ธงทอง จันทรางศุ | “สมเด็จ”

ธงทอง จันทรางศุ

กิจวัตรยามเช้าของผมทุกวัน คือการอ่านหนังสือพิมพ์สองฉบับ

แน่นอนว่าหนึ่งในสองนั้นคือหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ส่วนอีกหนึ่งฉบับ ถือเสียว่าเอาไว้อ่านข่าวบันเทิงหรือข่าวการเมืองต่างมุมมองก็แล้วกัน

เมื่อวานนี้เห็นอะไรผ่านตาจากหนังสือพิมพ์อีกหนึ่งฉบับที่ว่า เลยทำให้ได้ประเด็นมาคุยกันวันนี้ครับ

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานข่าวกิจกรรมการเทศน์มหาชาติที่พุทธมณฑล

เนื้อข่าวบอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้เดินทางไปรับเสด็จสมเด็จพระวันรัต ผู้เป็นประธานในงานเทศน์มหาชาติดังกล่าว

สังเกตเห็นไหมครับว่า ผู้เขียนข่าวใช้คำว่า “รับเสด็จ” สมเด็จพระวันรัต

ข้อนี้ก็น่าเห็นใจอยู่ เพราะผู้คนทั้งหลายพอเห็นคำว่า “สมเด็จ” นำหน้านามของท่านผู้ใดก็ต้องนึกว่าผู้นั้นต้องเป็นเจ้านายขึ้นมาทันที เมื่อเป็นเจ้านายก็ต้องใช้ราชาศัพท์สิ แล้วจะผิดพลาดที่ตรงไหน

ขออนุญาตเชิญชวนท่านทั้งหลายไปรื้อค้นคำว่า “สมเด็จ” เสียก่อน ว่าคำนี้แปลว่าอะไรหรือหมายความว่าอย่างไร

น่าแปลกใจครับที่เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ปรากฏว่าพจนานุกรมไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ในสารบบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องไปแสวงหาที่พึ่งอื่นซึ่งพึ่งได้เสมอมา นั่นคือไปค้นหาความรู้จากหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ ฉบับพิมพ์ขององค์การค้าคุรุสภา เมื่อพุทธศักราช 2505 ซึ่งมีอยู่ติดบ้าน ในเล่มที่ 17 หน้า 42 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายคำว่าสมเด็จไว้ว่า

“คำว่า “สมเด็จ” ดูใช้ในที่หมายความว่า “เป็นอย่างยอด” ใช้ประกอบกับยศบุคคลชั้นสูงสุดหลายชนิด เช่นว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระเจ้าพี่นาง (และน้องนาง) เธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จเจ้าพระยา และสมเด็จพระราชาคณะ ล้วนหมายความว่าเป็นยอดในบุคคลชนิดนั้น คำ “สมเด็จ” มิใช่ภาษาไทยและไม่ปรากฏว่าไทยพวกอื่นใช้ นอกจากไทยกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานได้ว่า คำสมเด็จมาจากเขมร ปรากฏใช้นำหน้าพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกฎหมายมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง”

ทรงอธิบายย่อหน้าเดียวอย่างนี้ตรงประเด็นเป็นที่สุดแล้วครับ ที่ผมจะขออนุญาตไขความเพิ่มเติมสำหรับคนยุคปัจจุบัน คือจากพระอรรถาธิบายข้างต้น

คำว่าสมเด็จอาจนำไปใช้นำหน้าบุคคลชั้นยอดสามกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรก ได้แก่ เจ้านายในพระราชวงศ์

กลุ่มที่สอง คือขุนนางข้าราชการ

และกลุ่มที่สาม คือพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์

กรณีการใช้คำว่า “สมเด็จ” นำหน้าพระราชอิสริยยศหรือพระอิสริยยศพระราชวงศ์ หรือประกอบเข้าในศัพท์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศเจ้านาย ยังเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่ทั่วไป ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลปัจจุบัน ทุกพระองค์ทรงมีฐานะเป็นเจ้านาย ซึ่งต้องใช้ราชาศัพท์อยู่เป็นปกติสามัญแล้ว มิใช่โดยเหตุที่นำคำว่าสมเด็จมาประกอบพระราชอิสริยยศหรือพระอิสริยยศแต่อย่างใด

อย่าลืมว่าเจ้านายที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จ เราก็ใช้ราชาศัพท์กับท่านด้วยนะครับ

ลองมาดูกลุ่มที่สองบ้างครับ กลุ่มนี้ผู้ที่เป็นยอดสุดของขุนนางมาแต่กาลก่อน คือผู้ดำรงบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยา ขุนนางแต่เดิมมา เมื่อรับราชการมีความดีความชอบ ก็ได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นผู้น้อยเป็นชั้นผู้ใหญ่ขึ้นมาโดยลำดับ เรียกบรรดาศักดิ์เหล่านั้นว่า พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา

บรรดาศักดิ์เหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว มาถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเติมบรรดาศักดิ์ชั้นยอดสุดขึ้นอีกหนึ่งลำดับคือสมเด็จเจ้าพระยา มีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระองค์แรก

ส่วนอีกสามองค์ต่อมาล้วนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาผู้อยู่ในสายสกุลบุนนาคทั้งสิ้น

สังเกตไหมครับ ว่าผมใช้คำว่า “องค์” เป็นลักษณนามของผู้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา เรื่องนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยานั้น โดยหลักแล้วยังมีฐานะเป็นสามัญชนมิได้เป็นเจ้านายขึ้นมา

เช่น เรากล่าวว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางไปจังหวัดราชบุรี บ้านพักของท่านที่เมืองนั้นก็ไม่ได้เรียกว่าวังหรือตำหนัก หากแต่เรียกว่าทำเนียบ แต่มีความนิยมที่จะนำราชาศัพท์บางคำมาใช้กับสมเด็จเจ้าพระยา เช่นคำว่าองค์ที่กล่าวมาแล้ว หรือคิดศัพท์ขึ้นมาใหม่ ด้วยตั้งใจจะยกย่องเป็นพิเศษ เป็นคำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ศัพท์เฉพาะว่า พระประศาสน์ เป็นต้น

โดยรวมแล้วท่านยังมีฐานะเป็นคนอยู่ครับ แต่เป็นสามัญมนุษย์ที่ได้รับยกย่องเป็นพิเศษในเรื่องถ้อยคำเป็นบางกรณี

บ้านเราไม่มีธรรมเนียมการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์มาช้านานแล้ว คนทั้งหลายจึงหลงลืมเรื่องนี้ไปเป็นอันมาก แต่ที่เมืองเขมรเขายังมีอยู่ คนทำความดีความชอบก็ได้รับแต่งตั้งเป็นออกญา ซึ่งน่าจะเทียบเท่ากันกับพระยาบ้านเรา

ผมเดินทางไปพนมเปญเมื่อสองสามปีก่อนยังได้พบกับออกญาหลายท่าน พบปะกันแล้วรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจดีมาก

เหนือชั้นกว่าออกญาขึ้นไป จะเป็นอะไรได้นอกจากการนำคำว่าสมเด็จประกอบเข้ากับราชทินนามกับชื่อของท่าน เช่น สมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งถ้าเรียกให้เต็มยศก็ต้องกล่าวว่าสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน หรือสมเด็จเจียซิม ผู้มีนามเต็มว่า สมเด็จอัครมหาธรรมโพธิศาล เจียซิม เป็นต้น

ฟังแล้วนึกถึงพระยาเดโชในพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วงขึ้นมาเลยทีเดียว

ใครจะนึกว่าพระยาเดโชตัวจริงยังเดินเล่นอยู่ที่กรุงพนมเปญอยู่เลย

ด้วยคำอธิบายที่ชักแม่น้ำทั้งห้ามาข้างต้น สมเด็จฯ ฮุน เซน จึงไม่ใช่เจ้านาย และไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ ขณะที่เมื่อเรากล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กรณีนั้นท่านเป็นเจ้านายและเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราย่อมใช้ราชาศัพท์กับท่านเป็นธรรมดา

 

เมื่อตอนที่ฮุน เซน ได้เป็นสมเด็จใหม่ๆ มีเพื่อนของผมบางคนรู้สึกหงุดหงิด มาถามผมว่า ฮุน เซน จะยกตนขึ้นเป็นเจ้าหรืออย่างไร คำตอบจากผมก็คือ เขาเพียงแค่อยากเป็นสมเด็จเจ้าพระยาเท่านั้น อธิบายอย่างนี้ก็พอเข้าใจกันนะครับ

คราวนี้หมายถึงกลุ่มที่สามบ้าง คือกลุ่มพระราชาคณะ

พวกเราย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าพระภิกษุที่ดำรงอยู่ในสมณธรรม พระเจ้าแผ่นดินของเราย่อมทรงยกย่องตั้งไว้ในฐานะเป็นพระราชาคณะ มีลำดับชั้นตั้งแต่พระราชาคณะชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นรองสมเด็จ และชั้นสมเด็จตามลำดับ เหนือกว่าพระราชาคณะชั้นสมเด็จขึ้นไปก็มีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขของคณะสงฆ์ เฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้นละครับ ที่ทรงยกย่องและสถาปนาให้มีพระอิสริยยศอย่างเจ้านาย และใช้ราชาศัพท์เสมอด้วยพระองค์เจ้า

ส่วนสมเด็จพระราชาคณะ แม้มีจำนวนน้อยไม่เกิน 10 รูป ซึ่งต้องถือว่าเป็นอย่างยอดของคณะสงฆ์แล้ว เช่น สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระธีรญาณมุนี หรือสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ แต่ท่านเหล่านั้นก็มิได้มีฐานะเป็นเจ้านาย ยังคงใช้ถ้อยคำหรือศัพท์สำหรับพระภิกษุตามปกติ เช่น ฉัน จำวัด เดินทาง อาพาธ หรือแม้แต่มรณภาพ

ไม่พึงใช้คำว่า เสวย บรรทม เสด็จ ประชวร หรือสิ้นพระชนม์ ในทุกกรณี

ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระวันรัตท่านเดินทางไปเป็นประธานในงานเทศน์มหาชาติ ท่านไม่ได้เสด็จไป ตามหลักที่ว่ามาข้างต้น จึงไม่ต้องรับเสด็จแต่อย่างใด

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้