เลือก “แมว” หรือ “หนู”

เมื่อพูดถึง “ประชาธิปไตย” หัวใจย่อมอยู่ที่ถือเอาความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ และผู้มีหน้าที่ ต้องหรืออย่างน้อยควรจะบริหารจัดการให้เป็นไปตามความต้องการนั้น

ประเด็นอยู่ที่การหาคำตอบว่า “ความต้องการของคนส่วนใหญ่คืออะไร”

วิธีหนึ่งที่นำมาใช้กันมากคือ “สำรวจความคิดประชาชน” หรือที่เรียกว่า “โพล”

แต่ก็อีกนั่นแหละ บางทีการตั้งคำถามของโพลอาจจะทำให้ได้คำตอบ หรือได้ความรู้ที่ห่างจากความเป็นจริงก็ได้

วิธีตั้งคำถามในการทำสำรวจมีส่วนสำคัญ

ล่าสุด “นิด้าโพล” ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ทำสำรวจเรื่อง “ความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่” โดยสอบถามความเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค

น่าจะด้วยความตั้งใจว่าให้ผลของโพลเป็นความคิดของ “ตัวจริงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม” ให้รู้กันไปเลยว่าคนทำมาหากินในด้านนี้ความจริงต้องการอะไร เมื่อประเทศมีรัฐบาลใหม่

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ

“ท่านอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรมากที่สุด” โดยตอบได้มากกว่า 1 ข้อ

ซึ่งคำตอบสรุปออกมาว่า “สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นประเทศเป็นมากที่สุด” นั้น

ร้อยละ 58.61 เลือก “ประเทศสงบสุขและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี” ร้อยละ 57.51 เลือก “การศึกษาที่มีคุณภาพ” ร้อยละ 56.41 เลือก “ประเทศที่ปราศจากคอร์รัปชั่น/เส้นสาย/ระบบอุปถัมภ์” ร้อยละ 46.89 เลือก “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม” ร้อยละ 42.12 เลือก “ประเทศกลับมาเป็นผู้นำอาเซียน” ร้อยละ 39.56 เลือก “การบริหารด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียม”

เรื่องที่เลือกน้อยที่สุด แค่ร้อยละ 35.90 คือ “ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย”

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เมื่อผลโพลออกมาแบบนี้ ย่อมเป็นการง่ายที่ใครสักคนจะยกมาชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสูงในการพัฒนาประเทศ เห็นความจำเป็นของประชาธิปไตยน้อยมาก

ต้องการเห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีมากกว่า

มีผลสำรวจของสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือยืนยัน

และนั่นหมายถึงอาจจะมีคำถามถึง “ความสำคัญของประชาธิปไตย” ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “คำตอบที่ออกมาแบบนี้ เกิดจากการออกแบบวิธีถามหรือไม่”

การเอา “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองมาเป็นคำตอบให้เลือกที่คำตอบส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “ผลที่เกิดกับชีวิต” นั้น เหมาะสมหรือไม่

คำตอบอื่น ไม่ว่าความสงบ การศึกษา คอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ หรืออื่นๆ นั้น เป็นเป้าหมายของการบริหารจัดการให้เกิดขึ้น

แต่ “ประชาธิปไตย” เป็นวิธีการ เป็นรูปแบบการจัดการ

น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน

หากเปลี่ยนวิธีถามและหมวดหมู่ของคำตอบที่เป็นตัวเลือกเสียใหม่ อย่างเช่น “คิดว่าประเทศที่สงบสุข การศึกษามีคุณภาพ ไม่มีคอร์รัปชั่น มีความเท่าเทียม กลับไปเป็นผู้นำอาเซียน บริการสาธารณสุขมีคุณภาพเท่าเทียม จะต้องปกครองด้วยระบอบอะไร” โดยให้เลือกคำตอบ 1.เผด็จการ 2.นาซี 3.คอมมิวนิสต์ 4.ประชาธิปไตย หรืออื่นๆ

แล้วมาดูกันว่า นักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เลือกอะไร

อย่างนั้นน่าจะค่อยเป็นการตั้งคำถามที่เป็นธรรมกับ “ประชาธิปไตย”

ไม่ดูเป็นเจตนาเอาความเห็นของนักอุตสาหกรรมไปลดน้ำหนักการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ได้บ้าง

“ไม่ว่าแมวสีอะไร หากจับหนูได้เป็นใช้ได้” นั่นถูก

แต่ให้เลือกว่าระหว่าง การไม่มีหนู กับการไม่มีแมว อะไรดีกว่ากัน

ก็จะได้คำตอบที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย