ฟังทัศนะ “ผู้ใหญ่” เมื่อ “คนรุ่นใหม่” ปักหมุด “ความคิด” กลาง “สนามหลวง”

ผ่านพ้นไปแล้วกับการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ที่จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งสร้างแรงสะเทือนให้สังคมไทย ทั้งจากถ้อยคำปราศรัยบนเวที และการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ผ่านการปักหมุด “คณะราษฎร 2563” ลงกลางสนามหลวง

แม้แกนนำหลักของการชุมนุมจะเป็น “คนรุ่นใหม่” ทว่าก็มี “ผู้ใหญ่” จำนวนมาก ที่เข้ามาร่วมชุมนุมและสังเกตการณ์ในกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และคนเสื้อแดงรุ่นลุงป้าน้าอา

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี มีโอกาสสนทนากับ “ผู้ใหญ่” เหล่านั้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ดังรายละเอียดบางส่วนต่อไปนี้

เริ่มจาก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งบอกมติชนทีวีว่าเขามาร่วมชุมนุม-สังเกตการณ์ในฐานะประชาชน โดยหนึ่งในดาวสภายุคใหม่รู้สึกประทับใจกับความหลากหลายเชิงคุณภาพของผู้ชุมนุมรอบนี้มากเป็นพิเศษ

“ในยุคนี้ ถ้าเราพูดคำว่าจำนวนมันไม่เหมือนกับยุคก่อนแล้ว ยุคนี้ เวลา (พูดถึง) จำนวน เราต้องเอาจากคนที่ (มีส่วนร่วม) จากทางบ้านที่ดูผ่านโซเชียลมีเดียด้วย แล้วคนที่มาสดด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือความหลากหลายของวัย ความหลากหลายของเพศ ความหลากหลายของอาชีพ ความหลากหลายของวิถีชีวิต แต่มารวมกัน

“ซึ่งตรงนี้คือจุดที่ผมแบบทึ่งมากๆ เพราะปกติในยุคนี้ เราจะเห็นว่าการชุมนุมกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นการจำกัดของกลุ่มวัยหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าวันนี้ เรามาเดินดู เราจะเห็นทั้งผู้สูงวัย คนในวัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ วัยรุ่นคนทำงาน วัยกลางคน จนกระทั่งเด็กๆ นักเรียน-นักศึกษามารวมตัวกัน

“นี่คือความงดงามของประชาธิปไตย เราน่าจะอ้างได้ว่านี่คือเสียงเรียกร้องของประชาชนในภาพรวมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ขณะที่ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” จากคณะก้าวหน้า ซึ่งประกาศชัดเจนว่าตนเองเป็น “ผู้ชุมนุม” คนหนึ่ง ก็เชื่อว่าสถานการณ์ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของประชาธิปไตยไทย

“วันนี้เป็นวันที่ทุกคนน่าจะรู้ซึ้งอยู่แก่ใจแล้วว่า อนาคตของประเทศฝากไว้ที่มือพรรคการเมือง นักการเมืองคนใดคนหนึ่งไม่ได้แล้ว วันนี้ผู้ที่ขับเคลื่อนประเทศนี้ไป เริ่มจากนิสิต นักศึกษา นักเรียนที่มีความกล้าหาญ กล้าพูดถึงปัญหาที่แท้จริงของประเทศ

“และวันนี้ เรา-ประชาชน ในฐานะเป็นคนเท่าเทียมกันหมด มาช่วยกันคนละแรงคนละมือ คนละพลัง มาผลักดันกงล้อของประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนไปข้างหน้า

“วันนี้ ช่อเชื่อว่าเป็นหนึ่งในวันที่สำคัญ เป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์ใน 88 ปีของประชาธิปไตยไทย และวันนี้เรามาไกลที่สุด อยากจะให้มาร่วมกันผลักดันให้มันไปข้างหน้า เพื่อถึงจุดหมายของประชาธิปไตยเร็วขึ้น”

ทางด้าน “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บข้อมูลเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง ก็กล่าวถึง “การก้าวกระโดดทางการเรียนรู้” ในสองระนาบสำคัญ

“ครั้งนี้ต้องบอกว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็น learning curve หรือว่าการก้าวกระโดดของการเรียนรู้ของคนที่มาม็อบ โดยเฉพาะเยาวชน

“เท่าที่สัมภาษณ์มาวันนี้ ประมาณ 6-7 คนแล้ว ทุกคนมา (ม็อบ) เป็นครั้งที่สองและสามแล้ว การเตรียมตัว การเข้าใจกับเรื่องประเด็น ความกล้าที่จะแสดงออกและพูดถึงปัญหาของคนแต่ละคน มันแตกต่างจากเมื่อ 7-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เขาเข้าร่วมม็อบครั้งแรกมาก

“ก็ต้องบอกว่ามันมีกระบวนการเรียนรู้ที่ประเด็นที่เขาเคยมาเรียกร้อง เขาเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนของเขา ไม่ว่าจะเป็นประเด็น LGBT ประเด็นคนท้องก่อนแต่ง ประเด็น sex worker ประเด็นเรื่องการศึกษาในหลายระดับชั้น แล้วก็ปัญหาเชิงโครงสร้าง เราเห็นการก้าวกระโดดของกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนที่มาเข้าร่วม”

ดร.กนกรัตน์กล่าวถึงการก้าวกระโดดในฝั่งคนรุ่นใหม่ ก่อนจะตั้งความหวังถึงการก้าวกระโดดทางการเรียนรู้ของสังคมไทยโดยรวม

“ดิฉันคิดว่ามาถึงจุดนี้หลังจากเราผ่านการเมืองเหลือง-แดงมาแล้ว เราผ่านความขัดแย้งกันมามาก ดิฉันคิดว่าวุฒิภาวะของทั้งเยาวชนและเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็ผู้มีอำนาจ รวมทั้งผู้สนับสนุนทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงในอดีต ที่ทั้งเชียร์ ทั้งไม่เห็นด้วย เรากำลังเจอบททดสอบอันใหม่ว่าเราจะมีวุฒิภาวะต่อความขัดแย้งนี้มากขึ้นไหม

“เพราะครั้งนี้มันคือลูกหลานของเราแล้ว มันคือ “เงา” ของเรา เราจะอยู่กับเขายังไง ดิฉันคิดว่าเหตุการณ์วันที่ 20 (หมายเหตุ-สัมภาษณ์ช่วงค่ำวันที่ 19 กันยายน) จะเป็นบทพิสูจน์ learning curve ของสังคมไทยทั้งสังคม ว่าเราเรียนรู้อะไรจากความขัดแย้งตลอดสิบปีที่ผ่านมาบ้าง”

มาทางฝั่ง “คนเสื้อแดง” หรือแนวร่วม นปช. ซึ่งพาเหรดเข้ามาร่วมชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน อย่างคึกคัก

โดยทีมข่าวมติชนทีวีมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนคนเสื้อแดงบางราย เริ่มต้นด้วย “ชายเสื้อแดงซึ่งเป็นผู้พิการ” ที่วิจารณ์การทำงานอันบกพร่องของรัฐบาลอย่างหนักหน่วง

“เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็รู้ๆ อยู่ ก็แบบว่าคลาดเคลื่อนเละเทะไปหมดเลย ขอให้ลาออกเถอะ เศรษฐกิจตอนนี้เละเทะ บ้านเมืองตอนนี้เละเทะหมดแล้ว ขนาดผู้พิการ เงินเยียวยาก็แทบจะไม่ได้ ก็คลาดเคลื่อน เงินเบี้ยรายเดือนก็คลาดเคลื่อน ของผู้สูงอายุก็คลาดเคลื่อน พูดง่ายๆ กลุ่มเปราะบางน่ะคลาดเคลื่อน”

ส่วน “สตรีคนเสื้อแดง” อีกราย ผู้สวมเสื้อยืดสีดำพร้อมข้อความ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ก็กล่าวว่า เธอและเพื่อนๆ นั้นเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ปี 2550 จนมาถึงการเป็นผู้สนับสนุนให้น้องๆ รุ่นใหม่ในปี 2563

“ตอนที่เราชุมนุม เราก็เรียกร้องข้อนี้อยู่แล้ว ให้นักศึกษามาช่วยพวกเรา ตอนนี้นักศึกษาออกมาแล้ว เราก็ต้องช่วยน้องๆ เป็นกำแพงให้น้องๆ น้องเขาพูดดี ที่น้องพูดมาถูกทุกอย่างเลย เราเห็นด้วยกับน้อง

“พวกเราสนับสนุนน้องเต็มที่ เพราะน้องๆ คืออนาคตของชาติ เผลอๆ น้องๆ ที่ขึ้นเวทีอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี (ในวัน) ข้างหน้าก็ได้ พวกเราสนับสนุนน้องตลอดค่ะ น้องไปตรงไหน เราไปตรงนั้น กระทรวงศึกษาธิการ เราก็ไปมาแล้ว 2 รอบ น้องไปตรงไหน เราไปตรงนั้น ทุกจุดที่น้องไป

“เพราะเราก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ทั้งลูกปืนทั้งอะไร แก๊สน้ำตงแก๊สน้ำตาเราผ่านมาหมดแล้ว เราไม่กลัวแล้วค่ะ”

เช่นเดียวกับ “ชายเสื้อแดงวัย 70 ปี” ที่มองเห็นความหวังเรืองรองจากการต่อสู้ของบรรดาเยาวชนคนรุ่นหลัง

“ที่มาร่วมกับนักศึกษาเพราะพวกเราต่อสู้มานานแล้วไม่เคยชนะ ไม่เคยรู้เรื่อง แต่ตอนนี้คิดว่าน่าจะมอง (เห็น) แสงสว่างของประชาธิปไตยได้ เพราะเด็กกล้าพูด สิ่งที่เรารู้แต่เราไม่กล้าพูด แต่เด็กกล้าพูด เราถึงมาร่วมให้กำลังใจ เราอยู่ไม่เกิน 20 ปีแล้ว แต่เด็กพวกนี้ยังอยู่นาน 40-50 ปี เพราะฉะนั้น ต้องฝากประเทศไว้กับพวกลูกๆ หลานๆ นักศึกษา ให้เป็นนักต่อสู้”

ภายหลังการชุมนุมยุติลงในช่วงสายๆ ของวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน ทีมข่าวมติชนทีวีขอให้ “ผู้ใหญ่” ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมกับ “คนรุ่นใหม่” ช่วยประเมินผลลัพธ์ของกิจกรรมการเคลื่อนไหวรอบล่าสุด

“รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ” อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินผลงานของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในด้านบวก

“ก็ถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คือเป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ แล้วก็ไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำบนเวทีปราศรัยที่หยาบคาย ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง อย่างที่หลายฝ่ายเคยปรามาสเอาไว้ เราเห็นถึงการนำการชุมนุมของนักศึกษากลุ่มนี้ ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

“รวมไปถึงว่าการพยายามที่จะผลักดันข้อเรียกร้องของพวกเขา ซึ่งคิดว่ามันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นใจกลางของปัญหาสังคมไทย (ให้) ได้ขยับไปในระดับหนึ่ง แล้วก็สามารถที่จะยื่นข้อเสนอให้กับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่การต่อรองหรือการคลี่คลายปัญหาร่วมกันต่อไป”

คล้ายคลึงกับ “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประเมินว่าความสำเร็จของการชุมนุมครั้งนี้คือการโยนความคิดใหม่ให้สังคมร่วมกันพิจารณา

“ทุกข้อเรียกร้องเป็นข้อเรียกร้องที่เสนอขึ้นมาโดยฝ่ายนักเรียน-นักศึกษาฝ่ายเดียว ก็ต้องหาฉันทามติร่วมกันในสังคม มันก็เป็นการโยนไอเดียออกมา สังคมจะว่ายังไง ไม่ใช่ว่า (เสนอ) ข้อเรียกร้องทุกอย่างแล้วมันต้องได้ สังคมจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องไหนมากที่สุด และอันไหนเป็น priority (ลำดับความสำคัญ) แรกๆ ที่ควรจะต้องเปลี่ยน มันก็ต้องหาฉันทามติ

“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโยนข้อเรียกร้องให้สังคมร่วมกันใช้ดุลพินิจด้วยกันตามระบอบประชาธิปไตย เท่าที่เห็น ข้อเรียกร้องก็ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”