ศัลยา ประชาชาติ : เงินคนแก่ไม่ออก งบปี 2564 “เลื่อน” รัฐบาลแก้เกมวุ่น… ยัน “ถังไม่แตก”

ปมเรื่อง “ถังแตก” กลายเป็นพายุที่โหมซัดเข้าใส่รัฐบาลอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกอาการหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อถูกถามถึงประเด็นนี้

การที่เกิดความเข้าใจกันว่ารัฐบาล “ถังแตก” ก็เพราะมีหลายปรากฏการณ์เกิดขึ้น และทำให้คิดไปได้ในทางนั้น

อย่างกรณีที่กำลังเป็นข่าวฮอตในขณะนี้คือ การที่รัฐมีเงินไม่พอจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” และ “เบี้ยความพิการ” ในงวดเดือนกันยายน 2563 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของปีงบประมาณ

ทั้งที่ตามปกติจะโอนเงินใส่บัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน แต่เนื่องจากกรมบัญชีกลางเห็นว่าเงินงบประมาณที่มีการตั้งไว้จ่ายกรณีนี้เหลืออยู่แค่ราว 1,700 ล้านบาท จึงไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเลื่อนการโอนเงินออกไป

เพื่อรอให้หน่วยงานรับผิดชอบขอจัดตั้งงบประมาณมาก่อน

 

ขณะที่ทาง “ชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ออกมากระทุ้งผ่านเพจชมรมว่า หากกรมบัญชีกลางไม่มีความพร้อมในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็ไม่ควรโยนความผิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ขณะเดียวกันยังเสนอให้โอนหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ กลับไปที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เหมือนเดิมอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้กรมบัญชีกลางนำเงินทดรองราชการที่มีอยู่ 1,500 ล้านบาท มาจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต่อมา นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ออกมาระบุว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการประจำเดือนกันยายน 2563 มีความจำเป็นต้องเลื่อนการจ่ายเงินออกไปจากเดิม

และล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากรายการอื่นมาจ่ายเป็นเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุแล้ว จะเร่งรัดจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กันยายน 2563 นี้ (ล่าสุดจะเร่งโอนเงินภายในวันที่ 17 กันยายน)

 

ด้านนายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า การดำเนินการโอนเงินให้ผู้มีสิทธิแต่ละเดือนนั้น จะจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล จำนวน 7,774 แห่ง (ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.) ตามจำนวนที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิครบทุกแห่ง ในการเบิกเงินแต่ละครั้ง จะเป็นไปตามปฏิทินการทำงานที่กำหนดร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางกับ สถ.

“ตามขั้นตอนการดำเนินการ กรมบัญชีกลางจะต้องตรวจสอบงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามปฏิทินการจ่าย และเมื่อตรวจสอบงบประมาณในเดือนกันยายน 2563 พบว่าไม่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงต้องจัดสรรเพิ่ม แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องดำเนินการตามกระบวนการบริหารงบประมาณ ทำให้ระยะเวลาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินการทำงาน” นายภูมิศักดิ์กล่าว

กรณีวงเงินทดรองราชการ 1,500 ล้านบาทที่ยังไม่ได้มีการใช้นั้น อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุว่า เนื่องจาก สถ.ได้ดำเนินกระบวนการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทดรองราชการ

สำหรับแนวทางการแก้ไข ขอความร่วมมือให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้มีความครอบคลุม เพื่อจะจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิอย่างถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาตามที่กำหนดไว้

 

เช่นเดียวกับนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ระบุว่า เงินจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการไม่เคยขาด แต่ละปีรัฐจัดสรรให้กว่า 2.3 แสนล้านบาท ให้ทาง สถ.นำไปบริหารจัดการ ภายใต้จำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั้งสิ้นราว 9 ล้านราย

“เวลาตั้งงบประมาณ ไม่ใช่ตั้งจาก 9 ล้านราย แต่ตั้งจากผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเบี้ย เพราะผู้สูงอายุบางรายที่ฐานะดี เขาก็ไม่ลงทะเบียน อย่างไรก็ดี ปีนี้มีผู้สูงอายุและผู้พิการมาลงทะเบียนมากกว่าปกติ จึงทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณไม่เพียงพอ แต่เรื่องนี้ทางท้องถิ่นจะต้องทราบล่วงหน้าก่อนจะถึงวันจ่าย ถ้าไม่พอก็ต้องดู จะใช้เงินสะสม หรือจะขอตั้งงบฯ กลางเข้ามา เพื่อนำไปจ่ายส่วนที่ขาดก็ได้ แต่ไม่ใช่พอถึงวันจ่าย ถึงเพิ่งมาออกข่าวว่าเงินไม่พอ” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าว

เรื่องนี้สรุปได้ว่า เป็นประเด็นการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ จนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการทั่วประเทศ

 

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลยังเผชิญปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีกเรื่อง นั่นก็คือ การที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ล่าช้าออกไป จากเดิมที่ต้องเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้ทำหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกหน่วยงานเบิกจ่ายใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน เนื่องจากรัฐบาลมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

ทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณล่าช้าไปประมาณ 1-2 สัปดาห์

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่จะสามารถใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อนได้ ซึ่งเบื้องต้นตั้งไว้ให้ 25% หรือใช้ได้ 1 ไตรมาส ส่วนรายจ่ายลงทุนก็ให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อน อย่างไรก็ดี จากสถิติที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีหน่วยงานพร้อมลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 1 สัปดาห์แรก

ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบเช่นกัน

 

แต่ปมปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้ภาพที่มีการมองกันว่า รัฐบาลกำลัง “ถังแตก” ยิ่งชัดเจนขึ้น แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะดาหน้ากันออกมาปฏิเสธก็ตาม

โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า ปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อจบสิ้นเดือนกันยายนนี้ มีโอกาสเก็บต่ำเป้าเฉียด 4 แสนล้านบาท จนส่งผลกระทบทำให้ระดับเงินคงคลังลดต่ำลง ซึ่งคาดว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อาจจะเหลือแค่ 1.39 แสนล้านบาท ต่ำกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ที่เงินคงคลังปลายงวดมักจะอยู่สูงระดับ 5-6 แสนล้านบาท

ทำให้ ครม.ต้องอนุมัติให้ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อีกกว่า 2.14 แสนล้านบาท ในการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 นั่นเอง

อย่างไรก็ดี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลยังมีเงินคงคลังอยู่ระดับมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาการเก็บรายได้บางส่วนจะลดลงไป แต่ก็มีรายได้ส่วนอื่นที่เก็บได้สูงกว่าเป้า เช่น รายได้ของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ดังนั้น มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถปิดหีบงบประมาณปี 2563 ได้ ไม่ถังแตกแน่นอน

 

ท่ามกลางกระแสข่าวทั้งประเด็น “แก้ตัว-แก้ต่าง” สุดท้าย ไม่ว่าจะ “ถังแตก” หรือไม่

แต่ในมุมมองของคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะต่างกัน เพราะต่างสรุปและฟันธงได้ว่า รัฐบาล หน่วยงานรัฐมีปัญหาการบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี

แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นสำหรับรัฐบาลมากยิ่งขึ้นอีก