อภิญญา ตะวันออก : บนขื่อคาประชาราษฎร์ เมื่อกษัตริย์ริอ่านเป็นนายกฯ

อภิญญา ตะวันออก

“ปนนิปนเนาะ” วลีเขมรอีกหนึ่งซึ่งแปลว่า ที่นั่นที่นี่ และ ณ ที่นั้น ตั้งแต่พุทธศักราช 2488 ที่กัมพูชาเริ่มมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คัดง้างอำนาจฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนประเทศเป็นเอกราช แม้ขณะนั้นรัฐบาลอินโดจีนจะยังคงอำนาจบางพื้นที่ในกัมพูชา

แต่จากนั้นเป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็พบว่า กัมพูชามีนายกรัฐมนตรีถึง 47 นาย โดยคนสุดท้ายคือ นายลอง โบเรต ผู้สิ้นสุดวาระในปีเดือนเมษายน พ.ศ.2518 (1975) นับเป็นสัดส่วนจำนวนมากเมื่อเทียบกับ 3 ทศวรรษแห่งบททดลองระบอบการปกครองสมัยใหม่ โดยเฉลี่ยคนละ 7.6 เดือน หรือ 233 วันเท่านั้น

ในจำนวนนี้ ไม่รวมช่วงเวลาสุญญากาศระหว่างการเจรจาเรียกร้องเอกราชเป็นครั้งคราร่วมปี คุณพระ การเดินทางระบอบประชาธิปไตยกัมพูชาล่าช้าและเต็มไปด้วยอุปสรรคนานา

ด้านหนึ่งมาจากกษัตริย์หนุ่มองค์หนึ่ง ผู้จะนำพาพระอัจฉริยภาพของพระองค์อันมีต่อการเมืองกัมพูชาอย่างน่าพิศวง

และด้วยเหตุนั้น…พระบาทนโรดม สีหนุ (2465-2555) ขณะพระชนม์เพียง 23 ชันษา ทรงรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรกรวมเป็นเวลา 148 วัน (18 มีนาคม-13 สิงหาคม 2488) และคณะ/พรรคเอกเรียด (เสรีภาพ) ที่ทรงสังกัด ก่อตั้งโดยองค์นโรดม นรินทรเดช เชื้อพระวงศ์ผู้คงอุดมการณ์อนุรักษ์-กษัตริย์นิยม

กระนั้นก็ให้จดจำว่า 18 มีนาคม ที่เล่นการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกนั้น 25 ปีถัดมาวันเดียวกันในปี 2513 ทรงสูญเสียระบอบรัฐอำนาจกษัตริย์นิยมต่อฝ่ายประชาธิปไตยที่กลับมาล้มล้างพระองค์!

 

เพิ่มเติมว่า เมื่อหลงใหลและเข้าใจว่าเป็นพระอัจฉริยภาพพระองค์เสียแล้ว ในทางลับกษัตริย์สีหนุยังริเริ่มระบอบปกครองหนึ่งอย่างลับๆ ระหว่างกระบวนการถ่ายผ่านประชาธิปไตยยุคบุกเบิกและทดลองของกัมพูชารอบ 10 ปีที่ใช้บริการนายกรัฐมนตรีถึง 20 คน ดังต่อไปนี้

นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 นายซึง ง็อกทันห์ (2451-2520) ขณะนั้นญี่ปุ่นแพ้สงครามและกัมพูชายังไม่มีการเลือกตั้ง ซึง ง็อกทันห์ แกนนำพรรคประชาธิปไตย ดำรงตำแหน่งในนามคณะเอกเรียดเป็นเวลา 63 วัน (14 สิ”หาคม-16 ตุลาคม 2488)

แต่ในที่สุดอนุรักษ์ฝ่ายเจ้าพรรคเอกเรียดก็เสนอให้พระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ มุนีเรศ (2452-2518) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 รวมเวลา 59 วัน (17 ตุลาคม 2488-15 ธันวาคม 2489) แม้จะไม่ชัดเจนว่ามุนีเรศผู้สูญเสียฐานะองค์กษัตริย์ให้กับสีหนุนี้ มีความก้าวหน้าตามแนวคิดประชาธิปไตยที่กระด้างกระเดื่องตามที่ฝรั่งเศสกล่าวหาหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในปี 2489 เมื่อพรรคประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น องค์สีโสวัตถิ์ ยุทธวงศ์ (2456-2490) หัวหน้าพรรคก็ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2489 ถึง 15 กรกฎาคม พ.ศ.2490 หรือ 212 วัน ยุทธวงศ์ถึงชีพิตักษัยจากโรคพิษกระเพาะอาหาร และเกิดการเว้นว่างทางการเมืองไปราว 5 เดือน จากการเลือกตั้งครั้งที่ 2 แต่พรรคประชาธิปไตยก็ยังชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2

มีการเสนอให้ องค์สีโสวัตถิ์ วัฒฉายาวงศ์ (2434-2515) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 รวมเวลา 210 วัน (25 ธันวาคม 2490-20 กุมภาพันธ์ 2491)

โปรดสังเกตว่า ในการช่วงชิงอำนาจระหว่างสายสกุล “สีโสวัตถิ์-นโรดม” โดยมีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นเดิมพันนี้ ทำให้เชื่อได้ ลางทีความบาดหมางของสมาชิกราชวงศ์องค์ด้วงดูจะร้าวลึกลงไปอีกขั้น เมื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับทดลองนี้ มีท่าทีจะลงดาบให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อีกสถาบันกษัตริย์เองกลับทำใจไม่ได้หากคณะรัฐบาลจากราษฎรจะใช้วิธีเดียวกับรัฐบาลอินโดจีนนั่น

นี่ไม่ใช่เรื่องของสีโสวัตถิ์และนโรดมเท่านั้น ยังเป็นวิสัยทัศน์ของฝ่ายเจ้าที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นว่า ในที่สุดแล้วพวกคณะประชาธิปไตยก็ผลักดันสามัญชนคนแรก นายเฌียน ไม (2459-2543) เป็นนายกรัฐมนตรีที่ 6 รวมเวลา 176 วันที่บริหารประเทศ (20 กุมภาพันธ์-14 สิงหาคม 2491) ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 นายแปน นุด (2449-2528) ด้วยเวลา 159 วัน

จากนั้น นายแยม สมโบร์ (2456-2532) สามัญชนคนที่ 3 และเป็นนายกฯ คนที่ 8 ด้วยเวลา 218 วัน (12 กุมภาพันธ์-20 กันยายน 2492) ของการบริหารประเทศ

รวมเวลาร่วม 1 ปี 6 เดือน ที่เพดานวรรณะกษัตริย์ถูกลดต่ำลงมาเกือบเสมอกันทุกฝ่ายในระบอบประชาธิปไตย และอันตรายกว่านั้น เมื่อนายเอียว เกืส/Ieu Koeus (2448-2493) หรือเอียว เกอส์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 เขายังเสนอสมัชชาแห่งชาติให้แก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่การเป็นนายกฯ ของเอียว เกอส์ ก็มีขึ้นเพียง 9 วัน (20-29 กันยายน 2492) เท่านั้น ก่อนจะสลับให้แยม สมโบร์ กลับมารับตำแหน่งอีกสมัย (30 กันยายน 2492-28 เมษายน 2493) นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 และมีอายุ 211 วัน

พลันใครเลยจะคิดว่า มือขวาซึง ง็อกทันห์ และผู้ร่วมสถาปนาระบอบประชาธิปไตยนายเอียว เกอส์ จะถูกสังหารขณะออกจากประชุมสมัชชาแห่งชาติในเขตพระราชฐาน

 

แต่กระนั้น กระบวนประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าก็ยังไม่ถึงกับระส่ำระสายด้วย กระแสเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ได้มีส่วนผลักดันชะตากรรมประเทศ รวมทั้งทัศนะของกษัตริย์เขมรหนุ่ม เมื่อทรงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ระหว่าง 28 เมษายน-30 พฤษภาคม 2493 พระบาทนโรดม สีหนุ ทรงงานการเมืองสมัยที่ 2 รวม 32 วัน ในนามพรรคเก่าเสรีภาพหรือเอกเรียดนั่น

นับเป็นการลิ้มลองระบบพรรคการเมืองและรัฐสภาที่เพียงพอต่อความสนพระทัยในกษัตริย์พระองค์นี้ โดยแม้ว่า เมื่อคณะประชาธิปไตยได้สูญเสียองค์ยุทธวงศ์และเอียว เกอส์ รวมทั้งซึง ง็อกทันห์ ที่ถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมนั้น แต่กลับพบว่า พรรคการเมืองของราษฎรกลุ่มนี้ถูกคุกคามจากฝ่ายตรงข้าม

และนั่นทำให้องค์สีโสวัตถิ์ มุนีพงษ์ (2455-2499) แห่งพรรคเอกเรียดได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 (28 เมษายน 2493-3 มีนาคม 2494) รวมเวลากว่า 9 เดือน

แต่พรรคประชาธิปไตยก็เสนอนายอุม เฌียงชุน (2443-2506) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ด้วยเวลาทำงานที่ใกล้เคียงกันคือ 8 เดือน (13 ตุลาคม 2494-16 มิถุนายน 2495) บ้าง ตามด้วยนายฮุน กันฑุล (2452-2534) นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 พรรคเดียวกัน แต่ให้สังเกตว่าเวลาแห่งสุญญากาศได้กลับมาแล้ว และผู้ที่จะกลับมาขัดตาทัพกรณีเช่นนี้ทุกคราก็คือ

พระบาทนโรดม สีหนุ ซึ่งรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ขณะยังเป็นพระมหากษัตริย์ การทรงงานการเมืองครั้งนี้ดูจะยาวนานถึง 222 วัน (19 มิถุนายน 2495-24 มกราคม 2496) และในนามพรรคเอกเรียดเช่นเดิม

นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของพรรคประชาธิปไตยคนต่อมาคือนายแปน นุด ซึ่งเป็นสมัยที่ 2 (9-22 พฤศจิกายน 2496) และแค่ 13 วันเท่านั้น ที่พรรคเอกเรียดส่งนายจัน นาต (2435-2497) มาช่วงชิงเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 รวมเวลา 135 วัน (23 พฤศจิกายน 2496-7 เมษายน 2497)

จากนั้นก็ถึงคราวพระบาทนโรดม สีหนุ ก็กลับมารับตำแหน่งเป็นนายกฯ สมัยที่ 4 ลำดับที่ 18 อีกครา น่าตกใจว่า รวมเวลา 11 วันเท่านั้น (7-18 เมษายน 2497)

ดังจะเห็นได้ว่า ไม่มีเสียละที่การเมืองเขมรจะเสถียรไปได้ ตราบใดที่ฝ่ายศักดินายังคงแทรกแซงและไม่คลายอำนาจอย่างแท้จริง

 

นี่เองที่ความพยายามในระบอบประชาธิปไตยของราษฎรหัวก้าวหน้ากลุ่มนั้นยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะฝ่ายอนุรักษนิยมเองนั้นกลับช่วงชิงพื้นที่ในการสร้างฐานอำนาจในคราบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม

ราวกับจะชดเชยแก่พรรคประชาธิปไตยที่ถูกถอดจากตำแหน่งหนล่า ในที่สุดนายแปน นุด ก็กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของพรรคประชาธิปไตย รวมเวลา 283 วัน (15 สิงหาคม 2497-มกราคม 2498) ตามด้วยนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 นายเลง แง็ด (2443-2518) 250 วันพรรคเดียวกัน (26 มกราคม-3 ตุลาคม 2498)

และนี่เป็น 10 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตยกัมพูชาที่มีวาระนายกรัฐมนตรีถึง 20 ครั้ง! ประกอบด้วย 2 ราชสกุล “สีโสวัตถิ์-นโรดม” และ 9 นายที่มาจากสามัญชน อนึ่ง การถือกำเนิดของ 2 พรรคการเมืองที่เป็นเหมือนตัวแทนคน 2 ชนชั้น คือพรรคประชาธิปไตยและพรรคเอกเรียดนี้เผยให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการสถาปนาระบอบการปกครองในแบบของตน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “สังคมราษฎร์นิยม” ที่มั่นคงเพียงพอจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ กระทั่งเลือกที่จะสละราชสมบัติ เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สมัยที่ 5 (3 ตุลาคม 2498-2499)

ตอนนั้นเองที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนได้ถูกกษัตริย์ยึดไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว