เจาะสเป๊ก “แอคคอร์ด ไฮบริด” กับอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

สันติ จิรพรพนิต

แม้ตลาดรถเมืองไทยโดยภาพรวมยังติดลบแต่ถือว่าน้อยลงเรือยๆ และหลายค่ายก็สามารถโตสวนกระแสตลาดได้

หนึ่งในนั้นคือ “ฮอนด้า” ที่ประกาศความเป็น “เต้ย” ในตลาดรถยนต์นั่งของเมืองไทยครึ่งปีแรก ปิดยอด 53,952 คัน (นับรวมฮอนด้า ซีอาร์-วี เอชอาร์-วี และบีอาร์-วี) จากยอดจำหน่ายตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งสิ้น 152,619 คัน (นับรวมรถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ ที่เสียภาษีในอัตราเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล)

ฮอนด้าระบุว่าครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ถึง 35.4%

ล่าสุด ฮอนด้าอวดโฉมเก๋งใหญ่รุ่นใหม่คือ “แอคคอร์ด ไฮบริด” ที่คลอดตามแอคคอร์ด ตัวปกติ ซึ่งเผยโฉมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แอคคอร์ด ไฮบริด รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงตัวปกติ แต่จะเติม “สีฟ้า” เพื่อแยกให้ชัดว่านี่คือรุ่นไฮบริด

ไฟหน้าดีไซน์ใหม่แบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวัน กระจังหน้าดีไซน์พิเศษตกแต่งด้วยเส้นสายสีฟ้าและไฟท้ายดีไซน์ใหม่แบบ LED ตกแต่งด้วยกรอบสีฟ้าเช่นกัน

สปอยเลอร์หลังและล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์สปอร์ต ซันรูฟพร้อมระบบ One-touch (เฉพาะรุ่น HYBRID TECH)

แอคคอร์ด2-768x436

ภายในเบาะหนังสีน้ำตาลใหม่ (เฉพาะรุ่น HYBRID TECH) พร้อมด้วยชุดตกแต่งลายไม้และสีดำเปียโนแบล็ก

มีระบบสตาร์ตเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมต สั่งการแบบอัจฉริยะ ด้วยการสตาร์ตเครื่องยนต์และสั่งการเปิดเครื่องปรับอากาศได้จากระยะไกล

เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบปรับดันหลังไฟฟ้า และระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่งของผู้ขับขี่

ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง

ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone ปรับอุณหภูมิแยกอิสระซ้าย/ขวา และช่องปรับอากาศตอนหลัง

ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสแบบรองรับ Apple CarPlay เชื่อมต่อสมาร์ตโฟนผ่านระบบ MirrorLink พร้อมระบบสั่งการแบบอัจฉริยะ Smart Interface ให้คุณควบคุมเครื่องเสียง ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ไร้สาย ข้อมูลรถยนต์ และระบบนำทางเนวิเกเตอร์ (เฉพาะรุ่น HYBRID TECH) ผ่านหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 7.7 นิ้ว พร้อมปุ่มควบคุมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบอัจฉริยะ i-MID

แอคคอร์ด3-768x613

รุ่นนี้ใช้ระบบไฮบริดแบบ “Sport Hybrid Intelligent Multi Mode Drive” (i-MMD) แบบ Full Hybrid เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร Atkinson-Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ให้กำลังสูงสุด 145 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 175 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

ทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวทำงานที่ต่อเนื่องตลอดการขับขี่ มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 184 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 315 นิวตันเมตร ซึ่งการทำงานของระบบไฮบริดทั้งระบบสามารถให้กำลังสูงสุดที่ 215 แรงม้า

เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า (E-CVT) และแบตเตอรี่ไฮบริดแบบลิเธียม-ไออน 1.3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ที่สามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ได้อย่างรวดเร็วและจ่ายไฟได้ดีขึ้น

สามารถขับขี่ในโหมดมอเตอร์ไฟฟ้า (EV Drive Mode) ต่อเนื่องและทำความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้มีอัตราการประหยัดน้ำมันสูงถึง 23.8 กิโลเมตร/ลิตร

การขับขี่แบ่งเป็น 3 โหมด คือ

“มอเตอร์ไฟฟ้า” ขับเคลื่อนล้อด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และในขณะลดความเร็วจะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ชาร์จกลับไปยังแบตเตอรี่

“ไฮบริด” (Hybrid Drive Mode) ขับเคลื่อนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากเครื่องยนต์และพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

“เครื่องยนต์” (Engine Drive Mode) พลังขับเคลื่อนจะมาจากเครื่องยนต์ โดยชุดล็อกอัพคลัตช์ที่อยู่ในเกียร์ E-CVT จะเชื่อมต่อเครื่องยนต์และส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อโดยตรง

57a96221f4607f170036fdfb-i

เทคโนโลยีความปลอดภัยจัดว่าเต็มเหนี่ยว “Honda SENSING” พัฒนาและยกระดับระบบความปลอดภัยของฮอนด้า โดยระบบความปลอดภัยจะผสานการทำงานของเรดาร์กับกล้องด้านหน้า ในการตรวจจับสภาวะแวดล้อมบนท้องถนนแล้วแจ้งเตือน พร้อมทั้งช่วยควบคุมรถในสถานการณ์การขับขี่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

มี 4 ระบบสำคัญๆ ประกอบด้วย

1. ระบบควบคุมและปรับความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน – Adaptive Cruise Control (ACC) ช่วยควบคุมความเร็วของรถให้คงที่ตามที่ผู้ขับได้ตั้งค่าไว้ โดยจะตรวจจับระยะห่างและความเร็วของรถคันหน้า เพื่อปรับความเร็วของรถโดยอัตโนมัติ

2. ระบบเตือนการชนด้านหน้าและตรวจจับคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก – Collision Mitigation Braking System (CMBS) ซึ่งไม่เพียงตรวจจับรถที่วิ่งอยู่ด้านหน้าเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการตรวจจับรถที่วิ่งสวนทาง รวมทั้งคนเดินถนนได้อีกด้วย

3. ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ – Lane Keeping Assist System (LKAS) ตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ ช่วยเพิ่มแรงหน่วงของพวงมาลัยเพื่อควบคุมรถให้อยู่ภายในช่องทางปกติตลอดเวลา

และ 4. ระบบแจ้งเตือนและช่วยเหลือเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ – Road Departure Mitigation (RDM) with Lane Departure Warning (LDW) เป็นระบบที่ใช้กล้องด้านหน้าในการตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ หากพบว่ารถอยู่ในสภาวะเบี่ยงออกนอกช่องทางโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนไปที่หน้าจอแสดงข้อมูลและสั่นเตือนที่พวงมาลัย

ส่วนอื่นๆ ก็คุ้นชินกันดีในรถฮอนด้า รุ่นหลังๆ เช่น ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch), กล้องส่องภาพด้านหลัง ปรับมุมมอง 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera), ระบบไฟส่องสว่างด้านข้างอัตโนมัติขณะเลี้ยว (Active Cornering Light – ACL) ฯลฯ

มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย HYBRID ราคา 1,659,000 บาท และ HYBRID TECH ราคา 1,849,000 บาท

 

ปิดท้ายสัปดาห์นี้ ขอแวะไปคุยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเพียวๆ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศสนับสนุน

โดยหวังให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็น “โปรดักต์แชมเปี้ยน” ตัวที่ 3 ต่อจากปิกอัพ และอีโคคาร์

หลายกระทรวง อาทิ อุตสาหกรรม และคลัง เริ่มแอ๊กชั่น ทั้งวางแนวทางผลิต การส่งเสริมด้วยภาษี ฯลฯ

แต่ล่าสุดทีท่าของ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) ที่ออกมาเคลื่อนไหว ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว

ส.อ.ท. ให้เหตุผลว่าไทยยังไม่มีความพร้อมในหลายด้าน

พร้อมกันนี้เสนอให้รัฐศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ให้รอบคอบเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่มีการผลิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ภาคยานยนต์กระทบกับการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือน หรืออุตสาหกรรม

รวมถึงการเยียวยาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่อาจล้มหายตายจาก

เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีระบบขับเคลื่อน และอะไหล่ต่างๆ ลดลงจำนวนมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมัน

โดยเสนอว่าน่าจะสนับสนุนรถพลังงานไฮบริด หรือลูกครึ่งน้ำมัน-ไฟฟ้าก่อนดีกว่า

หากฟังเหตุผลก็พอเข้าใจได้ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเหลืออายุการทำงานไม่นานนัก (ตามโรดแม็ปเลือกตั้งกลางปี 2560)

แต่โครงการรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถือว่าเปลี่ยนโฉมยานยนต์ของไทยอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้ มีปัจจัยอีกหลากหลายที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ

กระนั้นก็ตาม หากดูเทรนด์ของโลก รถยนต์ไฟฟ้าถือว่ามาแรงและมาเร็วมากๆ

ทว่า หากดูอายุของรัฐบาลชุดนี้อย่างไรเสียก็คงไม่ทัน อาจต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มารับไม้ต่อ

ส่วนจะสานต่อทันทีหรือชะลอไว้ก่อนตามที่ ส.อ.ท. เสนอ รวมถึงผู้บริหารค่ายรถใหญ่ๆ อย่างโตโยต้า และฮอนด้า ก็ออกมาแสดงท่าทีเดียวกับ ส.อ.ท.

อนาคต “รถยนต์ไฟฟ้า” ในไทย จึงเป็นเรื่องที่ยากคาดเดาอย่างยิ่ง!??