E-DUANG : ความน่ากลัว จาก “ข่าวลือ” เรื่องปรับครม.  

ไม่ว่าข่าวการปรับครม.จะมาจาก “ภายใน” หรือจาก “ภายนอก” ล้วนเป็นเรื่องไม่ดี

เพราะเท่ากับ “สะท้อน” ถึง “อาการ”

ยิ่งข่าวปรากฏออกมาในวาระใกล้จะถึงกำหนด 3 ปีของรัฐประหาร ยิ่งน่าหวั่นไหว

หากติดตามการปรับครม.ในห้วง 2 ปีเศษ

ที่ถือว่าเป็นการปรับขนาดใหญ่ก็เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 โดยการเอาทีมของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกไป

แล้วเอาทีมของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาแทน

น่าสนใจก็ตรงที่แนวโน้มการปรับครม.ครั้งใหม่จะโฟกัสไปยังรัฐมนตรี “เศรษฐกิจ” อย่างเป็นด้านหลัก

สปอตไลต์จึงฉายจับไปยัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

ต้องยอมรับว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็คล้ายๆกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นั่นเอง

คือ มิได้เป็นคนแปลกหน้า

ไม่ว่าจะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะรัฐประ หารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

2 คนนี้ล้วนมี “เอี่ยว”

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น “ที่ปรึกษา”

มาคราวนี้ ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทั้ง นายสมคิด จาตุศรี พิทักษ์ ก็นั่งอยู่ในคสช.ตั้งแต่ต้น

เมื่อ “ปรีดิยาธร” ไป “สมคิด” จึงมา

 

ไม่ว่ากรณีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่ากรณี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สะท้อนปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือ “เศรษฐกิจ”

การเอา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เท่ากับยืนยันความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาในทางเศรษฐกิจของประเทศ

เป็นเหมือนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์

หากมีการเอา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกก็เท่ากับยืนยันว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ล้มเหลวเหมือนกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ล้มเหลวมาแล้ว

ถามว่าความล้มเหลวนี้จะกระทบถึง “คสช.” หรือไม่