อัญเจียแขฺมร์ : แด่ หนุ่มสาว (3)

อภิญญ ตะวันออก [email protected]

ณ สุสานแห่งขนบฝัน

หากย้อนกลับไปในช่วงการปฏิวัติของนักปัญญาวรรณกัมพูชาครั้งแรก คือ “ปฏิวัติร่ม” ในปี ค.ศ.1942 ของกลุ่มพระภิกษุกัมพูชาที่นำโดยพระปลัดเหมเจียว กลุ่มก่อตั้งหนังสือหนังสือพิมพ์นครา, ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากสถาบันพุทธศาสนบัณฑิต ต้นทางการรวมตัวของกลุ่มปัญญาชนแขฺมร์ยุคแรกที่จบลงด้วยการถูกกวาดล้าง

กระนั้น ปัญญาชนนักเคลื่อนไหวกิจกรรมการเมืองเขมรกลุ่มนี้ ก็มีสภาพถูกกระทำไม่ต่างจากยุคเขมรแดงในอีกต่อมา

กล่าวคือ เบื้องต้น พวกเขาถูกไล่ล่า จับกุม แลจำต้องยุติบทบาทการเมือง ตามนโยบายการเมืองแบบที่มาพร้อมกับองค์กรลับ ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะยึดโยงกับอำนาจฝ่ายใดหรือไม่ ก็มีโชคชะตาที่จบลงด้วยการถูกกวาดล้างทั้งสิ้น

และการกวาดล้างจากทางการและโดยองค์กรลับนี้เอง ที่จะเห็นว่า กลายเป็นรูปแบบของการกำราบศัตรูฝ่ายตรงข้ามอย่างเหี้ยมโหด โดยเฉพาะกลุ่มชนผู้แสวงหาความรู้ ซึ่งมีอยู่ในวิสัยการเมืองกัมพูชาราวกับเป็นรากเหง้า

กล่าวคือ สถาบันใดหรือใครก็ตามที่ขึ้นมาปกครอง พวกเขาจะใช้องค์กรลับหรือพลวัตทางอำนาจของฝ่ายตรงกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้ความปรานี ตัวอย่าง “ปีสังคม” ในสมัยสมเด็จสีหนุ ก็ทรงใช้ตำรวจลับล่าประกบติดตาม และถึงขั้นสังหารผู้เห็นต่าง พร้อมๆ กับองค์กรลับที่เติบโตโดย ลอน นอล และเติบโตต่อมาจนถึงยุคเขมรแดง

พวกคนหนุ่มเขมรจึงวนเวียนอยู่ในการล่าฝัน เข้าร่วมจลาจลและขบวนการต่อสู้ทางการเมือง

ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เผชิญกับฝันร้ายที่ต้องเป็นฝ่ายหลบหนี

 

ย้อนขึ้นไปไกลกว่านั้นสักครึ่งทศวรรษ

ตั้งแต่การก่อรัฐประหารในพระกษัตริย์พระบาทนโรดม (1860-1904) ผู้ทรงถูกลดฐานะอำนาจจากปกครองเขมรที่ก่อรัฐบาลอินโดจีน ทรงต่อต้านในแบบขัตติยะไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวต่อต้านของพระองค์เจ้าดวงจักรโอรสองค์รอง ซึ่งก่อการประท้วงฝรั่งเศสที่จบลงด้วยถูกไปคุมขังที่ประเทศแอลจีเรียจนสิ้นชีพิตักษัยที่นั่น โดยมีหลักฐานวินิจฉัยว่าเป็นโรคพิษน้ำจัณฑ์

ไม่กี่ปีจากนั้น คือ ค.ศ.1900 พระบาทนโรดมยังทรงอริยะขัดขืนโดยส่งพระองค์เจ้ายุคนธอร์ โอรสองค์โตไปฝรั่งเศสที่จบลงด้วยการหนีและลี้ภัย และสิ้นชีพิตักษัยที่กรุงเทพฯ

ทั้งที่ไม่มีพิษสง แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับเกรงว่า จะปลุกระดมพระสงฆ์แขฺมร์ทั้งในสยาม ตามพรมแดน ตลอดจนเขตพระตะบองก่อการกบฏ

ลำพังกรณีเจ้าชายดวงจักร ซึ่งเล่ากันว่ามีอุปนิสัยนักเลงนั้น ดูจะไม่เป็นที่จดจำ แต่กรณีเจ้าชายยุคนธอร์ซึ่งแตกฉานความรู้ด้านบาลีและการศึกษาแบบตะวันตก จึงน่าจะเป็นปัญญาชนเขมรคนแรกๆ ที่ถูกกำราบจากทางการและโคตรวงศ์เดียวกัน

ลำพังถูกพระบิดาส่งไปเผชิญหน้าศัตรูแต่เดียวดายก็แสนจะรันทดไม่น้อย ยังผจญกับข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ถูกกีดกันจากฐานันดรที่ทรงต่อสู้เรียกร้องคืนจากฝรั่งเศสและพระปิตุลาที่รวมหัวกันต่อต้าน โดยอาศัยจวนน์ขุนนางรับสนองนโยบาย

แต่ผ่านมาถึงจวนน์ยุคหลาน ที่ต่อต้านระบบวรรณะทุกลำดับชั้น เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ปรากฏการณ์จวนน์หลานทั้งสี่ผู้มีการศึกษานี้ อาจกล่าวว่า นี่คือปัญญาชนเขมรยุคที่ 2 ซึ่งเป็นยุคการศึกษาใหม่ อันต่างจากสมัยเหม เจียว-ยุคนธอร์

ที่อาศัยปรัชญาทางพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือแก้ข้อกล่าวหาความเป็นอนารยชน

 

ในฐานะล่ามผู้เคยร่ายสุนทรพจน์แก่ พล พต ในช่วงรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยนั้น พยาน TCW-694 มักให้การที่เต็มไปด้วยข้อมูลพื้นฐาน

ขณะที่ทนายโจทก์กลับต้องการเพียงคำตอบสั้นๆ ว่า “ใช่” หรือ “ไม่” แต่ ซวง ซีเกือน ไม่สามารถทำได้

พยานปากนี้ มักพรั่งพรูแต่ข้อมูลที่ได้ผ่านการเรียบเรียงในแบบปัญญาชน ทว่า มันไม่ตรงกับสำนวนที่ทนายผู้ซักค้านต้องการคำตอบ

เผยให้เห็นถึงลักษณะนักคิดที่ชอบถกเถียงและรักการโต้แย้งอันเป็นอุปนิสัยหนึ่งของ ซวง ซีเกือน และว่า นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงตกหลุมรักและแต่งงานกับ ลอเรนซ์ พิกก์ สตรีผู้เต็มไปด้วยมีอุปนิสัยเปิดเผย รักการโต้แย้ง และไม่รู้จักเก็บงำความคิด

อีกย้ำให้เห็นว่า ทำไม ซวง ซีเกือน จึงมีอุปนิสัยให้เกียรติสตรีหัวก้าวหน้าทั้งความคิดและการศึกษา เห็นจาก มาดามเอียง ทีริต บุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของตน ที่เขาให้การเคารพเสมือนญาติคนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีศาสตราจารย์สุภาพสตรีผู้สอนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ เนลสัน แมนเดลลา แห่งพรรคคองเกรสแห่งชาติแอฟริกาใต้ (ANC) จนกลายเป็นต้นแบบของการต่อสู้ที่เขาให้ความสนใจตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต

ลอเรนซ์ พิกก์ จึงเป็นโจทย์หนึ่งแห่งความปรารถนา หาใช่ความผิดพลาดดังที่เขาสารภาพต่อคณะกัมพูชาประชาธิปไตยแต่อย่างใด

แต่มันคือคู่แห่งความสอดคล้องสมดุล ที่มากกว่าครึ่งของเธอ คือภูมิรู้ของเขา และมากกว่าครึ่งของเขาคือภูมิรู้ของเธอ อันเป็นที่ทราบกันว่า ลอเรนซ์ พิกก์ นั้นทรงภูมิรู้ในศาสตร์เขมรศึกษา ซึ่งไม่ต่างจากภูมิรู้ภาษาบารังของซวง-สามี

การแต่งงานของ ซวง ซีเกือน กับ ลอเรนซ์ พิกก์ จึงไม่ใช่ความผิดที่เขาไปสมรสกับหญิงต่างชาติดังที่กรรมาภิบาล ซวง ซีเกือน ให้การต่อตัวเอง (ในภายหลัง) และต่อองค์การเขมรแดงในอดีต

ช่างเป็นดุลยภาพชีวิตในแบบเดียวที่เขาปรารถนาในวัยหนุ่ม นั่นคือ การมีคู่ชีวิตในแบบที่ตนใฝ่ฝันจะเคียงคู่ไปกับสตรีหัวก้าวหน้า สตรีปัญญาชน ซึ่งไม่อาจพบพานในหมู่สังคมเขมรเวลานั้น

ทั้งสองจึงเป็นคู่รักปัญญาชน ในความเป็นคน 2 ขั้ววัฒนธรรมที่สมบูรณ์แบบคู่หนึ่ง เช่น ความเป็นพิกก์สาวผู้มีอุปนิสัยเปิดกว้างต่อการถกเถียง ความเป็นซวงหนุ่มที่กระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ในศาสตร์ทุกแขนง

เช่น การแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความทรงจำเมื่อครั้งที่เขาทุ่มเทศึกษาหัวข้อ “ค.ศ.1930 : การปฏิวัติภาคเกษตรกรรมในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา” ร่วมกับ ศ.ฌอง เฌสโนซ์ และ ศ.จีน กาโบต์ ในปี 1969 และองค์ความรู้แบบตะวันตกในแขนงสังคมวิทยา อย่าง “ชนบทกัมพูชา” (Les Paysans cambodgiens) วิทยานิพนธ์ที่เขียนโดย ฌอง เดลแวร์ต์

ล้วนแต่เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาวปัญญาชนที่เกาะเกี่ยวชีวิตคู่ทั้งสองไว้ ในการออกค้นหาลัทธิสังคมนิยมในแต่ละสังคมเมื่อพวกเขาเดินทางไปในที่ต่างๆ พวกเขาต่างแลกเปลี่ยนวิถีความเชื่อเหล่านั้นโดยเชื่อว่ามีเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลง สังคมหลักของกัมพูชา

นั่นคือตลอดช่วงเวลาเมื่อใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในต่างแดนของ ซวง ซีเกือน และ ลอเรนซ์ พิกก์ ที่เต็มไปด้วยความสอดคล้องสมดุล

นอกจากครอบครัว เอียง สารี และพี่น้องตระกูลจวนน์ ก็ไม่มีอีกแล้วที่ ซวง ซีเกือน จะผูกพันแน่นแฟ้นกว่าใครอื่นนอกจากภรรยา

ความสัมพันธ์กับพิกก์คือสิ่งเดียวที่บ่งบอกถึงตัวตนของเขาแล้ว แม้กระทั่งเวลาที่เขาต้องทำงานอย่างหนัก มีเวลาพักผ่อนเพียงวันละครึ่งชั่วโมงระหว่างปี ค.ศ.1977-1978 เท่ากับว่า เขามีงานสะสางที่มากมาย แม้กระทั่งเวลาพักกลางวันซึ่งทุกคนจะต้องไปนอนพัก แต่ ซวง ซีเกือน ก็ยังตรากตรำทำงาน

เว้นเสียแต่ “องค์การ” จะมอบหมายงานสำคัญให้เขาต้องทำตลอดเวลา หรือมิฉะนั้น ก็ ซวง ซีเกือน นั่นเองที่จงใจจะผลาญเวลาทั้งหมดของตนไปงาน งาน และงาน ไม่ต่างจากเครื่องจักรที่ไร้ชีวิต

เพียงเพื่อแสดงออกต่อระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยที่เขาจงรักภักดีเสมอไป

หรือมิฉะนั้น ก็เพื่อกำจัดความทุกข์ตรมหม่นเศร้าที่เขามีต่อภรรยาและลูก

 

ในหนังสือ Itin?raire d”un Intellectuel Khmer Rouge นั้น ช่างเต็มไปด้วยรายชื่อปัญญาชนที่เขารู้จัก และหลายคนในนั้นต่างเป็นเหมือนสหายร่วมอุดมการณ์

แต่ความจริงบางอย่างที่แฝงอยู่ในคำให้การของ ซวง ซีเกือน ผู้ไม่ชอบตอบคำซักค้านแค่คำว่าใช่หรือไม่ ก็นำไปสู่การเปิดเผยบางอย่างจากหลักฐานของอัยการ ที่อาจแกะรอยได้ว่า เกิดอะไรกันที่ทำให้กลุ่มปัญญาชนกัมพูชาต้องประสบเคราะห์กรรม โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตฝรั่งเศสและรัสเซียบางคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นจารกรรม และถูกส่งตัวไปเป็นนักโทษที่ S-21 (ตวลสแลง) ค่าย B-1 และบางส่วนก็จัดอยู่ในบุคคลที่สาบสูญ

แรกทีเดียวนั้น ก็เหมือนจะเป็นเรื่องอดีตผู้นำเขมรแดงที่มี TCW-694 มาให้การในฐานะพยาน

แต่ต่อมาก็ชวนให้สังสัยว่า หรือ ซวง ซีเกือน เองหรือไม่? ที่มีส่วนทำรายงานสหายปัญญาชนเหล่านั้น?

เพราะจนกระทั่งเมื่อถูกย้ายไปประจำที่กระทรวงโฆษณาการก็ตาม ก็ยังมีเอกสารคำสารภาพของสหการี/เพื่อนร่วมงานในกระทรวงต่างประเทศ ส่งไปถึงเขา-ที่นั่น

จนวินาทีสุดท้ายของวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 อย่างเร่งรีบ ก่อนที่จะหนีรอดจากทัพของเวียดนามที่กำลังประชิดกรุงพนมเปญ ซวง ซีเกือน ให้การต่อศาลว่า เขาได้ทำลายเอกสารรายงานความประพฤติของกรรมาธิการคนหนึ่งซึ่งเข้าข่ายเป็นชนจารกรรม

มันทำให้ฉันหัวใจสลาย โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงรายชื่อปัญญาชนบางคนในหนังสือเล่มนั้น พวกเขาทำให้ฉันรู้สึกว่าตนเองได้เดินเล่นอยู่ในดงนักวิทู

กว่าจะรู้ตัวเองว่าเป็นสวนสุสานที่มองไปทางไหนก็มีแต่สิ่งที่ซ่อนไว้ความตาย

สาบานสิว่าฉันยังกระตือรือร้นที่จะอ่านงานเขียนของ ซวง ซีเกือน จนกว่าจะจบเล่ม!

เว้นเสียแต่ว่า “แด่ หนุ่มสาว” ตอนต่อไปของเขาต่างหาก ที่ฉันยังไม่อยากเขียน