ตำนาน-ความเชื่อ ของ “เจ้าหลวงคำแดง”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เจ้าหลวงคำแดง
ประมุขผีอารักษ์ของล้านนา?

ทุกครั้งที่มีการไหว้ผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ ในช่วง “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” หรือสงกรานต์ล้านนา ต้องมีการกล่าวถึงชื่อของ “เจ้าหลวงคำแดง” ก่อนเป็นชื่อแรกเสมอ

ในบรรดาผีบรรพบุรุษของชาวล้านนาจำนวน 56 ตน (โดยประมาณ อ้างจากตำนานเชียงใหม่ปางเดิม) ประหนึ่งว่าเจ้าหลวงคำแดงผู้สิงสถิต ณ บริเวณอ่างสรง (สลุง) ดอยหลวงเชียงดาว ตนนี้เป็นประธานใหญ่สุดเก่าสุดหรือสำคัญที่สุด ในหมู่ผีอารักษ์ทั้งมวล

นำไปสู่การยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองเรื่องใหญ่ๆ สองกรณี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เรื่องแรก ราวปี 2555 ในช่วงที่อำเภอฝางต้องการแบ่งแยกเขตพื้นที่การปกครอง โดยขอยกอำเภอฝาง ไชยปราการ แม่อาย เชียงดาว และเวียงแหง ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่อีกหนึ่งจังหวัด (จะใช้ชื่อจังหวัดฝางหรือเชียงดาวก็แล้วแต่) ได้มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักวิชาการล้านนาหลายท่าน ว่าสมควรแล้วล่ะหรือ ที่คิดจะ “แยก” พื้นที่สิงสถิตของอารักษ์เมืองเชียงใหม่ (หมายถึงดอยหลวงเชียงดาว) ออกจากเมืองเชียงใหม่?

ทำให้ประเด็นการแยกเขตปกครองยกระดับอำเภอสู่จังหวัดฝาง-เชียงดาวต้องตกไป

เรื่องที่สอง เคยมีองค์กรมหาชนเกิดแนวคิดที่จะสร้างกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวเพื่อการท่องเที่ยว (หลังจากที่ล้มเหลวจากความพยายามที่จะสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ และภูกระดึง) ก็มีการคัดค้านว่าไม่สมควรทำ เพราะพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ดอยสุเทพ เป็นถึงที่สถิตพำนักของเจ้าหลวงคำแดง อารักษ์เมืองเชียงใหม่

การยกเรื่องเจ้าหลวงคำแดงมาอ้าง เป็นเหตุให้โครงการกระเช้านั้นต้องตกไปอีก

ความเป็นมาของอารักษ์เมืองเชียงใหม่ตนนี้ หากไม่มีการศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกถึงที่มาที่ไปให้ถึงรากที่แท้จริง ก็อาจชวนให้คนทั่วไปไขว้เขว คิดกันเอาเองว่า

“เจ้าหลวงคำแดง น่าจะเป็นบุคคลที่มีตัวจริง เสียงจริง เพียงแต่อาจร่วมสมัยกับยุคก่อนประวัติศาสตร์” ก่อนที่จะมีการบันทึกเรื่องราวของท่านเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนที่จะมีการก่อเกิดอาณาจักรหริภุญไชย และจากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนามากลายมาเป็นปรัมปราคติกึ่งเรื่องจริง กึ่งมุขปาฐะไปในที่สุดกระมัง

แต่ความที่ท่านมีตัวตนอยู่จริง ทำให้ชื่อของท่านไม่อาจลบเลือนหายไปจากตำนานและความทรงจำของผู้คน

นักวิชาการหลายคนเชื่อเช่นนั้น รวมทั้งตัวดิฉันด้วย จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 งานเสวนา “โบราณคดีเชียงใหม่เหนือ” จัดโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเครือข่ายหลายองค์กร ได้กำหนดให้มีหัวข้อเสวนาเรื่อง “เจ้าหลวงคำแดง อารักษ์เมืองเชียงใหม่ และอ่างสลุงเชียงดาว” ณ อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บ้านแม่ข้อน ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีวิทยากรร่วมเสวนาสองคนคือ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และเกริก อัครชิโนเรศ

ผลจากการเสวนาครั้งนั้น โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านของอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษาคนสำคัญของยุคสมัย ทำให้เราต้องหวนกลับมาทบทวนองค์ความรู้เรื่องนี้กันใหม่แบบขนานใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า “แบบพลิกฝ่ามือ” กันเลยทีเดียว

 

ตำนานเจ้าหลวงคำแดง
ปรากฏหลายเวอร์ชั่น

ขอเริ่มตั้งแต่ชื่อเรียกของคำว่า “อ่างสลุง” และ “ดอยเชียงดาว” ตำนานพระเจ้าเลียบโลกซึ่งเขียนราว 500-600 ปีก่อน กล่าวถึงการเสด็จมาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ดอยลูกนี้

ทรงทำนายไว้ว่า “ดอยแห่งนี้สูงนัก สูงเพียงเดือนเพียงดาว ภายหน้าจักเกิดเมืองชื่อเพียงดาว” อันเป็นที่มาของชื่อ “ดอยเพียงดาว” ต่อมาภายหลังเพี้ยนเป็น “เชียงดาว”

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ทรงสรงน้ำบนดอยแห่งนี้ โบราณจึงเรียกว่า “อ่างสรง” ออกเสียงภาษาล้านนาว่า “สะหลง” หมายถึงอ่างหรือแอ่งน้ำที่พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำ

ต่อมาคำนี้ถูกเรียก “อ่างสลุง” ด้วยอีกชื่อหนึ่ง เหตุที่อ่างดังกล่าวมีลักษณะคล้ายขันใบใหญ่ที่ชาวล้านนาเรียก “สลุง”

เห็นได้ว่า ข้อความในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหลวงคำแดงแต่อย่างใด มีแต่คำอธิบายชื่อของ “เพียงดาว สู่เชียงดาว” “อ่างสรง-สะหลง สู่อ่างสลุง” เท่านั้น

ส่วนข้อความในป้ายที่หน้ารูปปั้นเจ้าหลวงคำแดง หน้าวัดถ้ำเชียงดาว เชิงดอยหลวงเชียงดาว บันทึกไว้ว่า

“เจ้าพ่อหลวงคำแดง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีคู่กับถ้ำเชียงดาวมาช้านาน ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าหลวงคำแดงเป็นราชโอรสของกษัตริย์ปกครองเมืองพะเยาชื่อ “สุวรรณคำแดง” พระองค์เป็นนักรบที่เก่งกล้า ครั้งหนึ่งมีกองทัพฮ่อยกมารุกรานเมืองพะเยา เจ้าหลวงคำแดงได้ยกไพร่พลมารักษาด่านชายแดนไว้ ในขณะที่เดินทัพพบกวางทองตัวหนึ่ง พระองค์เกิดความประทับใจ จึงได้ไล่ติดตามกวางทองตัวนั้น ส่วนกวางทองได้หลอกล่อพระองค์ให้ติดตามหายเข้าไปในถ้ำ

และกวางทองตัวนั้นตามตำนานกล่าวว่า คือนางอินทร์เหลา เป็นยักษ์ผีเสื้อถ้ำ จำแลงร่างเป็นกวางทอง ต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลไว้เพื่อเป็นที่พักสักการะและสิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง”

พบว่าตำนานที่เขียนบนแผ่นป้าย มีเนื้อความบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตามกวาง และการเสพสังวาสกับนางอินเหลาที่คล้ายคลึงกันกับตำนานฉบับอื่น แต่กลับไม่มีการที่เจ้าหลวงคำแดงเดินทางต่อไปจนถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่

ผิดกับเอกสารใบลานที่นักวิชาการด้านภาษาโบราณช่วยกันปริวรรต ซึ่งเอกสารเหล่านี้ก็ไม่มีชื่อเมืองพะเยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

ปี 2550 ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร (ดอกบัวแก้ว) และคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการปริวรรตตำนานพื้นเมืองฉบับต่างๆ ที่มีการกล่าวถึงเจ้าหลวงคำแดงก็ดี อ่างสลุงเชียงดาวก็ดี หรือดอยหลวงเพียงดาวก็ดี พบว่าเรื่องราวทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันกับตำนานหน้าแรกของการสร้างเมืองเชียงใหม่

อนึ่ง เนื้อหาเรื่องเจ้าหลวงคำแดงนั้น มีการพรรณนาค่อนข้างยาวหลายหน้ากระดาษ

ดิฉันขอสรุปความมาให้อ่านพอเป็นสังเขป ดังนี้

เจ้าหลวงคำแดง หรือเจ้าชายสุวัณณะคำแดง เป็นพระโอรสของพระญาโจรณี วันหนึ่งมีเทวบุตรชื่อโวหารได้จำแลงกายมาเป็นเนื้อทรายทอง (กวางทอง ภาษาล้านนา บางเล่มเขียนตัว ร เป็น ล จึงมักอ่านออกเสียงแยกพยางค์เป็น “ทะลายคำ” คำ หมายถึง ทอง) ปรากฏตัว ณ สวนอุทยานของพระญาโจรณี กษัตริย์พร้อมทั้งโอรสและบริวารจึงพากันออกมาล้อมจับ แต่เนื้อทรายทองได้วิ่งฝ่าวงล้อมออกไปได้ เจ้าชายสุวัณณะคำแดงจึงนำทหารนับพันออกติดตามเป็นเวลานาน 2-3 เดือน กระทั่งไล่ตามไปถึงเชิงเขาดอยอ่างสรง หรือสลุง (หมายถึงดอยหลวงเชียงดาว)

เมื่อนางอินเหลา (บางเล่มใช้อินทร์เหลา) ทราบข่าวก็ออกมาดู นางเกิดความพึงพอใจในรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาของเจ้าชายสุวัณณะคำแดง นางอินเหลาจึงชวนเจ้าชายและบริวารเข้าไปพำนักและร่วมสมสู่ในถ้ำเชียงดาว

ต่อมาเจ้าชายสุวัณณะคำแดงกับบริวารได้อำลานางอินเหลา แล้วตามรอยเท้าเนื้อทรายทองต่อมาถึงเชิงเขาอุจฉุบรรพต คือบริเวณดอยสุเทพในปัจจุบัน พบฤๅษีตนหนึ่งที่บริเวณผาลาด เจ้าชายยังมีความพยายามที่จะติดตามกวางนั้นอยู่ แต่ตามหาทั่วป่าเขาก็ไม่พบ

กระทั่งมาถึงฝั่งน้ำแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) พบผู้คนที่เกิดในรอยเท้าเนื้อทราย แรด และช้าง พบหนองน้ำ 4 สระ มีต้นทองกวาวอยู่ตรงกลาง และมีบัวขึ้น 7 กอ แต่ละกอมีดอกบัวบานอยู่เป็นลำดับไล่เรียงกันไป

พระฤๅษีบอกให้เจ้าชายสุวัณณะคำแดงพักเรื่องตามกวางนั้นก่อน แต่ควรหันมาสร้างเมืองแทน

เนื่องจากดอกบัว 7 กอนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าแผ่นดินนี้เมื่อทำนาแค่ 1 ปีจักสามารถเก็บเกี่ยวข้าวไว้ได้นานถึง 7 ปี ภายหน้าจะเป็นเมืองใหญ่โตที่เจริญรุ่งเรือง

เมืองดังกล่าวต่อมาได้พัฒนาเป็นเวียงเชษฐบุรี (เวียงเจ็ดลิน) และเวียงนพบุรี คือเชียงใหม่ ตามลำดับ เมื่อเจ้าหลวงคำแดงเสียชีวิต นางอินเหลาได้อัญเชิญดวงวิญญาณไปสิงสถิต ณ ดอยอ่างสรง ถ้ำที่นางเคยอาศัย จนกลายเป็นเทพารักษ์ในฐานะประมุขผีอารักษ์ทั้งมวลของเมืองเชียงใหม่

ถอดรหัสเรื่องนางอินเหลา
รอยเท้าสัตว์ และกวางทอง

นอกจากจะพบความทับซ้อนเรื่อง “ฤๅษีที่ดอยสุเทพเป็นผู้ริเริ่มสร้างเมือง” และ “มนุษย์ผู้เกิดจากรอยเท้าสัตว์ในตระกูลต่างๆ” ในตำนานฉบับที่เขียนให้เจ้าสุวัณณะคำแดงกลายเป็นปฐมวงศ์เชียงใหม่ ไปทับซ้อนกับจุดกำเนิดการสร้างเมืองหริภุญไชยของฤๅษีวาสุเทพแล้ว

ยังพบสัญลักษณ์ที่ปรากฏในตำนานเรื่องเจ้าหลวงคำแดงที่น่าสนใจยิ่งอีกหลายประการ

สัญลักษณ์แรก นางอินเหลาและรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ การกำหนดให้ฝ่ายหญิงเป็นผีเสื้อยักษ์ประจำถ้ำ หรือเป็นฝ่ายรุกในเชิงกามรสต่อเพศชายก่อนนั้น เป็นเรื่องราวที่พบมากในสังคมอุษาคเนย์ช่วงก่อนจะมีรัฐจารีต ไม่ต่างไปจากตำนานของนางนาคโสมาวดี ที่สมสู่กับเจ้าชายโกณฑิญญะที่เดินทางมาจากอินเดีย จนกลายเป็นบรรพชนต้นวงศ์ของกัมพูชา

รวมทั้งสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในรอยเท้าต่างๆ อาทิ เนื้อทรายก็ดี แรดก็ดี ช้างก็ดี สะท้อนถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมที่บูชาผู้หญิงเป็นใหญ่ในฐานะคนพื้นเมือง เจ้าของพื้นที่ ส่วนเพศชายที่นำเสนอด้วยเจ้าชายต่างถิ่นนั้น เป็นการที่สังคมค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนจากการที่เคยนับถือเพศแม่จาก “มาตาธิปไตย” ไปสู่ “ปิตาธิปไตย” ในยุคต่อมา

สัญลักษณ์เรื่องการตามกวางทองควรวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง พบนิทานในทำนองนี้ค่อนข้างบ่อยเมื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนต่างๆ อาทิ ที่วัดยั้งเมิน มีเรื่อง “กว๋างคำ” เป็นตำนานที่มีความเกี่ยวพันกับ “ชื่อบ้านนามเมือง” ต่างๆ ในอำเภอสะเมิง ไล่มาตั้งแต่โป่งแยง ผาส้มป่อย อมลอง อังคาย ห้วยย่าง แม่สาบ ฯลฯ ตำนานฉบับนี้อยู่ที่วัดแสนทอง ตำบลสะเมิงใต้

กล่าวถึงนายพรานซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ออกไปล่าสัตว์ที่ดอยคำ (ภูเขาลูกหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของดอยสุเทพ) พบกวางมีขนสีเหมือนทองคำอร่ามไปทั่วร่าง จึงออกล่ากวางคำ ซึ่งหนีขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหายลับไป

จนกระทั่งสุนัขของนายพรานได้กลิ่นกวางคำ (คำว่าได้กลิ่น ภาษาท้องถิ่นใช้ว่า สาบกลิ่น) เป็นเหตุให้บริเวณนั้นได้ชื่อว่า บ้านแม่สาบ

เมื่อนายพรานสามารถจับกวางคำได้แล้วก็นำเนื้อกวางคำมาชำแหละย่างที่บริเวณลำห้วยแห่งหนึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ห้วยย่าง (อยู่ในเขตพื้นที่บ้านยั้งเมิน) นายพรานพักที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นเวลานาน ต่อมาเรียกว่า บ้านยั้งเมิน เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ การติดตามกวางทองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเพศชายที่เป็นกษัตริย์เท่านั้น แต่เพศหญิงอย่างพระนางจามเทวี ก็ยังมีการติดตามกวางทองอีกด้วย ดังเช่นตำนานวัดทาดอยครั่ง และวัดทาดอยคำ ที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีการเล่าว่า

พระนางจามเทวีเสด็จไปพบกวางคํา หมู่ทหารไล่ตามไปยิงกวางที่ยอดเขาดอยแต แต่ธนูมาปักตัวกวางให้ค้างหยุดที่นี่ จึงเรียก “ดอยค้าง” ต่อมาเพี้ยนไปกลายเป็นดอยครั่ง

จากนั้นทหารไล่ตามกวาง กวางหนีไปสิ้นใจที่บ้านดอยกวางคํา พระนางจามเทวีจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เป็นสัญลักษณ์

อนึ่ง การผูกตํานานให้ตัวเอกของเรื่องติดตามกวางนั้น สันนิษฐานได้สองนัย

นัยแรกอาจรับคติมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดา โดยทศกัณฐ์สั่งให้ม้ารีศแปลงตัวเป็นกวางทองไปหลอกล่อนางสีดาและพระรามให้หลงติดตาม

หรืออีกนัยหนึ่ง อาจหมายถึง สัญลักษณ์แห่งการตามหาพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่

เนื่องจาก “กวาง” ในพระพุทธศาสนา หมายถึงตัวแทนของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมแล้ว และได้ประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เหตุเกิดขึ้น ณ ป่าที่มีกวางจํานวนมากแห่งนั้น

ดังนั้น การผูกเรื่องให้เจ้าสุวัณณะคำแดง หรือเจ้าหลวงคำแดง ประมุขแห่งอารักษ์ล้านนาติดตามกวางทองนี้ มีนัยยะอะไรซ่อนไว้หรือไม่อย่างไร ยังเป็นประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ ต้องช่วยกันถอดรหัสต่อไป