บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /เป็นปัญญาชน หรือแค่คน ‘อีคิว’ บกพร่อง

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เป็นปัญญาชน

หรือแค่คน ‘อีคิว’ บกพร่อง

 

คนอายุ 17-18 หรือประมาณ 20 ปี บวกลบ อยู่ในวัยห้าวคึกคะนอง ใครเตือนอะไรมักไม่เชื่อ วัยนี้ถือเป็นจุดหักเหของชีวิตได้ทีเดียว

ถ้าลูกบ้านไหนสามารถผ่านวัยนี้ไปได้โดยไม่ทำผิดใหญ่หลวงเสียอนาคต หรือประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเสียก่อน ก็นับว่าโชคดีไป

เด็กวัยนี้ชอบความท้าทาย ชอบเสี่ยง เพราะอยู่ในวัยที่กำลังวังชาแข็งแกร่ง หากเป็นสายซิ่ง ชอบความเร็ว ถ้าโชคร้ายก็อาจจะประสบอุบัติเหตุพิการถาวร หรือไม่ก็เสียชีวิต

หากเป็นขาชอบตีรันฟันแทง ชอบเข้าแก๊ง ถ้าดวงไม่แข็ง ทำบุญมาไม่เยอะ ก็อาจจบชีวิตในเรือนจำ ติดคุกตั้งแต่อายุยังน้อย

แต่ถ้าไม่ใช่สองจำพวกข้างต้น คือไม่ใช่ทั้งสายซิ่งและสายตีรันฟันแทง แต่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ก็จะทำให้ทั้งตนเองและผู้ที่ตนร่วมงานด้วยเกิดความเสียหาย

เช่น เป็นนักฟุตบอล เล่นฟุตบอลเก่งก็จริง เป็นดาวเด่นในทีม แต่อาจทำให้ทีมพลิกล็อกแพ้ได้ เพราะอารมณ์ร้อนอาจทำให้เจอใบแดงต้องออกจากสนามตั้งแต่ครึ่งแรก หรือไม่ก็เสียจุดโทษตอนเวลาใกล้หมดก็เป็นได้

 

อาการของเด็กนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่เป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นอาการของคนวัย 20 ที่มีปัญหา “อีคิว” หรือความฉลาดทางอารมณ์ จึงเป็นเหตุให้พวกเขามีพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย อย่างที่แสดงให้เห็นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน เป็นต้นมา โดยเฉพาะการใช้คำหยาบ-ต่ำ กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หลังจากผลประชุมของรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาไม่ถูกใจม็อบ

เด็กนักศึกษาหญิง “ตัวเบิ้มๆ” คนนั้น ซึ่งเป็นถึงนักศึกษาธรรมศาสตร์ คือผู้ที่ใช้คำหยาบต่ำกับนายชวน โดยอ้างว่าโมโห

เด็กคนนี้เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับนายชวน เทียบอายุแล้วก็เป็นรุ่นหลาน-เหลนของนายชวนทีเดียว

คำหยาบคำนั้น แม้แต่แม่ค้าในตลาดหรือคนอยู่ในสลัมยังไม่ค่อยกล้าพูด แต่นี่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งปัญญาชนกลับสามารถพูดได้หน้าตาเฉยแบบไม่รู้สึกผิด

นี่ย่อมสะท้อนว่าเธอมีปัญหาทางอีคิว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการอบรมเลี้ยงดูก็เป็นได้

 

หากไปดูแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อดูว่าใครมีปัญหาอีคิวบกพร่องหรือไม่ ก็จะพบคำถาม อย่างเช่น 1.เมื่อถูกขัดใจ ฉันมักรู้สึกหงุดหงิดจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ 2.ฉันมักมีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงต่อปัญหาเพียงเล็กน้อย 3.ฉันไม่ยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นทำต่างจากที่ฉันคิด 4.ฉันทนไม่ได้เมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีกฎระเบียบขัดกับความเคยชินของฉัน

คำตอบที่ให้เลือก ก็จะมี 4 ระดับ คือ ไม่จริง จริงเป็นบางครั้ง ค่อนข้างจริง และจริงอย่างมาก

สำหรับเด็กนักศึกษาหญิงตัวเบิ้มๆ คนนั้น มีแนวโน้มที่จะเข้ากับคำตอบ “จริงอย่างมาก” สำหรับคำถามข้างต้นนั้น

การจะวิจารณ์นายชวนด้วยเหตุผลเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่การใช้คำด่าหยาบคายต่ำช้า ไม่ใช่วิถีของผู้เจริญ ผู้ที่ไม่เจริญจะมาเสนอหน้าเป็นแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างไร ซ้ำร้ายจะเป็นแบบอย่างผิดๆ ให้กับเยาวชนเอาอย่างตาม ซึ่งมองไม่เห็นทางเลยว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้สังคมน่าอยู่กว่าเดิม

เด็กคนนี้หรือกลุ่มนี้อาจหลงผิดคิดว่า การด่าผู้ใหญ่อย่างหยาบคายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมและสังคมที่ก้าวหน้า ไม่ต้องมีระบบอาวุโส ไม่ต้องเคารพใคร ครูก็ไม่ต้องไหว้ เหมือนที่แกนนำพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่เคยสั่งสอนเอาไว้

คำด่าหยาบคายของหญิงคนนี้ ได้รับการกดไลก์ กดแชร์ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งน่าเป็นห่วงหากมีการรับเอาทัศนคติผิดๆ แบบนี้ไปจนกลายเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนใช้เหตุผลไม่เป็น

เพราะอับจน “สติปัญญา” ใช้เหตุผลไม่เป็น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงหันไปพึ่งคำด่าหยาบคายเป็นสรณะ

มันย้อนแย้งกันสิ้นดี เพราะในขณะที่อวดตัวว่ารักประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมตัวเองกลับไปอีกทาง ทางที่เอาแต่ใจ ใช้อารมณ์ มีความเป็นเผด็จการโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งด่าคนอื่นด้วยถ้อยคำหยาบคาย มันยิ่งประจานตัวตนของคนด่าว่าเป็นคนแบบไหน คนที่เสียหายด้อยค่าจากการด่า ไม่ใช่คนที่ถูกด่า แต่คือคนด่า

 

ดูจากพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ ทั้งการใช้คำหยาบคาย แล้วก็รุมด่าคนอื่นที่เห็นต่างบนโลกโซเชียล ตลอดจนจัดอีเวนต์ไปอาละวาดที่นั่นที่นี่ ละเลงสีบ้าง แปะสติ๊กเกอร์บ้าง ดูยังไงก็เป็นพฤติกรรมของเด็กงอแงก้าวร้าวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ

ไหนจะแถลงการณ์ของพวกที่อ้างว่าออกในนามสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นอีก ที่ประณามผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกล่าวหาว่าการที่มหาวิทยาลัยไม่ยอมให้ใช้สถานที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน เพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนปวงชน เป็นเหตุให้การ์ดของผู้ชุมนุมคนหนึ่งนิ้วก้อยขาด (เพราะพยายามจะบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย) จึงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกมารับผิดชอบและแสดงความเสียใจ

แถลงการณ์นี้พยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดว่าพวกตัวเองใช้วิธีบุกรุกด้วยการพังประตูมหาวิทยาลัยเข้าไป ไม่พูดว่าตัวเองต่างหากคือฝ่ายทำผิดกฎหมายและน่าจะถูกดำเนินคดี เพราะผู้บริหารประกาศไม่อนุญาตล่วงหน้าตั้งหลายวันแล้ว ด้วยเหตุผลอะไรนั้นก็ได้ชี้แจงไปแล้ว นั่นคือกลุ่มผู้ชุมนุมทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงการใช้สถานที่ ซึ่งเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยคือห้ามพาดพิงสถาบัน แต่ผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะปราศรัย

คนมีสามัญสำนึกปกติ ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายทำผิด แต่นี่ดันมาประณามผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ตัวเองเป็นฝ่ายไปละเมิดเขา ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หน้ามึน” (แปลว่าทำผิดแล้วยังตะแบง)

การมาตำหนิว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยรับใช้เผด็จการอะไรนั่น ใครๆ ก็พูดได้ เพราะถ้าเกิดเหตุร้ายหรือทำผิดกฎหมายอะไรขึ้นคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายด้วย ดังนั้น การเรียกร้องเสรีภาพอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่หัดมองในมุมของคนอื่นบ้าง

พวกนักการเมืองบางพรรค หรือนักวิชาการที่อยู่ข้างนอก (รวมทั้งอดีตอธิการบดี มธ.บางคน) ก็พลอยผสมโรงกดดันให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยอมเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษา ทั้งที่เอาเข้าจริงไม่ใช่นักศึกษาทั้งหมด แต่เป็นพวกเสื้อแดงเสียส่วนมาก

เชื่อสิ พวกนักวิชาการข้างนอกหรือนักการเมืองเหล่านี้ ถ้าตอนนี้เป็นผู้บริหาร มธ.ก็คงไม่กล้าเปิดให้ใช้พื้นที่ เพราะรู้ว่าจะมีการโจมตีสถาบันอย่างเบิ้มๆ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายสนับสนุนการทำผิด และที่สำคัญจะทำให้ประชาชนอีกจำนวนมากไม่พอใจ

 

มองดูพฤติกรรมนักศึกษากลุ่มนี้ มองยังไงก็ไม่น่าใช่คนที่เข้าใจประชาธิปไตย แต่เป็นกลุ่มเด็กๆ ที่เอาแต่ใจตัวเองมากกว่า (ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะเรียกว่าเผด็จการ)

ถ้าเข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ ต้องสำเหนียกว่า กลุ่มของคนหนุ่ม-สาว เยาวชน ไม่ได้ represent หรือสะท้อนตัวแทนของคนทั้งประเทศ ที่จะมีอภิสิทธิ์เด็ดขาดที่จะมา dictate ทุกสิ่งอย่าง

ถ้าพวกคุณคิดว่าที่ผ่านมาม็อบกลุ่มอื่นๆ (ที่พวกคุณมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม) ใช้กฎหมู่กดดันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ พวกคุณก็ไม่ควรทำแบบเดียวกัน