เทศมองไทย : การระบาดระลอก 2 กับการเปิดการท่องเที่ยว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวอย่างหนัก

กิจกรรมการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลและกระจายออกไปในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ กลายเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง หดหายไปจนแทบหมดสิ้น

คำถามที่หลายคนถามกันในเวลานี้ก็คือ เมื่อไหร่การท่องเที่ยวไทยจะกลับคืนมาอีกครั้ง

และกลับมาอย่างไรถึงจะไม่เกิดความเสี่ยงต่อการสร้างวิกฤตสาธารณสุขหนักหนาสาหัสขึ้นในประเทศ

คำถามนี้หาคำตอบไม่ได้ง่ายๆ

 

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้สองอย่างดำเนินไปควบคู่กันได้ ให้การท่องเที่ยวก็ดำเนินไปได้ ในเวลาเดียวกันก็ต้องปลอดภัยไม่ต้องกลัวโควิดกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของนักท่องเที่ยวหรือประชาชนคนไทย ทั้งที่ต้องพึ่งพาและที่ไม่ได้พึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่ก็ตามที

การแพร่ระบาดระลอกสองหรือสาม ในหลายประเทศที่ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของตนขึ้นมาก่อนหน้านี้ กลายเป็นปมเงื่อนให้เกิดความวิตก หวั่นกลัวขึ้นในใจของคนไทยไม่น้อย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสก็ดี สเปนก็ดี เรื่อยไปจนถึงอังกฤษและฮ่องกงที่กลับมามีการระบาดซ้ำ จนต้องมีการล็อกดาวน์กันใหม่อีกหน คืออุทาหรณ์เตือนใจอยู่ทุกวัน

แต่ครั้นจะอยู่เฉยก็เหมือนกับรอคอยวันตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห่วงโซ่เล็กๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยากลำบากมากขึ้นทุกวัน

นั่นเป็นที่มาของโครงการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศขึ้น และเป็นที่มาของการตัดสินใจเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่อีกครั้งภายใต้กรอบจำกัดตามโครงการ “สเปเชียล ทัวริสต์ วีซ่า” หรือ “เอสทีวี” ของรัฐบาลไทย

 

แชนแนลนิวส์เอเชีย (ซีเอ็นเอ) เว็บไซต์ข่าวของสิงคโปร์ ทำรายงานเรื่องการเปิดการท่องเที่ยวของไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้งอย่างละเอียด เมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้งรายละเอียดของโครงการและส่วนที่เป็นปฏิกิริยาของผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหลาย ซึ่งมีหลายความเห็นทั้งบวกและลบ

ซีเอ็นเอบอกว่า ปฏิกิริยาส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก เชื่อว่าก้าวย่างของทางการครั้งนี้ “เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

แดเนียล ไซมอน ผู้จัดการของอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ชี้ว่า นักท่องเที่ยวแต่ละรายและทุกรายจะช่วยในการกระตุ้นภาคกิจการโรงแรมให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่แน่นอน แต่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงของอุตสาหกรรมโรงแรมเท่านั้น การฟื้นฟูนี้ยังส่งผลเชิงบวกไกลออกไปอีกด้วย ตั้งแต่ชาวประมง ที่จับกุ้งหอยปูปลาขึ้นมาขาย เรื่อยไปจนถึงเกษตรกรและไกด์ทัวร์ กับธุรกิจขนาดเล็กทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แม้จะยอมรับว่ารัฐบาลขยับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ไซมอนก็ยังอยากเห็นที่ “มากไปกว่านี้” ด้วย

“เรามองไปข้างหน้า คาดหวังว่าจะมีมาตรการออกมามากกว่านี้อีก มาตรการที่เร็ว แต่ปลอดภัย เปิดราชอาณาจักรไทยให้กับนักเดินทางท่องเที่ยวนานาชาติอีกครั้ง”

ภายใต้โครงการเอสทีวี รัฐบาลคาดหวังเอาไว้ว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เดือนละ 1,200 คนต่อเดือน คาดว่าจะทำรายได้เข้าประเทศปีละ 12,000 ล้านบาท โดยที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าประเทศมาสัปดาห์ละ 1-3 เที่ยวบิน

 

นิก ดาวนิ่ง ผู้จัดการของสยามโฮเทล บอกกับซีเอ็นเออย่างยอมรับเช่นกันว่า การเปิดประเทศทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะ “ไม่มีใครมีมนต์วิเศษ” เขาเชื่อด้วยว่า โครงการอย่างเอสทีวี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น และจะยังมีอีกหลายๆ ขั้นเกิดขึ้นตามมา

“มันจะช่วยให้คนไทยมีโอกาสได้ทำความคุ้นเคยกับความคิดที่ว่า ในที่สุดแล้วก็ยังมีหนทางที่จะเริ่มรับนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งอย่างปลอดภัย”

แต่ดาวนิ่งเตือนไว้กลายๆ ว่า กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอสทีวี จนสามารถท่องเที่ยวในไทยได้ทุกที่นั้น “ท้าทายอย่างยิ่ง” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กระบวนการท้าทายที่ว่านั้น เริ่มตั้งแต่การยื่นขอวีซ่าในประเทศของตนเอง ที่ต้องมีรายละเอียดเที่ยวบิน “เช่าเหมาลำ” หรือเครื่องบินส่วนตัว ต้องมีที่พัก (หลังพ้นการกักตัว 14 วัน)

ที่แน่นอน ต้องซื้อประกันที่ให้ความคุ้มครองอย่างน้อยที่สุด 100,000 ดอลลาร์ หรือ 3 ล้านบาทโดยประมาณ จากนั้นต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ ซึ่งต้องออกให้ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แถมยังต้องสมัครใจกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ และรับการตรวจหาโรคในไทยอีกด้วย

บรูโน ฮูเบอร์ ผู้จัดการของมูฟเวนพิก บีเอ็มดีเอส เวลเนสส์ รีสอร์ต ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ที่เที่ยวบิน ซึ่งการเช่าเหมาลำ ที่ต้องจัดการเองนั้น “ยุ่งยาก” และ “แพงระยับ”

เขาเตือนว่า ทางการไม่น่าจะมีรายได้ถึง 12,000 ล้านบาท ตราบใดที่ยังไม่มีสายการบินเชิงพาณิชย์กลับมาเปิดให้บริการ

 

ซีเอ็นเอได้อีกความเห็นที่น่าคิดจากพรพักตร์ รักษ์จันทร์ ผู้จัดการภูเก็ตทัวร์ ฮอลิเดย์ ที่ไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะกระจายผลประโยชน์ถึงธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กในต่างจังหวัดได้ ตราบใดที่ช่องว่างระหว่างต่างจังหวัดกับเมืองหลวงยัง “ควบคุมไม่ได้”

เธอยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมากิจการท่องเที่ยวขนาดเล็กในส่วนภูมิภาคไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

สิ่งที่อยากเห็นก็คือ อยากให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อบริหารจัดการผลกระทบโควิดต่อผู้ประกอบการระดับจังหวัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการเล็กๆ ทั้งหลายครับ

 


ชวนลิ้มลองความอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหาร จากร้านระดับตำนาน ร้านเด็ดประจำจังหวัด ร้านดังในย่านเก่าแก่ และบางร้านมาออกบูธเป็นครั้งแรก อาทิ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สมบูรณ์โภชนา เป็ดย่างประจักษ์ ไก่ย่างเสือใหญ่ หมูย่างลำยอง จกโต๊ะเดียว ภัตตาคารลิ้มกวงเม้ง ฯลฯ รวมกว่า 100 บูธ ทั้งหมดพร้อมใจมาให้อิ่มอร่อยกันในงาน “ข่าวสดอาหารจานเด็ด 2020” ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 28 ต.ค. – 1 พ.ย. 63 เวลา 11.00 – 22.00 น.