วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ธุรกิจทรงอิทธิพล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

สังคมธุรกิจไทยกับช่วงเวลาแห่งโอกาสเปิดกว้าง เป็นจังหวะเดียวกับซีพีก้าวขึ้นเป็นธุรกิจทรงอิทธิพล

อย่างที่ว่าไว้ตอนที่แล้ว “แผนการสำคัญๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซีพีเลือกภูมิศาสตร์ที่คุ้นเคย-ประเทศไทย… จาก “สายสัมพันธ์” พื้นฐานทางสังคม ว่าด้วยเข้าถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง จากนโยบาย แผนการและกลไกแห่งรัฐ”

ตีความในอีกมิติที่สำคัญ ซีพี ยุคธนินท์ เจียรวนนท์ มีความมั่นใจ มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างมั่นคง ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลอย่างเป็นจริง

จากโมเดลความมั่งคั่งใหม่กับแผนการใหญ่ Petrochemical Complex ยุทธศาสตร์รัฐแห่งยุค “โชติช่วงชัชวาล” ได้เดินทางมาถึงจุดไคลแมกซ์ช่วงปี 2529-2531 กลุ่มธุรกิจใหญ่ ผู้เข้าถึงข้อมูลและสายสัมพันธ์ ได้ตระเตรียมการเข้าร่วมวงอย่างคึกคัก

บางคนตีความว่าเป็นการจัดสรรผลประโยชน์อย่างลงตัว ตามโมเดลทางอำนาจซึ่งก่อรูปขึ้น ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบกับทุนใหญ่

ว่าไปแล้ว กรณีข้างต้น ซีพีวางบทบาท “มีส่วนร่วม” อย่างระแวดระวัง ตามพันธสัญญาอย่างจริงจังครั้งแรกๆ กับรัฐ ในฐานะผู้ร่วมทุนถือหุ้นข้างน้อยกับเครือธุรกิจระดับโลก เพื่อเข้าไปอยู่ในวงจรใหญ่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ประเทศไทย มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด กับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ซึ่งตั้งใจก้าวเข้ามาอย่างเต็มตัวในธุรกิจใหม่ เพื่อจะก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจนั้น

อาจเป็นบททดลอง เป็นขั้นตอน เป็นไปตามจังหวะ ก่อนก้าวเข้าสู่แผนการที่ใหญ่ขึ้น มีเดิมพันมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ใหม่ๆ

 

ฉากใหม่สังคมธุรกิจไทยเปิดขึ้นอย่างตื้นเต้น เมื่อมีธุรกิจใหม่ๆ กับบรรดา “หน้าใหม่” เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นอีกระลอกในช่วงทศวรรษ 2530-2540 มาแรงและแตกต่างจากทศวรรษ 2520 พวกนั้นบางคนสามารถสะสมความมั่งคั่ง เทียบเคียงกับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม โดยใช้เวลาที่สั้นกว่ามาก กลุ่มธุรกิจดั้งเดิม (establishment ) ที่ว่า คงรวมซีพีอยู่ในนั้นด้วย

พวก “หน้าใหม่” ไม่ได้วิ่งชนกำแพงธุรกิจแกนกลางสังคมธุรกิจไทยอย่างธนาคารและสถาบันการเงินเช่นครั้งก่อน

ครั้งนี้มากับกระแสคลื่นใหญ่ระดับโลกซึ่งถาโถม มาแรง มาเร็ว ในธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม โอกาสใหม่ เข้าไปในระบบสัมปทานแห่งรัฐซึ่งซ่อนอยู่ ในขณะธุรกิจดั้งเดิมยังไม่ทันตั้งตัว หรือไม่ก็ประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ

อีกด้านหนึ่ง พวกหน้าใหม่ๆ มากับสถานการณ์อันเอื้ออำนวย อ้างอิงกับตลาดทุนซึ่งเปิดขึ้นกว้างกว่าที่เคยในสังคมไทย ทั้งเชื่อมโยงระดับโลก

กรณีทักษิณ ชินวัตร เป็นโมเดลดึงดูดและน่าทึ่งในเวลานั้น ในช่วงปี 2533-2534 เขามีสัมปทานเกี่ยวกับระบบสื่อสารใหม่อยู่ในมือมาก่อนใครๆ มากกว่าใครถึง 8 โครงการ

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปี 2533-2537 บริษัทในเครือข่ายธุรกิจสื่อสารของเขาถึง 4 แห่งได้พาเหรดเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แผนการระดมทุนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว พิจารณาข้อมูลในช่วงปี 2539 เป็นรองแค่กลุ่มเอกธนกิจเท่านั้น

ในความเป็นไป ธุรกิจสื่อสารสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจอย่างเป็นจริงด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจไร้สายหรือสมัยนั้นเรียกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก่อตั้งในปี 2529 เข้าตลาดหุ้นปี 2534 แสดงดัชนีทางธุรกิจบางอย่างในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจ (จากข้อสนเทศบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2539) ราคาหุ้นทะยานจากระดับ 50 บาท/หุ้น ในปี 2535 ไปทะลุ 450 บาทในปี 2538 ขณะผลประกอบการน่าทึ่ง มีรายได้จากระดับ 500 ล้านบาทในปี 2534 ไปเป็นกว่า 9,000 ล้านบาทในปี 2538 ส่วนกำไรจากประมาณ 200 ล้านบาท (2534) สู่ราวๆ 3,000 ล้านบาท (2538)

ปรากฏการณ์นั้นสร้างแรงสั่นสะเทือน สร้างกระแสให้ทั้งธุรกิจดั้งเดิมและหน้าใหม่ พยายามเข้าสู่โมเดลความมั่งคั่งที่ใหม่กว่า และดูเปิดกว้างกว่าปิโตรเคมีเสียอีก

 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เดินตามโมเดลนั้นด้วย แม้ว่าไล่หลังกรณีทักษิณ ชินวัตร แต่ขณะนั้นมองกันว่าเป็นแผนการที่ยิ่งใหญ่

“เดือนมีนาคม 2533 รัฐบาลได้เชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนในการขยายเลขหมายโทรศัพท์จำนวน 3 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ…นับเป็นการประมูลที่มีมูลค่าการลงทุนใหญ่ที่สุดในโลกโครงการหนึ่งในยุคนั้น” (ธนินท์ เจียรวนนท์ : ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว)

โครงการใหญ่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ธุรกิจสื่อสาระดับโลก ทั้งจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ต่างเข้าร่วมประมูล

ขณะเรื่องเล่าอีกบางมุมมีความหมายเจาะจงถึงธุรกิจไทย “มีความคาดหวังว่าซีพีจะเข้าร่วมประมูลด้วย” ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้ในสื่อญี่ปุ่น (My Personal History : Dhanin Chearavanont, NIKKEI ASIAN REVIEW, December 2016)

สะท้อนถึงความสำคัญว่าด้วยความสัมพันธ์ของเครือข่ายธุรกิจซีพีกับสังคมไทย

โดยเรื่องเล่าเน้นอีกด้วยว่า ในบรรดาธุรกิจไทย เชื่อว่ามีเพียงซีพีและเครือซิเมนต์ไทยเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมประมูล

อย่างไรก็ตาม ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เล่าไว้ด้วยว่า เขาได้ใช้เวลาไตร่ตรองพอสมควรก่อนจะตัดสินใจ ด้วย “เป็นงานระดับชาติ…จะถูกจับตามอง และเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมได้” (“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”)

มองภาพที่กว้างขึ้น ซีพีเป็นเพียงรายเดียว ทั้งมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ “โชติช่วงชัชวาล” และเข้าสู่กระแสคลื่นใหญ่อย่างเต็มตัว สามารถคว้าสัมปทานสื่อสาร (เรียกว่าเอกชนร่วมลงทุนหรือ BTO-Build-Transfer-Operate) ถือเป็นเหตุการณ์อันครึกโครม ได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานั้น

ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับรัฐไทย ดูเป็นไปอย่างราบรื่น จากยุค “โชติช่วงชัชวาล” ในรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ สู่ยุค “ไฮเวย์ข้อมูลข่าวสาร” รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ผ่านไป 6 เดือน โครงการสัมปทานสื่อสารใหญ่ที่สุด ได้บทสรุปค่อนข้างรวดเร็ว-คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ) มีมติอนุมัติให้กลุ่มซีพีได้รับการคัดเลือกร่วมลงทุนขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย (18 กันยายน 2533)

แม้ว่าจากนั้นจะเผชิญความผันแปร มีภาวะสะดุดเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็ไปต่อได้

 

อันเนื่องมาจากรัฐประหาร (23 กุมภาพันธ์ 2534) และผ่านสู่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2 มีนาคม 2534 – 22 มีนาคม 2535) จากกระแสสนทนาเกี่ยวข้องกับ “การผูกขาด” โครงการใหญ่ จึงได้ถูกลดทอนให้เหลือ 2.6 ล้านเลขหมาย เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เรื่องนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ มีความเห็นผ่านเรื่องเล่าไว้อย่างน่าสนใจ “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เป็นคนจ่ายเงินให้รัฐบาลและข้าราชการ ทุกอย่างจึงต้องคิดว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร ไม่ไช่คิดว่ารัฐบาลได้ประโยชน์อะไร…การเจรจาที่ยาวนาน ส่งผลให้โครงการต้องล่าช้าออกไป เราเจรจาอยู่หลายเดือน จนได้ข้อสรุป” (“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”)

ในที่สุดในปี 2534 นั่นเอง ซีพีซึ่งร่วมทุนกับ Bell Atlantic (ต่อมาในปี 2540 เป็น NYNEX และในปี 2543 เป็น Verizon Communications) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย [ปัจจุบันคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)] “เป็นผู้ดำเนินการลงทุน จัดหา และติดตั้งควบคุม ตลอดจนซ่อมบำรุงและรักษาอุปกรณ์ในระบบสำหรับการขยายบริการโทรศัพท์จำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนตุลาคม 2560”

เรื่องราวจากวันนั้นจนถึงวันนี้มีมากมาย กว่าจะมาเป็นกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจหลัก 1 ใน 3 ของเครือข่ายธุรกิจซีพี ไม่สามารถนำเสนอให้เห็นภาพใหญ่ภายในตอนเดียว

“30 ปีที่ผ่านมา ซีพีต้อง “สู้” สารพัดอุปสรรคกว่าจะสร้างทรูมาได้ เราต้องอดทนต่อคำสบประมาท ต่อสู้กับความไม่เข้าใจของประชาชน การกดจากฝ่ายรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจ และอีกมากมาย” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวไว้เหมือนบทสรุป

(อ้างจากบท “ทรู เราคือนักสู้” ในหนังสือ “ธนินท์ เจียรวนนท์ : ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”)