นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พุทธไทยในสังคมไทยปัจจุบัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

บัดนี้คงสายเกินไปแล้วที่พุทธศาสนาแบบไทยหรือพุทธไทยจะสามารถให้คำตอบอะไรแก่วิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกิดในตอนนี้ จะบอกอะไรแก่รัฐด้วยหลักการของพุทธว่า อย่าใช้ความรุนแรงแก่ผู้ประท้วง ไม่ว่าจะด้วยการ “ขอคืนพื้นที่” หรือจับกุมดำเนินคดีแกนนำ ที่รัฐไม่ใช้การเผชิญหน้ากับม็อบด้วยความรุนแรงเวลานี้ ก็รู้กันอยู่ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา แต่เป็นยุทธวิธีที่คาดว่าจะได้ผลกว่าต่างหาก

หรือในทางตรงข้าม จะบอกอะไรแก่ผู้ประท้วงด้วยหลักการของพุทธธรรมให้ยุติการประท้วง หรือให้ประท้วงอย่างได้ผลกว่าโดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง

ก็เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เมื่อคณะทหารยึดอำนาจ พุทธไทยก็ได้แต่นั่งมองเฉยๆ โดยไม่พูดอะไรสักแอะว่า โยมกำลังนำบ้านเมืองไปสู่ความอับจนและความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือเมื่อก่อนหน้านั้นขึ้นไป พุทธไทยก็ไม่ได้พูดเตือนสติเหล่าสาวกของ กปปส.ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยสันติวิธี

ว่ากันให้ถึงที่สุด โดยหลักการแล้ว พุทธไทยไม่มีคำตอบทางสังคมสักเรื่อง แม้ว่าวัดและศาสนิกได้ลงมือปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสังคมอยู่เหมือนกัน เช่น เลี้ยงเด็กกำพร้าที่พ่อ-แม่ตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์ หรือช่วยเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรืออนุรักษ์ป่า ฯลฯ แต่โดยหลักธรรมคำสอนของพุทธไทย ไม่มีคำตอบให้แก่ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม มีแต่คำตอบให้แก่ปัจเจกบุคคลว่าจะก้าวพ้นความยากลำบากในชีวิตอย่างไร

(จนเพราะขี้เกียจ ก็เลิกขี้เกียจ หันมาขยันขันแข็งทำมาหากิน จนเพราะไม่รู้จักอดออม ก็อดออมเสีย แต่จนเพราะโครงสร้างบีบบังคับให้จน พุทธไทยไม่มีคำตอบ แล้วลองคิดว่าติดคุกเพราะความรวนเรเละเทะของกระบวนการยุติธรรม จะให้ทำอย่างไรมากไปกว่า “ทำใจ” ซึ่งก็ดีกว่าติดคุกโดย “ทำใจ” ไม่ได้แน่ แล้วคนอื่นรวมทั้งลูกหลานเราเองเล่า จะต้องมีชีวิต “ตามบุญตามกรรม” ตลอดไปอย่างนี้หรือ)

อันที่จริงพุทธไทยไม่ได้สายเกินไปที่จะตอบปัญหาทางสังคมตั้งแต่ตอนที่ คสช.ยึดอำนาจหรอก สายไปตั้งแต่เมื่อเราเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่แล้ว

การปฏิรูปศาสนาในระยะแรก คือการหันกลับมาเน้นการใช้หลักธรรมเพื่อแก้ทุกข์ของบุคคล ความมีเหตุมีผลเชิงประจักษ์ของพุทธธรรม และความเคร่งครัดต่อพระวินัยของนักบวช ว่ากันว่าจุดมุ่งหมายคือเพื่อเผชิญการท้าทายของคริสต์ศาสนาและมิชชันนารี ในช่วงนั้นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ยังไม่ปรากฏชัดในเมืองไทย หลักคำสอนเกี่ยวกับสังคมซึ่งมีมาในสังคมไทยโบราณก็ยังดูจะใช้ได้ดีอยู่ เช่น ผู้ปกครองพึงสั่งสมบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้สังคมมีสภาพที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เช่นรักษาระเบียบแบบแผนของบ้านเมืองไว้

การปฏิรูปศาสนาในระยะต่อมากลายเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ คือการสร้างระบบปกครองที่ทำให้รัฐมีอำนาจในการกำกับควบคุมคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ หากจะมีเรื่องหลักธรรมคำสอนอยู่บ้าง ก็เป็นการตอกย้ำการ “กลับสู่คัมภีร์ดั้งเดิม” (Back to the Book) อันเป็นหลักการสำคัญของการปฏิรูปศาสนาของทุกศาสนา เช่น การแปลพระสูตรออกเป็นภาษาไทย หรือการสร้างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์

แม้ว่าสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ความทันสมัยอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ปฏิรูปศาสนาของพุทธไทยในระลอกนี้ก็ไม่มุ่งจะตีความหลักธรรมคำสอนให้ตอบปัญหาเชิงสังคมแต่อย่างไร

คำสอนของทุกศาสนาล้วนมีคำตอบในเชิงสังคมทั้งนั้น แต่เป็นสังคมโบราณในยุคสมัยที่ศาสดามีชีวิตอยู่ เมื่อศาสนาดำรงอยู่ต่อมา และขยายไปยังสังคมที่แตกต่างออกไป ก็เป็นธรรมดาที่หลักธรรมคำสอนจะถูกตีความให้สอดคล้องกับสังคมนั้นๆ ถ้าหันไปดูประวัติของศาสนาคริสต์, อิสลาม, ขงจื๊อ หรือแม้แต่ฮินดู ก็จะเห็นการตีความใหม่เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมย่างเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสมัยใหม่ บางกรณีการตีความทำให้เกิดการแตกแยกถึงกับทำให้เกิดสงครามหรือแบ่งแยก “สาย” ของความเชื่อที่ต่างกันเป็นคนละนิกายไปเลย

แต่ปรากฏการณ์เช่นนั้นไม่เกิดในประวัติของพุทธไทย (หากทว่าเกิดในพุทธลังกา, พุทธกัมพูชา และพุทธพม่า) เพราะเหตุใด?

โดยปราศจากการค้นคว้าและค้นคิดอย่างเพียงพอ ผมอยากตอบว่า เพราะพุทธไทยถูกรัฐเข้ามากำกับควบคุมอย่างมิดชิดทุกด้าน เสียจนยากที่การตีความซึ่งไม่ตรงกับรัฐจะโผล่ขึ้นมาได้ (เช่น จะสอนธรรมในหมวดที่เรียกกันว่าคีหิปฏิบัติในโรงเรียนให้ต่างจากการตีความของแบบเรียนได้อย่างไร)

ในพม่า, ลังกา และกัมพูชา รัฐตกไปอยู่ในมือของเจ้าอาณานิคมซึ่งไม่สนใจพุทธศาสนา จึงเท่ากับเปิดพื้นที่พุทธศาสนาให้แก่การตีความของคนหลากหลายจำพวก (ยกเว้นฝรั่งเศสในกัมพูชา ซึ่งก็สนใจเพียงอยากสร้างความเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาขึ้น เพื่อลดอิทธิพลทางศาสนาของสยามในกัมพูชาลงเท่านั้น) ตรงกันข้ามกับรัฐไทย ซึ่งยังมีอำนาจจะจัดการให้พุทธศาสนาอยู่ในกำกับควบคุมได้เด็ดขาด นับตั้งแต่คณะสงฆ์ ไปจนถึงหลักธรรมคำสอน, วัด, ศาสนพิธี, ความหมายของพระวินัย ฯลฯ

และเพราะอยู่ในความกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐเช่นนี้เอง ที่ทำให้ความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นผลไปสู่การตีความหลักธรรมคำสอนเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่เคยทำได้สำเร็จ ที่เด่นชัดที่สุดคือการเคลื่อนไหวของเจ้าคุณพระพิมลธรรมแห่งวัดมหาธาตุ (สมเด็จพระพุฒาจารย์) ซึ่งพยายามเชื่อมโยงพุทธไทยเข้ากับความเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาระดับนานาชาติและสันติอโศก ซึ่งพยายามฟื้นฟูหลักธรรมคำสอนให้มีความหมายในเชิงสังคมด้วย เช่น การต่อสู้กับทุนนิยมด้วยบุญนิยม

หลายคนมักกล่าวว่า พุทธศาสนาเถรวาทมีธรรมชาติที่ “ยอมรับ” (passive) ในขณะที่มหายานเป็น “กัมมันตะ” (active) มากกว่า แต่เถรวาทในลังกา, พม่า และกัมพูชาไม่ได้นิ่งเฉยและยอมรับอย่างราบเรียบ หากลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่หลายอย่าง เพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ทั้งที่ตนชอบและไม่ชอบ

นั่นคือเหตุผลที่องค์กรศาสนาในสามประเทศนั้นยังมีบทบาทนำสังคมอยู่ระดับสูง (ไม่ว่าจะนำไปสู่สิ่งที่เราเห็นว่าดีหรือไม่ดีก็ตาม) ในขณะที่องค์กรศาสนาในเมืองไทยดูเหมือนจะตกอยู่ใต้การนำของสังคมแทน

ความหมายของพุทธไทยในวิถีชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่จึงเหลือแต่เพียงพิธีกรรม อย่างที่พูดกันมานานแล้ว

ผมไม่ทราบว่า คนไทยในปัจจุบันยังนับถือพุทธนอกทะเบียนราษฎรกันสักเท่าไร นับถือพุทธในความหมายที่พุทธเป็นส่วนหนึ่งของโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ เช่น หากมีโอกาสได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.ของกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจ พุทธศาสนามีส่วนแค่ไหนในการตัดสินใจของบุคคลว่าจะเป็นหรือไม่เป็น ผมออกจะสงสัยว่าไม่มีหรือมีน้อยมาก

แม้แต่คำสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ของพุทธไทย ซึ่งดูเหมือนจะยั่งยืนมานานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนความหมายแบบเดิมไปแล้ว ด้วยคติของทุนนิยม และโอกาสใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ทั้งโอกาสที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามศีลธรรมของศาสนา

ทะเบียนราษฎรเป็นสถิติการนับถือศาสนาที่ใช้ไม่ได้ ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว แม้แต่การสำรวจขององค์กรฝรั่งในเรื่องศาสนา ก็ใช้เพียงคำให้การของเจ้าตัวเท่านั้น ไม่ได้วัดลงไปถึงโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของผู้ที่ถูกสอบถาม ดังนั้นตัวเลขของผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย จึงเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มากในการสำรวจ

แต่ในความเป็นจริง อาจเป็นได้ว่า “ศาสนา” ในโลกปัจจุบัน เป็นเพียง “เฟอร์นิเจอร์” ของผู้คนเท่านั้นก็ได้

พลังของศาสนาที่เหลืออยู่ในโลกปัจจุบัน ดูเหมือนจะถูกใช้เป็นพลังเพื่อการต่อต้านทางการเมืองมากกว่าทางอื่น เพราะความเป็นศาสนิกของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นฐานให้แก่การรวมตัวที่กว้างขวางกว่าสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบอื่น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคัดค้านต่อต้านในสังคมไทยที่อาศัยสัญลักษณ์ทางศาสนา กลับไม่ค่อยเกิดกับคนทั่วไป แต่เป็นการเมืองของผ้าเหลืองเท่านั้น เช่น การเรียกร้องให้สถาปนาพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ, การแก่งแย่งแข่งดีกันระหว่าง “นิกาย”, ความพยายามจะสร้างศัตรูร่วม คอมมิวนิสต์ในสมัยหนึ่ง และ “มุสลิม” ในปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยในการอุปถัมภ์ของรัฐต่อคณะสงฆ์

เหตุใดจึงไปแสวงหาการอุปถัมภ์ที่มั่นคงปลอดภัยกับรัฐ ไม่ใช่กับสังคมหรือที่เรียกกันว่าพุทธบริษัท?