อนุช อาภาภิรม : ระบาดวิทยาและเมืองของมนุษย์

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (24)
การเป็นเมือง สมรภูมิใหญ่กับไวรัส

เมืองเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม เป็นศูนย์กลางแห่งความมั่งคั่งและอำนาจ ภายในอาณาเขตนี้ผู้ปกครองได้สร้างกฎเกณฑ์และการบังคับบัญชาแก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ แหล่งแร่ และพืชพรรณสัตว์ป่าได้

จนกระทั่งมีการสร้างเรื่องเล่าขึ้นว่า สวรรค์ พระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้มอบให้มนุษย์เป็นผู้ดูแลจัดการโลกนี้

กล่าวในเชิงนิเวศคือเป็นผู้บริโภคสูงสูด แต่จุลินทรีย์มีแบคทีเรีย โปรโตซัว เป็นต้น และไวรัสที่อุบัติมา ก่อนนั้นนานอาจไม่เห็นเช่นนั้น

มนุษย์อาจเข้าแทนที่สัตว์ใหญ่หลายชนิด ตั้งแต่มนุษย์นีอันเดอทัล ช้างแมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ สมัน ไปจนถึงนกโมลา แต่ไม่ใช่แบคทีเรียและไวรัส

ตรงกันข้าม แบคทีเรียและไวรัสกลับข้ามกำแพง และป้อมปราการเข้ามาอาศัยอยู่ในตัวมนุษย์ที่อยู่กันอย่างแออัดในเมือง

บางชนิดก่อโรคระบาดทำให้เมืองและสังคมนั้นอ่อนแอ

จากบางหน้าประวัติศาสตร์ พบว่าโรคจากแบคทีเรียและไวรัส เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้หลายอารยธรรมอ่อนแอล่มสลาย เช่น วัณโรคซึ่งเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (ในปากีสถานปัจจุบัน) ค่อยๆ ล่มสลายในปี 1700 ก่อนคริสตกาล

โรคฝีดาษสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุใหญ่ให้จักรวรรดิโรมันอ่อนแอเสื่อมถอย เรียกกันว่า “การระบาดแอนโทนิน”

ที่ใกล้ตัวเข้ามาคือกาฬโรคเกิดระบาดในยุโรปหลายครั้ง กล่าวกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบฟิวดัลในยุโรปล่มสลายลง

การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับไวรัสโคโรนาใหม่ขณะนี้ มีสมรภูมิใหญ่อยู่ในเมืองโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เป็นการขับเคี่ยวที่จะให้รู้กันไปว่ามนุษย์หรือไวรัสกลุ่มใดจะเป็นผู้บริโภคสูงสุดในระบบนิเวศ และใครจะเป็นผู้กำหนดควบคุมความเป็นไปของเมืองในอนาคต เปรียบเทียบดุลกำลังกันแล้ว พบว่ามนุษย์มีความได้เปรียบเหนือกว่าคนรุ่นก่อนในการรับมือกับไวรัสหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การที่มีจำนวนประชากรมากใกล้ 8 พันล้านคน ในปี 2020 (นับจนถึงเดือนกันยายน) มีผู้เกิดใหม่กว่า 98 ล้านคน เมื่อเทียบกับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ยังไม่ถึง 1 ล้านคน ถือได้ว่าไม่กระทบต่อโครงสร้างประชากรโลกแต่อย่างใด กับทั้งสัดส่วนประชากรเมืองในโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงถึงความคงทนของเมือง

นอกจากนี้ มนุษย์ยังเพิ่มพูนความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ข้อมูลใหญ่ สามารถรู้จีโนมของเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่ได้ในเวลาอันสั้น ไปจนถึงความสามารถในการรักษาและผลิตวัคซีนมาใช้กับสาธารณชนได้ค่อนข้างเร็ว มีระบบการเงินแบบใหม่ที่พิมพ์ธนบัตรออกมาใช้เพื่อการเยีวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไม่อั้น ระบบขนส่งและการสื่อสารที่ใช้งานอยู่ก็มีหลายช่องทางและมั่นคง

พิจารณาจากดุลกำลังข้างต้น ชี้ไปในทางว่ามนุษย์น่าจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ในที่สุด อย่างน้อยในระดับหนึ่ง แต่โควิด-19 ก็มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ได้แก่

ก) เป็นโรคอุบัติใหม่ ผู้คนยังไม่คุ้นทั้งในด้านความรู้และภูมิคุ้มกัน

ข) เป็นโรคติดเชื้อที่ระบาดรวดเร็วและรุนแรง ก่อความเสียหายสูง ประเมินว่าหลายล้านล้านดอลลาร์

ค) พื้นที่โจมตีหลักได้แก่เมืองใหญ่ อันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมมนุษย์

ง) มันเกิดขึ้นยามที่มนุษย์เผชิญกับวิกฤติทั่วด้านฉุดรั้งความสามารถของมนุษย์ในการต่อสู้กับโควิด-19

ภาพทั้งหมดก็คือ มนุษย์ไม่ควรประมาท เพราะว่าตนต้องสูญเสียมาก และแทบไม่มีอะไรจะได้

 

เมือง-ความเข้มแข็งในความอ่อนแอ

เมืองไม่ว่าจะเป็นแบบเก่าหรือเมืองสมัยใหม่มีลักษณะเด่นที่เป็นศูนย์กลางในการนำทาง ตั้งแต่ในระดับชาติ จนถึงจักรวรรดิและโลกาภิวัตน์ มันดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศ หลายชนเผ่าและเชื้อชาติมารวมกัน บ้างด้วยการอพยพ บ้างด้วยการค้า บ้างด้วยสงคราม เกิดการถ่ายเททางความรู้และวัฒนธรรม การแต่งงานข้ามตระกูล เผ่าพันธุ์และเชื้อชาติ เป็นเบ้าหลอมของปฏิสัมพันธ์ของผู้คนจำนวนมากในพื้นที่แคบที่สร้างความคิดริเริ่มอย่างไม่รู้จบและเพิ่มพูนผลิตภาพ หรือความสามารถในการผลิตของชาวเมืองนั้นเป็นอันมาก

ปัจจัยเชิงบวกเหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้เมืองสามารถสะสมความมั่งคั่งพร้อมกับการขยายโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

เปิดโอกาสให้ผู้คนพากันเข้าเมืองเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

จุดแข็งสำคัญของเมืองจึงอยู่ที่สังคม พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน และปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมความคิดริเริ่มและเพิ่มผลิตภาพ ทำให้เมืองสามารถเติบโตขึ้น โดยทั่วไปเมืองจะโตอย่างเห็นได้เมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเมือง (ดูรายงานของ Laura Clark ชื่อ Modern Cities Grow the Same Way As Ancient Ones ใน smithsonianmag.com 02/23/2015 และบทรายงานของ Samuel Arbesman ชื่อ A New Model for Urban Scaling ใน wired.com 28/06/2013 เป็นต้น)

ตั้งแต่โบราณมา เมืองเป็นศูนย์แห่งการริเริ่ม และเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีการเกษตร การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ การหัตถกรรมและอุตสาหกรรม การมีภาษาเขียน ศาสนาและศาสนสถาน การประดิษฐ์กระดาษ เงินตราและเงินกระดาษ ดินปืน เข็มทิศ การแพทย์และสาธารณสุข เครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบอบปกครอง ผู้คนปัจจุบันไม่อาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติได้ หากไม่ใช้สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จากเมือง

แต่ในความเข้มแข็ง เมืองก็มีจุดอ่อนในตัวเองของมัน ที่ทำให้ตัวมันและอารยธรรมของมันล่มสลาย จุดอ่อนเหล่านี้มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่

ก) ในระบบนิเวศที่เปราะบางและมีทรัพยากรจำกัด ไม่มีสิ่งใดจะเติบโตได้ตลอดกาล สิ่งหนึ่งเมื่อเติบโตถึงขีดสุดแล้ว ย่อมเสื่อมถอยลง คติพุทธกล่าวไว้นานแล้วว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” สิ่งที่อุบัติขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว ย่อมดับไป

ข) เมืองสมัยใหม่เติบโตขึ้นก่อนในยุโรป สมัยใหม่นี้เริ่มต้นในปลายศตวรรษที่ 15 (บางคนถือการค้นพบอเมริกาของโคลัมบัสในปี 1492 เป็นจุดเริ่มต้น) เนื่องด้วยพลังขับเคลื่อนหลายอย่างได้แก่ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิรูปศาสนา การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคแห่งการสำรวจ เป็นต้น พบว่าทั้งจำนวนประชากรและเมืองในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถยึดครองดินแดนทั่วโลกเป็นอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม รวบรวมความมั่งคั่งทางวัตถุและผู้คนมายังศูนย์กลาง รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปรัชญาถึงตำรับอาหาร

กรุงลอนดอนและกรุงปารีสเป็นเหมือนนครหลวงโลกที่ผู้คนหลั่งไหลไปอยู่ เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเพิ่มพูนผลิตภาพความเจริญจากยุโรปได้แพร่ไปถึงสหรัฐ ซึ่งขึ้นมาเป็นศูนย์อำนาจโลกใหม่จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่เจริญมาก่อน มักต้องเสื่อมไปก่อน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏความเสื่อมถอยของอารยธรรมตะวันตก เหลือแต่สหรัฐเป็นผู้ค้ำจุนรักษาไว้ ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคม ได้ขยายเมืองและผลิตภาพของตนอย่างเร็ว

ขณะที่ประชากรของตะวันตกและประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มลดลงและแก่ตัวขึ้น การเติบโตขึ้นของประชากรในประเทศดังกล่าวมาจากการอพยพของผู้คนจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า

ในปี 2020 บางสำนักชี้ว่า เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ล้วนอยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นโตเกียว และโอซาก้า แต่มันก็อยู่ในเอเชีย

รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นตัวอย่างความเสื่อมถอยของเมืองที่เห็นได้ มีประชากรราว 40 ล้านคน ถ้าคิดเป็นประเทศ ก็มีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีมหานครได้แก่ ลอสแองเจลิส (ประชากรราว 4 ล้านคน) และเมืองสำคัญ เช่น ซานฟรานซิสโก (ประชากรราว 9 แสนคน) รัฐนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคตื่นทอง (เริ่มปี 1848) มีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาทั่วสารทิศจำนวนหลายแสนคน จนได้สถาปนาเป็นรัฐในปี 1850

การค้นพบน้ำมันในแคลิฟอร์เนีย ได้ทำให้รัฐนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 1903-1930 แคลิฟอร์เนียได้กลายเป็นรัฐที่ผลิตและค้าน้ำมันอันดับต้นของประเทศ มาถึงยุคร่วมสมัย แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่นำหน้าในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมไฮเทค มีซิลิคอน วัลเลย์ นครแห่งนวัตกรรมอันลือชื่อ

แต่ความรุ่งเรืองยาวนานของแคลิฟอร์เนีย ก็ต้องถึงวาระถดถอย ในวันนี้แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐที่ร้อนอ้าว มีภัยแล้ง เกิดไฟป่า หมอกควันปกคลุม โรคระบาด ผู้คนสวมหน้ากากอนามัย ไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ค่าครองชีพสูง โดยมีชนชั้นสูงจำนวนมากอยู่อาศัยตามเมืองชายทะเลและชุมชนในป่าเขาที่ลมสะอาดพัดพา

ในปี 2019 เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่มีผู้อพยพออกจากแคลิฟอร์เนียมากกว่าที่อพยพจากรัฐอื่นเข้ามายังแคลิฟอร์เนีย

ยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด ผู้คนจำนวนหนึ่งได้คิดอย่างจริงจังว่า พวกเขาจะยอมออกจากเมืองในแคลิฟอร์เนียที่อยู่มานานหรือไม่ (ดูบทความของ Heather Kelly และคณะ ชื่อ Warmer. Burning. Epidemic- challenged. Expensive. The California Dreams become the California Compromise. ใน washingtonpost.com 13/09/2020)

ค) กลไกที่ทำให้เกิดขีดจำกัดและความอ่อนแอของเมืองได้แก่ เมืองเติบโตได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ การร่วมมือกัน การแบ่งงานกันทำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมความคิดริเริ่มและผลิตภาพ แต่การปฏิบัติดังกล่าว ยิ่งทำให้เมืองนั้นมีความซับซ้อน ได้แก่ การแบ่งงานกันทำมากขึ้น เกิดวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย มีผู้คนจำนวนมากขึ้นต่างถิ่นต่างบทบาทและการดำเนินชีวิตมากขึ้นขั้นตอนของชีวิตเพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหลากหลาย และปรับเปลี่ยนเร็วขึ้น โครงสร้างและหน่วยงานทางการบริหารปกครองซับซ้อนมากขึ้น

ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยนี้ ถึงขีดหนึ่งจะเกิดภาระและการปฏิบัติที่ทำให้ผลได้ที่ต้องการลดลง เนื่องจากภาระในการต้องนำข่าวสารและทรัพยากรมาป้อนให้เพิ่มมากขึ้น และความยากลำบากในการผลิตสิ่งของเมื่อทรัพยากรนั้นร่อยหรอ หรือต้องใช้วิธีการที่ยาก มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จนทำให้ผู้นำและผู้ปกครองขาดความคิดริเริ่ม ดูคล้ายกับว่าโง่ลง

เป็นที่สังเกตว่าโรคระบาดในอดีตโดยเฉพาะโควิด-19 ขณะนี้ ได้โจมตีจุดแข็งที่สุดของเมืองคือการปฏิสัมพันธ์ และเครือข่ายทางสังคมของมนุษย์ บังคับให้มนุษย์ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

ในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์ทางไซเบอร์ได้อีกทางหนึ่ง แต่เมื่อขาดปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพแล้ว ประโยชน์ของเมืองที่ผู้คนมากหน้าหลายตามาอยู่รวมกันในพื้นที่แคบ ย่อมมีประโยชน์น้อยลงไปมาก มันไม่ใช่เมืองที่เรารู้จัก โควิด-19 จักทำให้เมืองในอนาคตเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมในทางใดทางหนึ่ง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องเมือง ความเหลื่อมล้ำและโควิด-19 เป็นต้น