ธงทอง จันทรางศุ | “งาน” ของคนยุคปัจจุบัน

ธงทอง จันทรางศุ

เผลอตัวไปเพียงนิดเดียว หลานสาวของผมผู้เป็นลูกของน้องชายที่ผมรู้สึกว่าเพิ่งเข้าไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อกี้นี้เอง อยู่ดีๆ ก็ขึ้นมาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่และกำลังจะจบการศึกษาในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเสียแล้ว

ขณะเดียวกันกับที่งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นล่าสุดก็จะมาถึงในช่วงเวลาต้นเดือนตุลาคมนี้เอง

นั่นหมายความว่า ขณะที่เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจของประเทศกำลังซบเซาขนาดหนักอันเนื่องมาจากโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปตามวงรอบเป็นปกติ

แต่ละปีจะมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษารุ่นใหม่นับแสนคนก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน การแสวงหางานทำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ทั้งปีนี้และปีหน้าหรือต่อไปอีกสี่ซ้าห้าปีคงไม่สะดวกสบายหรือคาดหวังอะไรได้มากนัก

อย่าว่าแต่สมาชิกใหม่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเลยครับ สมาชิกเก่าก็ยังใจหายใจคว่ำอยู่เลยว่าจะไปรอดได้เพียงใด

มีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันกับผมมีอาชีพเป็นข้าราชการ แต่ขณะเดียวกันก็มีกิจการค้าเป็นร้านขายอาหารเล็กๆ ของตัวเอง มีลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในร้านเป็นจำนวนพอสมควร

เจ้าตัวออกปากด้วยเสียงอ่อนอกอ่อนใจกับผมเมื่อวานนี้ว่า ถ้าคิดแต่ลำพังตัวเองก็เอาตัวรอดได้ง่ายเพราะปิดร้านเมื่อไหร่ก็มีเงินเดือนข้าราชการกิน

แต่ทำอย่างนั้นก็ไม่ง่าย เพราะเห็นลูกน้องที่สู้งานกันมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้เขาจะต้องตกงาน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วจะทำอย่างไรได้นอกจากกัดฟันสู้กันต่อไป

ผมซึ่งเป็นคนฟัง ฟังแล้วก็ใจหายนะครับ

มีความหวังอยู่ก็แต่เพียงว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาเวลานี้จะพอเชิดหัวกระเตื้องขึ้นมาบ้างในเวลาอันไม่ช้าเกินสมควร

ระหว่างเวลาที่การหางานทำยังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เรามาลองอ่านใจของเด็กรุ่นใหม่กันไหมครับว่า ถ้าไม่คิดประกอบกิจการค้าเป็นของตัวเองหรือทำงานของที่บ้านแล้ว การจะเลือกเข้าทำงานในที่ใด หากแม้ว่าเลือกได้ดังใจ คนที่หางานทำทั้งหลายเขาคิดถึงอะไรเป็นข้อแม้เงื่อนไขบ้าง

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุมในที่ประชุมสำคัญแห่งหนึ่ง มีการเสนอรายงานว่าปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขสำหรับการเข้าทำงานของคนยุคปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันสี่ข้อ

หนึ่ง ผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับ

สอง อนาคตหรือความเจริญเติบโตก้าวหน้า

สาม ลักษณะการทำงานหรือกระบวนการทำงานว่าถูกใจของเขาเพียงใดแค่ไหน

และข้อสุดท้าย สี่ ผู้นำขององค์กรสามารถสร้างหรือเรียกศรัทธาจากลูกน้องได้เพียงใด

ฟังเขาเล่าว่าดังนั้นแล้วมาคิดตรึกตรองตาม ก็เห็นประจักษ์ว่า ถ้าเราเป็นเด็กที่เพิ่งเรียนหนังสือจบมาจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ แล้วสามารถเลือกได้ ผมก็ต้องนำปัจจัยทั้งสี่มาขยำรวมกันเพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นธรรมดา

ดูข้อแรกก่อนเป็นไร ผมว่าค่าตอบแทนที่จะได้รับจากการทำงานนั้นอย่างน้อยก็ต้องสมน้ำสมเนื้อกับปริมาณงานที่ต้องทำ ข้อสำคัญคือ ต้องทำให้ผู้ได้รับเงินเดือนสามารถยังชีพอยู่ได้ตามความเป็นจริง

คำว่า “ยังชีพ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ากินอยู่หรูหรา แต่อย่างน้อยก็ต้องสมควรกับอัตภาพครับ

ยิ่งถ้าเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำงานที่อยู่ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ค่าครองชีพก็ไม่ใช่ของที่จะเอามาล้อเล่นได้เลย เด็กที่จบปริญญาตรีได้เงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท ถ้ารอดชีวิตไปได้ถึงปลายเดือนก็ต้องยกนิ้วชมเชยว่าเก่งมากแล้ว

ถ้าเป็นลูกจ้างรายวัน ได้เงินค่าจ้างวันละ 300 บาท วันไหนไม่ได้ไปทำงานก็ไม่ได้เงิน แรงงานจำนวนนี้ยิ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

เงื่อนไขหรือปัจจัยข้อที่สอง คือโอกาสความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า คนเราทำงานแล้วก็ต้อง “มักใหญ่ใฝ่สูง” เป็นธรรมดา จะให้ “มักน้อยใฝ่ต่ำ” อยู่ได้อย่างไร

เพียงแต่ว่าความเจริญก้าวหน้าที่พึงคาดหวังนั้นต้องได้มาด้วยความชอบธรรมและได้มาด้วยฝีมือ ไม่ใช่ด้วยการใช้วิธีการที่ปราศจากธรรมาภิบาล

นึกว่าเราเข้าไปเป็นผู้น้อยอยู่ในบริษัท เรื่องมันก็จำเป็นที่จะมองเห็นอนาคตว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายหัวหน้าแผนกกับเขาบ้าง ถ้าช่องทางดังกล่าวตีบตันหรือไม่มีทางเป็นไปได้ วิสัยมนุษย์ก็ย่อมแสวงหาโอกาสที่ดีกว่ามิใช่หรือครับ จะทนอยู่ทู่ซี้เดิมไปทำไม

ด้วยเหตุนี้กลไกที่จะทำให้มีการขยับเลื่อนตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น รวมทั้งความรับผิดชอบที่จะติดตามมา จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนและเป็นที่คาดหวังได้ของสมาชิกในองค์กร

ข้อที่สามคือเรื่องระบบการทำงาน ถ้าเป็นระบบการทำงานที่มีความสุข ทุกอย่างไม่อืดอาดเป็นเรือเกลือ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า red tape คนทำงานเห็นผลสัมฤทธิ์เห็นความสำเร็จของงานเป็นเบื้องหน้า ทำงานหนักหน่อย เหนื่อยหน่อย แต่เห็นผลสำเร็จของชิ้นงานก็ถือว่าคุ้มค่ากับเรี่ยวแรงที่ลงไป

ผมเห็นด้วยกับข้อนี้เป็นอย่างยิ่งนะครับ เวลาทำงานแล้วพบกับระบบงานอะไรที่เฉื่อยชาหรือไร้เหตุผล มันให้หงุดหงิดอย่างไรบอกไม่ถูก

ผมเคยพบความจริงในหน่วยงานแห่งหนึ่ง จะทำอะไรก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเสียก่อนทุกทีไป กรรมการพิจารณาเสร็จแล้วต้องส่งให้กรรมการอีกชุดหนึ่งพิจารณาต่อไป เท่านั้นยังไม่พอครับ จะสรุปกันง่ายๆ เห็นจะไม่ได้ ยังมีกรรมการอีกสองชุดที่ต้องพิจารณาเรื่องนั้นอีกตามลำดับ รวมกรรมการทั้งหมดสี่ตลบ

สรุปว่ากว่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายได้ ความเสียหายก็เกิดขึ้นพะเรอเกวียนเสียแล้ว

องค์กรไหนไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือทางราชการ ถ้าลำดับขั้นตอนมากมายเพียงนี้ จะหวังความเจริญก็ย่อมเป็นการยากเย็นอยู่นะครับ

ข้อสี่หรือข้อสุดท้าย เป็นเรื่องที่เรามองเห็นได้ไม่ง่ายนัก

แต่ถ้ามีอยู่จริงและเราโชคดีได้ประสบพบเห็นก็จะทำให้การทำงานของเรามีความเบิกบานและเป็นแรงเสริมกำลังใจได้อีกมาก

สิ่งที่ว่านี้คือการได้ผู้นำที่มีความสามารถ มีความเป็นแบบอย่างให้เราอยากที่จะเดินตาม เป็นหัวหน้าที่เราจะไปบอกใครต่อใครได้ด้วยความผูกพันภูมิใจว่าเราเป็นลูกน้องของท่าน

ตรงกันข้ามกับหัวหน้าอีกประเภทหนึ่ง ที่เรารู้สึกต้องงุบงิบหรือปิดบังไม่ยอมบอกให้ใครรู้ว่าเราทำงานอยู่ในทีมเดียวกัน

เป็นความรู้สึกพูดไม่ออกบอกไม่ถูกยังไงก็ไม่รู้ละ

ปัจจัยสี่ประการนี้ถ้ามีอยู่พร้อมในองค์กรหรือหน่วยงานใด ย่อมน่าจะเชื่อได้ว่า ใครต่อใครย่อมอยากเข้าเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานเองก็อยู่ในฐานะที่จะเลือกสรรได้ว่าจะคัดใครเข้ามาร่วมทีมทำงาน

ตรงกันข้าม ถ้าหน่วยงานใดขาดคุณลักษณะทั้งสี่ประการข้างต้น หรือมีบ้างแต่ก็กระพร่องกระแพร่ง โอกาสจะได้คนดีมีฝีมือมาร่วมทำงานในองค์กรก็มีน้อยเป็นธรรมดา

นึกดูสิครับว่า หน่วยงานใดก็ตามจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อกับหน้าที่การงาน คนที่เข้ามาอยู่ในหน่วยงานมองไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินไปทางไหน ระบบงานก็ซ้ำซ้อนยืดยาดขาดการตัดสินใจ มีกฎระเบียบหยุมหยิมจนทำอะไรก็ผิดไปหมด ผู้นำหน่วยก็ขาดความเป็นผู้นำ ไม่สามารถเป็นต้นแบบ หรือไอดอล (Idol) ให้ใครได้

หน่วยงานแบบนี้ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต

ผมไม่กล้าไปชี้นิ้วบอกใครหรอกครับว่าหน่วยงานใดสอบผ่านเกณฑ์นี้หรือไม่ หากแต่เป็นเรื่องสมควรที่แต่ละองค์กรจะต้องส่องกระจกมองดูตัวเอง และยอมรับความจริงให้ได้ว่าองค์กรของเราเป็นอย่างไร มีสิ่งใดต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่

ผมเชื่อว่าถ้าเรายังเห็นว่าเราเองยังบกพร่อง มีเรื่องที่ต้องปรับปรุง วันนั้นองค์กรของเราก็ยังมีอนาคตมีความหวัง มีโอกาสที่จะดีขึ้นไปกว่าวันนี้

ตรงกันข้าม ถ้าเราเห็นว่าเราดีที่สุดแล้ว ใครพูดอะไรแตกต่างไปจากเรา เราก็ไม่ฟัง เราก็ไม่คิดตาม เป็นเช่นนี้แล้วจะหาอนาคตหรือหาความเจริญก็ยากนะครับ

เพราะเราปิดประตูกั้นตัวเองไว้ในคอกเสียแล้ว

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ตัวใครตัวมันนะครับ