วิเคราะห์ : NEXT STATION ? จาก “สนามราษฎร” สู่ “สัปปายะสภาสถาน”

การชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และแนวร่วม ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน

มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

ในฝั่งฟากฝ่ายอนุรักษ์ และเอียงขวา ประเมินไปในทางล้มเหลว

ทั้งจำนวนคนที่เข้ามาร่วมชุมนุมในระดับหมื่นต้นๆ

ขณะที่ข้อเรียกร้องสับสนไม่ชัดเจน

มีเป้าหมายเพียงต้องการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้แนวร่วมจำนวนหนึ่งชิงถอนตัวออกมา

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเห็นว่า หลายๆ อย่างปรากฏออกมาให้เห็นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมจะตัดสินและวิเคราะห์กันเอง

“สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากพวกเรา ไม่มีใครแพ้ชนะ แต่สิ่งที่จะตามมาคือประเทศชาติเราจะเสียหาย ผมเป็นกังวลตรงจุดนั้นมากกว่า”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แตกต่างจากนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นำมวลชนจากการประเมินในฝั่งฟากผู้ชุมนุม 2 แสนคน เคลื่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสู่สนามหลวง

พร้อมประกาศว่านี่คือสนามของราษฎร พร้อมกับได้ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฏร 2563 ณ ที่แห่งนั้น

และได้ส่งแกนนำไปยื่นหนังสือ ผ่านไปยังทำเนียบองคมนตรี เพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

นายพริษฐ์ประกาศก่อนยุติการชุมนุมวันนั้นว่า นี่เป็นชัยชนะของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว โดยชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นศึกแรก และชัยชนะครั้งนี้จะอยู่บนแผ่นดินนานยิ่งกว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง

พร้อมประกาศอีกว่า ชัยชนะครั้งต่อไป คือวันที่ 24 กันยายน โดยขอให้ไปที่รัฐสภาซึ่งจะมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไปดูว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.แบบพวกมากลากไปหรือไม่

จากสนามราษฎร จึงมีหมุดหมายต่อไปคือ สัปปายะสภาสถาน

ทั้งนี้ ก่อนถึงวันพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 23 กันยายน

องค์กรแนวร่วม กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม คือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ถือฤกษ์วันที่ 22 กันยายน เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน มายังรัฐสภา เกียกกาย

เพื่อนำรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อ ส่งให้รัฐสภาเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชน ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ในประเด็น

1. ที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น

2. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

3. เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่

4. เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5. ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่ง ส.ส.ร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

แกนนำที่ร่วมขบวนมาในวันนั้น อาทิ นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ไอลอว์ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี คณะประชาชนปลดแอก

นายนิมิตร์เรียกร้องว่า กระบวนการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนควรจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 วัน หรือเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สามารถพิจารณาได้ทันในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ พร้อมกับร่างของพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะไม่ขานรับ

โดยแจ้งว่า ไม่สามารถบรรจุเข้าญัตติเข้าพิจารณาได้ทันในการประชุมวันที่ 23 กันยายน เพราะจะต้องตรวจสอบความถูกต้องทั้ง 5 หมื่นรายชื่อก่อนว่ามีความถูกต้องหรือไม่ คาดว่าจะนำเข้าสู่วาระได้ในการประชุมสภาสมัยถัดไป

น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ได้แสดงความกังวลต่อท่าทีนี้

โดยบอกว่า ไอลอว์ในฐานะผู้รับผิดชอบรวบรวมรายชื่อประชาชนกระทั่งได้ยอดเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์มาเกิน 100,000 รายชื่อ ซึ่งมากกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดกว่าสองเท่า

ดังนั้น ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า เมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วอาจเหลือรายชื่อไม่เพียงพอ ซึ่งไม่น่ากังวลแม้แต่น้อย เพราะหากมีเอกสารบางฉบับที่ไม่สมบูรณ์ก็ยังมีเอกสารที่สมบูรณ์เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดอีกมาก

“ขั้นตอนทางเทคนิคไม่ควรเป็นอุปสรรค หากทางรัฐสภาจริงใจที่จะรับฟังข้อเสนอจากประชาชน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแก้ปัญหาทางเทคนิคเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอชุดนี้เพื่อดำเนินการไปพร้อมกับข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีทางเลือกอยู่หลายช่องทาง เช่น การลงมติงดใช้ข้อบังคับบางประการเพื่อรับพิจารณาข้อเสนอของประชาชนก่อน หรือการเร่งตรวจสอบรายชื่อให้เร็วที่สุดแล้วเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอของประชาชนได้” น.ส.จีรนุชระบุ

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีเสียงขานรับจากนายชวนและสภา

ซึ่งตรงนี้คงทำให้บรรยากาศในสภาและมวลชนข้างนอกระอุเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในภาคประชาชนย่อมรู้สึกว่า อะไรที่มีจุดเริ่มต้นจากประชาชน มักจะมีขั้นตอนและการตรวจสอบยุ่งยาก

กว่าจะเบียดเข้าไปชิงพื้นที่ ต้องมีอุปสรรคตลอด

และยิ่งจะ “ดุเดือด” ขึ้น หากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องเฉพาะของพรรคการเมือง

หากพลิกผันไปจากเสียงเรียกร้องของประชาชน หรือแตกหักด้วยการคว่ำการแก้ไขครั้งนี้

อาจเป็นเงื่อนไขให้ “มวลชน” รวมตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง

ทําให้ขณะนี้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับการบรรจุเพื่อการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว 6 ร่าง

1 ร่างเป็นญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล

1 ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่มี “พรรคก้าวไกล” ร่วมลงชื่อ

ทั้ง 2 ร่างเป็นการเสนอแก้มาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ เหมือนกัน

จะต่างกันในเรื่องที่มาของ ส.ส.ร. และระยะเวลาในการยกร่าง รธน.ใหม่ของ ส.ส.ร.

โดยร่างของฝ่ายรัฐบาลให้เวลา 240 วัน

ส่วนของฝ่ายค้านแค่ 120 วัน

ส่วนอีก 4 ร่าง ยื่นโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี “พรรคก้าวไกล” เข้าร่วมด้วย

ประกอบด้วย คือ

1. แก้ไขมาตรา 272 และมาตรา 159 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และเพิ่มเติมในมาตรา 159 ว่า นายกฯ นอกจากเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย ซึ่งเป็นการปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก

2. แก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย

3. แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่ทำให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

และ 4. แก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้แบบมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มการลงมติแล้ว

ต้องโฟกัสไปที่การประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา

ที่กำหนดกรอบการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ในวันที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 23-24 กันยายนนี้

โดยแบ่งเวลาการอภิปรายให้ 3 ฝ่ายคือ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา อย่างละเท่าๆ กันคือ ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที

ให้ยุติการอภิปรายในเวลา 18.00 น. วันที่ 24 กันยายน

ส่วนการลงมติที่ใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล โดยแต่ละคนจะกล่าวในครั้งเดียวว่า จะลงมติรับหรือไม่รับ 6 ญัตติดังกล่าว

ซึ่งในส่วนสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาล คงรับร่างที่ 1 ของตนเอง เพื่อลดแรงกดดันกระแสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

แล้วค่อยไปเล่นแท็กติกจำกัดขอบเขตการแก้โดยจะไม่แตะต้องหมวดที่ 1 และ 2

และใช้การ “ซื้อเวลา” ด้วยเพราะต้องมีกระบวนการขั้นตอนอีกยาวนาน ทั้งการทำประชามติ การตั้ง ส.ส.ร. แล้วหวนกลับมาให้รัฐสภาเห็นชอบอีก

ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 ปี

ส่วนอีก 5 ร่างของฝ่ายค้านนั้น คงไม่รับ

ซึ่งก็ต้องรอดูว่า ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล วุฒิสมาชิก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จะเอาด้วยหรือไม่

ถ้าไม่มีการเปิดสวิตช์แก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ซึ่งนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. ยอมรับว่า จนถึงวันนี้เสียง ส.ว.ยังเสียงแตกอยู่ จึงอยากหาทางออกร่วมกัน พบกันครึ่งทางตรงไหนที่ลงตัว

จึงมีกระแสข่าว ส.ว.จะเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างทั้ง 6 ร่างก่อน

หากเป็นเช่นนั้น ก็จะถูกมองจากฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการถ่วงเวลา

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีก

นี่จึงอาจจำเป็น ที่ฝ่ายกุมอำนาจคือ นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร

เพราะหากปล่อยให้รัฐสภาขับเคลื่อนกันเอง ยากที่จะหาทางออก

และพลอยจะดึงให้มวลชนนอกสภาเข้ากดดันให้ปั่นป่วนขึ้น

จึงมีแนวโน้มว่า วุฒิสภาส่วนใหญ่จะลงมติไปในทางเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาล

ซึ่งแน่นอน คงไม่เป็นที่พอใจกับมวลชนภายนอกที่รณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้เปิดกว้างและดำเนินกระบวนการแก้ไขโดยเร่งรัด พร้อมทั้งนำร่างแก้ไขฉบับประชาชนเข้ามาร่วมพิจารณา

และคงเพิ่มแรงกดดันมายังรัฐสภาอย่างหนักแน่นอน

อันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล วุฒิสมาชิก และมวลชนกลุ่ม “ไทยภักดี” ที่รณรงค์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะที่จะเกี่ยวเนื่องไปถึงหมวดพระมหากษัตริย์

นี่จึงทำให้สมรภูมิ สัปปายะสภาสถาน มิอาจ “สงบนิ่ง” ได้

ตรงกันข้าม กับทวีความร้อนระอุยิ่งขึ้นทุกขณะ

และไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะหาจุดร่วมกันได้หรือไม่

หรือทั้งฝ่ายในรัฐสภา และนอกสภา อาจต้องระเบิดศึกต่อกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!