กรองกระแส / แนวรบ การเมือง เบื้องหน้า ‘ระบอบประยุทธ์’ คำถาม พรรคการเมือง

กรองกระแส

 

แนวรบ การเมือง

เบื้องหน้า ‘ระบอบประยุทธ์’

คำถาม พรรคการเมือง

 

สถานการณ์การตัดสินใจในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ทำให้การเมืองได้ยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าที่แหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

เพราะการจัดตั้ง “กรรมาธิการ” คือ การเตะถ่วง “ซื้อเวลา”

เพราะชัยชนะจากการลงมติคืนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแผนสมคบคิดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.อันเด่นชัด

คำถามก็คือ ใครคุม 250 ส.ว. คำถามก็คือ ใครคุมพรรคพลังประชารัฐ

คำตอบต้องย้อนไปถามว่า 250 ส.ว.มาอย่างไร ใครเป็นคนลงนามแต่งตั้ง เด่นชัดยิ่งว่าเป็นการลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า

ภาพของการลงมติเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน จึงไม่เพียงแต่สะท้อนการสมคบคิดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.

หากแต่ยังยืนยันในการดำรงอยู่ของ “ระบอบประยุทธ์”

 

เด่นชัดทางการเมือง

บทบาทพลังประชารัฐ

ไม่จำเป็นต้องถามพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

เพราะ 5 พรรคนี้ต่อต้าน “ระบอบประยุทธ์” อยู่แล้ว

ที่ต้องถามอย่างจริงจัง คือถามต่อพรรคภูมิใจไทย ถามต่อพรรคประชาธิปัตย์ ถามต่อพรรคชาติไทยพัฒนา

อันเป็นพรรคที่เคยขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนกันยายน 2562

พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อาจไม่จริงจังต่อประเด็นรัฐธรรมนูญเมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล

และพรรคพลังประชารัฐบรรจุไว้เป็น “นโยบายเร่งด่วน”

เมื่อประสบเข้ากับกลยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐในการสมคบคิดกับ 250 ส.ว.เพื่อเตะถ่วงยืดเวลาการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปเช่นนี้

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะคิดอย่างไร

 

ฐานะรัฐธรรมนูญ

กับระบอบประยุทธ์

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐมีความเด่นชัด ท่าทีของ 250 ส.ว.มีความเด่นชัด นั่นก็คือ มิได้ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN เพื่อพวกเรา”

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยกร่างขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทน

กลไกสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ 250 ส.ว.

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ บทบาทของพรรคภูมิใจไทย บทบาทของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นบทบาทในการเป็นหางเครื่องให้กับการสืบทอดอำนาจ

เป็นการสืบทอดอำนาจและอนุรักษ์ “ระบอบประยุทธ์”

การแสดงออกของพรรคพลังประชารัฐ การแสดงออกของ 250 ส.ว.จึงมิได้เป็นอะไรนอกเสียจากพยายามจะรักษากลไกแห่งอำนาจของ “ระบอบประยุทธ์” เอาไว้

โดยผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

 

การต่อสู้การเมือง

ปัจจุบัน หรืออนาคต

มีความเด่นชัด ณ เบื้องหน้าประชาชนว่าทุกบทบาทของรัฐบาล ทุกบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการรักษาอำนาจ บนพื้นฐานแห่งการสืบทอดอำนาจ

โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือ

มีความเด่นชัด ณ เบื้องหน้าประชาชนว่าการปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เพื่อท้าทายอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตั้งเป้าอยู่ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย

การต่อสู้นี้อาจพัฒนาและแตกแขนงข้อเรียกร้องและความต้องการไปมากมายตามจำนวนของพันธมิตรที่เข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวแต่เป้าหมายหลักยังเป็นอย่างเดิม

นั่นก็คือ ต้องการรัฐธรรมนูญ “ใหม่” อันเป็น “ประชาธิปไตย”

นี่คือการต่อสู้ 2 แนวทางที่วางแบอยู่ ณ เบื้องหน้าสังคมไทย คือ ต้องการเลือกรัฐธรรมนูญเก่าอันเป็นมรดกของ คสช. อันเป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจ รักษา “ระบอบประยุทธ์”

หรือต้องการรัฐธรรมนูญ “ใหม่” อันเป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่า

 

การต่อสู้การเมือง

การต่อสู้เดือนตุลาคม

สถานการณ์การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน จึงเท่ากับทำให้การปะทะในทางความคิด การปะทะในทางการเมืองแหลมคม

เป็นความแหลมคมอันตกทอดมายังเดือนตุลาคม

เดือนตุลาคม อันมากด้วยประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2519

โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวง ถนนราชดำเนินเป็นสัญลักษณ์

จึงเชื่อได้ว่าการเคลื่อนไหวอันมี “เยาวชนปลดแอก” เป็นผู้จุดประกายเมื่อเดือนกรกฎาคม ประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเดือนกันยายน

จะมีจุดร่วมอย่างแหลมคมในเดือนตุลาคม

เท่ากับเป็นการประสานคนเดือนตุลาคม 2516 คนเดือนตุลาคม 2519 คนเดือนพฤษภาคม 2535 คนเดือนพฤษภาคม 2553 เข้าร่วมกับคนที่ลุกขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

โดยรวมศูนย์ไปยังรัฐธรรมนูญ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

สถานการณ์ตุลาคม

พรรคและนักการเมือง

เบื้องหน้าการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับขบวนการของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในเดือนตุลาคม

เป้าหมายใหญ่ย่อมอยู่ที่ “รัฐธรรมนูญ”

เป้าหมายใหญ่ย่อมมีรากฐานมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และการสืบทอดอำนาจโดย คสช.อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทน

เป้าหมายย่อมอยู่ที่การต่อสู้กับ “ระบอบประยุทธ์”

เดือนตุลาคม 2563 จึงเป็นเดือนอันแหลมคมยิ่ง กลายเป็นคำถามต่อพรรคประชาธิปัตย์ ต่อพรรคภูมิใจไทย ต่อพรรคชาติไทยพัฒนา อย่างสำคัญ

    นั่นก็คือ จะยังรักษา “ระบอบประยุทธ์” อยู่อีกหรือไม่