว่า เวลานี้เธอต้องใช้จักรยานทุกๆ วัน และเล่าว่า เวลานี้หากเธอจะหาซื้อจักรยานสวยๆ มาขี่ให้เข้ากับหมวกที่เธอมีนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“ฉันต้องการสั่งจักรยานสักคัน แต่ทางร้านบอกว่าฉันต้องรอไปอีกอย่างน้อยๆ 2 เดือน” ไดอาน่าระบุ

ผู้ที่ต้องการใช้จักรยานแต่หาซื้อไม่ได้หลายคนก็เลือกที่จะหันไปใช้บริการจักรยานเช่าอย่าง Swapfiets ที่ริชาร์ด เบอร์เกอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทระบุว่า ธุรกิจในกรุงบรัสเซลส์เวลานี้เติบโตขึ้นมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และเตรียมขยายธุรกิจต่อไปยังมิลาน และปารีส ตามลำดับ

หันไปที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เดิมเป็นเมืองแห่งจักรยาน และโด่งดังในฐานะเมืองที่มีจักรยานมากกว่าจำนวนประชากร และมีเลนจักรยานความยาวถึง 767 กิโลเมตร

ทาโก คาลิเอร์ เจ้าของบริษัทผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้า VanMoof ระบุว่า “มันบ้ามากๆ ที่สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เวลานี้ได้เกิดขึ้นแล้วในเวลาเพียง 3 ถึง 6 เดือนเท่านั้น” พร้อมกับเปิดเผยด้วยว่า บริษัทสามารถขายจักรยานในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้มากกว่ายอดขายในช่วง 2 ปีล่าสุดรวมกัน

นอกจากจักรยานไฟฟ้าแล้ว จักรยานขนของก็เป็นจักรยานอีกประเภทในเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่มยอดขายได้มากถึง 53 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเป็นต้นมา

 

แน่นอนว่าเวลานี้คงยังไม่มีใครตอบได้ว่าปรากฏการณ์การคมนาคมแบบไร้มลพิษด้วยสองขานั้นจะยาวนานและยั่งยืนมากแค่ไหน

การใช้จักรยานนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังดีต่อสุขภาพ และช่วยลดความแออัด ป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดของโรคร้ายในอนาคต

นอกจากแรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวจากประชาชนผู้ใช้จักรยานแล้ว

นักการเมืองก็ต้องกล้าพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน

สิ่งที่หวังเล็กๆ ว่าจะเกิดขึ้นบ้างในประเทศบ้านเกิดของพวกเราเอง