ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (75) เปิดรายงาน “สวนอังกฤษ”

Blossoms are seen in the White Garden, created to celebrate the life of Diana, Princess of Wales, at Kensington Palace in north London on April 13, 2017. Formerly known as the Sunken Garden, the White Garden was created with thousands of white flowers and foliage to mark the 20th anniversary of the death of Diana, Princess of Wales in August 1997. / AFP PHOTO / Daniel LEAL-OLIVAS

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน [email protected]

 

คราวที่แล้วกล่าวถึงภาพรวมในรายงานของราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษ ประจำปี 2560 เห็นว่าในขณะนี้สวนอังกฤษได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว และผลกระทบดังกล่าวนี้ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกนับสิบปีแม้ชาวโลกร่วมมือร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ตาม

ผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างแปรปรวน ทำให้สวนอังกฤษต้องปรับตัวรับมืออย่างจริงจัง

คราวนี้ขอนำรายงานของราชสมาคมพืชสวนฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 บทด้วยกันมาเปิดเผยในรายละเอียดโดยสรุป

ในบทแรกเป็นบทเกริ่นนำ ลำดับความให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อสวนอังกฤษอย่างไร

“สวนอังกฤษ” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศย่อมมีผลกับสวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชาวสวนและนักพืชสวนต่างเข้าใจถึงผลกระทบดังกล่าวและกำลังให้ความสนใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น ศัตรูพืชใหม่ๆ และโรคระบาดกำลังคืบคลานเข้าสู่สวนอังกฤษและสร้างผลกระทบอันเลวร้าย

“ศัตรูพืชบางชนิด เราพบว่า ในอดีตไม่เคยเห็นในสวนอังกฤษมาก่อนเลย แต่เดี๋ยวนี้ได้รุกเข้ามาและแพร่ระบาดไปทั่ว นี่เป็นประเด็นที่ต้องถกกับหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งในแง่การบังคับใช้กฎหมายด้วย”

กฎหมายใหม่ๆ ต้องนำออกมาใช้เพื่อบริหารจัดการกับศัตรูพืชที่มากับสินค้านำเข้า และการจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องหารือในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสวนกับสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ

ประเด็นที่เราหารือกันบ่อยครั้งขึ้น เป็นเรื่องที่ชาวสวนประสบปัญหาช่วงเวลาการเพาะปลูกที่เปลี่ยนไป

อุตสาหกรรมพืชสวนอังกฤษทำรายได้มหาศาล เฉลี่ยปีละ 13,000 ล้านปอนด์

ชาวอังกฤษเกือบครึ่งค่อนประเทศทำกิจกรรมในสวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ หรือวิ่งออกกำลังกาย

สวนไม้ดอกไม้ประดับ หรือสวนสาธารณะครอบคลุมเนื้อที่เกาะอังกฤษ 4,500 ตารางกิโลเมตร

กล่าวได้ว่า สวนอังกฤษมีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ในบทที่สองว่าด้วยแนวโน้มโลกที่เป็นผลจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เน้นให้เห็นถึงหลักฐานที่ยืนยันว่าชาวโลกเป็นต้นเหตุทำให้เกิดสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษชนิดต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างต่อเนื่องนับแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในบทนี้ได้นำข้อมูล หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี แห่งสหประชาชาติ สถิติขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และยูเนป (สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ) มาสรุปให้เห็นทิศทางอนาคต

“การวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ ได้ชี้ว่า โลกเราร้อนขึ้นมานานกว่า 150 ปีแล้ว และสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงด้วย”

ระหว่างปี พ.ศ.2423-2555 อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกือบทั้งโลก ทั้งยังมีหลักฐานอีกว่าในบางจุดนั้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บางจุดเพิ่มอย่างช้าๆ

ปี 2558 เห็นได้ว่า อุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลางศตวรรษที่ 19 และปลายศตวรรษที่ 19

อุณหภูมิกลางและปลายศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบมากที่สุด

สถิติอุณหภูมิที่เก็บได้นั้น สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลปรากฏในวงรอบของต้นไม้

อุณหภูมิโลกยังมีความสัมพันธ์กับมหาสมุทร

อุณหภูมิมหาสมุทรระดับเหนือกว่า 700 เมตร เพิ่มสูงขึ้นมานานกว่า 100 ปี

ส่วนค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 0.19 เมตร ตลอดช่วงปี พ.ศ.2444-2553

ผลจากอุณหภูมิมหาสมุทรเพิ่มขึ้นยังส่งผลทำให้น้ำทะเลมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้นด้วย แนวโน้มจะทำลายชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเล เช่น พวกหอย ปู รวมทั้งปะการัง

ผลจากโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายและหดตัวอย่างน่าใจหาย

ตั้งแต่ปี 2512 แผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกหดตัวลงรวดเร็วโดยเฉพาะในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง

ระหว่างปี 2542-2544 แผ่นน้ำแข็งบริเวณเกาะกรีนแลนด์ หายไปเฉลี่ยปีละ 34 กิ๊กกะตันน้ำแข็ง

มาในปี 2546-2555 อัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 215 กิ๊กกะตันต่อปี

ศตวรรษที่ 20 สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน เกิดขึ้นถี่บ่อยจนเห็นได้ชัดเจน

เหตุการณ์คลื่นความร้อนแผ่ทั้งในยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย เพิ่มความถี่มากขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20

จำนวนวันที่มีอากาศเย็นในตอนกลางวันและกลางคืนลดลง ขณะนี้วันที่มีอากาศร้อน มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน

ปริมาณฝนที่ตกหนักทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ มีเพิ่มขึ้นและถี่บ่อยตั้งแต่ปี 2493

ความจริงแล้ว ธรรมชาติสร้างความสมดุลให้กับโลกอย่างมหัศจรรย์

กล่าวคือ แสงแดดที่ส่องลงมาถึงผิวโลกและพลังงานที่ปล่อยจากผิวโลกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นไปอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน

แต่เมื่อชาวโลกร่วมกันปล่อยก๊าซพิษออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ความสมดุลเปลี่ยนไป

ก๊าซพิษดักสกัดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปล่อยสู่ผิวโลก ขณะที่พลังงานจากผิวโลกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมีปริมาณมากกว่า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก ภูมิอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ลมพายุรุนแรงถี่บ่อยครั้งตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 มาจากการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ในบทที่สองของรายงานชิ้นนี้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในอนาคตไว้ว่า การเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คาดกันว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวโลก ตั้งแต่ปี 2560-2578 จะอยู่ที่ 0.3-0.7 องศาเซลเซียส สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2529-2543

ในปี 2559 นั้น เป็นปีที่มีการบันทึกไว้ว่าอุณหภูมิ 6 เดือนแรก ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน ร้อนที่สุดทำลายสถิติเดิม

มองอนาคตในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า กลางวันที่มีอากาศร้อนมากและกลางคืนร้อนมากๆ เช่นกันนั้น จะเกิดบนเกาะอังกฤษถี่บ่อยครั้งขึ้น

ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเช่นนี้ ราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษจึงต้องนำมาถกเถียงในบทที่สามเพื่อป้องกันและหาทางแก้ปัญหาที่จะเกิดกับสวนอังกฤษ