ผ่านแล้วกม.คุมสื่อ สปท.จวกก่อนโหวต ส่งต่อ “ครม.-สนช.”

หลังจากยืนยันว่าจะต้องตั้งสภาวิชาชีพมาคุมสื่อ ด้วยการออกใบอนุญาตให้คนทำงานข่าว ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ก็เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ด้วยมติ 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17 ไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนข้อเสนอที่จะให้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษเพื่อปรับแก้เนื้อหา ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย ด้วยมติ 88 ต่อ 67 งดออกเสียง 8 ส่งกลับให้คณะกรรมาธิการสื่อฯ ปรับปรุงก่อนส่งให้ประธาน สปท. เพื่อส่งให้ ครม. ต่อไป

ก่อนหน้านี้ มีเสียงคัดค้านและการเคลื่อนไหวจากองค์กรสื่อต่างๆ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ผู้ยกร่างกฎหมาย จึงยอมถอยด้วยการตัดการออกใบอนุญาตออก ให้ออกใบรับรองแทน รวมถึงตัดบทลงโทษจำคุกกรณีไม่มีใบอนุญาตออก และให้แก้ไขให้ปลัดกระทรวง 2 คน เข้ามานั่งในสภาวิชาชีพฯ เฉพาะในช่วง 5 ปีแรก

ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ก่อนการลงมติเห็นชอบ มีการอภิปรายของ สปท. ซึ่งส่วนมากมีเนื้อหาสอดคล้องกับการลงมติ เว้นแต่ สปท. จำนวนหนึ่งที่มาจากสื่อ ที่อภิปรายคัดค้านกฎหมายนี้

คำนูณ สิทธิสมาน สปท.

การอภิปรายที่น่าสนใจ มีอาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน สปท. อภิปรายว่า การจดทะเบียนสื่อมวลชนต่อสภาวิชาชีพ ส่อขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เพราะเกิดคำถามว่าพระนักเทศน์ ดารา นักแสดง โพสต์อินสตาแกรมขายของ นักวิชาการรับเชิญบรรยาย สมาชิก สปท. จัดรายการวิทยุ ล้วนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่

นายคำนูนยังกล่าวว่า เราเขียนกฎหมายเพื่อหวังผลระยะยาว รัฐบาลต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้าคงไม่ใช่รัฐบาล คสช. แน่ๆ อาจไม่มีธรรมาภิบาล อาจไม่ใช่รัฐบาลที่ดี การเปิดช่องแบบนี้เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐในอนาคต มีอำนาจเข้าแทรกแซงสื่อได้ ถ้าเป็นรัฐบาลทรราชจะทำอย่างไร

เป็นแนวคิดที่คล้ายๆ กับองค์กรสื่อบางส่วน ที่ไม่กล้าตำหนิขั้วอำนาจปัจจุบัน แต่ข้ามเวลาไปหวาดกลัวว่า รัฐบาลในอนาคตจะมาใช้กฎหมายฉบับนี้ควบคุมสื่อ

นายคุรุจิต นาครทรรพ สปท. อภิปรายเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.สื่อฯ เพราะสื่อควบคุมกันเองไม่ได้ จะลงโทษกันเองก็ไม่ได้ จึงไร้มาตรฐาน ถูกสอนว่าสื่อมวลชนคือฐานันดรสี่ เป็นกระจกส่องสังคมซึ่งควรต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ขอถามว่าสิทธิเสรีภาพที่สื่อมวลชน กดดัน กมธ.สื่อฯ เมื่อ 2-3 วัน มีคุณภาพหรือไม่ พอที่จะเป็นกระจกใสส่องให้สังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาเวลาคนทั่วไป หน่วยงาน บริษัทห้างร้านมีเรื่อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ลงข่าวเสียหาย ข่าวไม่จริง แล้วคนไปร้องเรียน มีคำอุปมาอุปไมยว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน เราจึงไม่เคยเห็นสื่อมวลชนด้วยกันเองลงโทษกันเองได้ ถ้าสื่อรักที่จะมีเสรีภาพ ก็ต้องรักที่จะมีเสรีภาพอย่างมีคุณภาพด้วย

สำหรับนายครุจิต เป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท. อภิปรายว่า สื่อเป็นคนไทยหรือไม่ ถ้าเป็นต้องยอมรับกฎหมาย อย่าเป็นไปอภิสิทธิ์ชนเพียงกลุ่มเดียว ทุกคนต้องอยู่ในกฎระเบียบ อยู่ในกติกา ลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อหมด เช่น สิงคโปร์ สื่อต้องเป็นไปตามกติกา 100 เปอร์เซ็นต์ ในจีนก็มี คนที่ไม่เคยได้รับผลกระทบต่อสื่อจะไม่รู้

ตนสมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ก็รบกับสื่อมาตลอด อย่างกรณีของผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน สื่อก็ลงไปเรื่อยทั้งๆ ไม่ต้องลงก็ได้ ในอังกฤษมีเหตุระเบิดแต่ก็ไม่เห็นมีการนำภาพคนเจ็บไปลง เพราะเขาคงรู้ว่า ลงไปก็ไม่ก่อให้เกิดอะไร แต่ของไทยลงเอามัน ทั้งสื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ล้วนมีปัญหาหมด

วันก่อนเปิดไลน์ดู อดีตนายตำรวจคนหนึ่งไม่รู้เป็นอะไรมาด่าทหาร ว่าทหารมีพื้นที่ใหญ่โตในเมือง ไม่มีประโยชน์ เอาหินขว้างไปในค่ายถูกหัวพลเอกหมด พูดมาทำไม

ผมไม่เข้าใจไอ้สื่อพวกนี้จริงๆ มันต้องจับไปยิงเป้า พี่—–นี่บอกตรงๆ ผมอยากจะหาโทรศัพท์จะโทร.ไปด่าถ้าแบบนี้ ถามมาได้ว่า รถถังซื้อมาทำไม

ผลคะแนนที่ลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 141 เสียง ส่วนใหญ่เป็น สปท.สายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ อาทิ นายคุรุจิต นาครทรรพ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก นายดุสิต เครืองาม พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน

ส่วน สปท. ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว 13 เสียง ส่วนใหญ่เป็น สปท.สายสื่อ และสายการเมือง อาทิ นายกษิต ภิรมย์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายดำรงค์ พิเดช นายนิกร จำนง นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล

ภายหลังการลงมติ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน อธิบายสาระของกฎหมายว่า องค์กรสื่อมวลชนต้องออกใบรับรองบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่และตรวจสอบการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและตามกรอบจริยธรรมของวิชาชีพ

แต่กรณีมีเหตุที่พบว่าปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกรอบจริยธรรม หรือทำให้ประชาชนเสียหาย ต้องมีการตรวจสอบกันภายในองค์กร ทั้งนี้ ยังกำหนดให้องค์กรสื่อสามารถรวมตัวเพื่อรวมเป็นองค์การได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวที่พบว่ามีสมาคมสื่อ หรือสภาการหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรสื่อทำหน้าที่ปัจจุบันนั้น องค์กรดังกล่าวต้องปรับตัวและจดแจ้งต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

ส่วนท่าทีของกลุ่มสื่อ นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน และในขั้นตอนของ สนช. ต้องรับฟังองค์กรสื่อตามมาตรา 77 อีกด้วย

และนั่นคือ เนื้อหาบางส่วนของการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะมีผลร้ายแรงต่อวงการสื่อ ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า เป็นผลจากที่สื่อหลายสำนัก เรียกร้องการรัฐประหาร เรียกร้องปฏิรูปภายใต้อำนาจพิเศษนั่นเอง