มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : การเลือกตั้งทั่วไปก่อนวาระและการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

French presidential election candidate for the far-left coalition La France insoumise Jean-Luc Melenchon delivers a speech in Paris, on April 23, 2017, after the first round of the Presidential election. / AFP PHOTO / bertrand GUAY

การเลือกตั้งทั่วไปก่อนวาระและการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

วันที่ 18 เมษายน 2017 นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศการตัดสินใจที่ทำให้สาธารณชนตกตะลึงว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนวาระของรัฐบาล ในวันที่ 8 มิถุนายน หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสราวหนึ่งเดือน

ซึ่งเป็นการ “กลับลำ” ของนางอย่างไม่คาดฝัน

เมย์ให้เหตุผลในการตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งทั่วไปว่า “ประเทศกำลังรวมตัวกัน แต่เวสต์มินสเตอร์ (คือรัฐสภา) ไม่ทำเช่นนั้น”

และว่า “ความแตกแยกที่เวสต์มินสเตอร์” กำลังสร้าง “ความเสียหายทางความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคง”

อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากไม่ได้เห็นเช่นนั้น วิจารณ์กันว่าการที่นางตัดสินใจเช่นนั้นมาจากการดีดลูกคิดทางการเมืองหลายระดับ ทั้งในระดับในประเทศ และระหว่างประเทศ

บางคนวิจารณ์ถึงขั้นว่าเป็นการกระทำแบบฉวยโอกาส

การดีดลูกคิดทางสถานการณ์ภายในประเทศ ได้แก่

ก) พรรคคนงานซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กำลังอ่อนแอ และแตกแยก นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคปัจจุบันก็ถูกท้าทายอยู่เสมอ เนื่องจากเขามีสีสันเป็น “ซ้าย” มากเกินไป ผลการสำรวจประชามติพบว่า พรรคอนุรักษนิยมของเธอนำหน้าทิ้งห่างพรรคคนงาน ดังนั้น การเลือกตั้งยิ่งจะทำให้พรรคคนงานพ่ายแพ้ทรุดหนักขึ้น

ข) กระแสการออกจากและความไม่พอใจในสหภาพยุโรปขึ้นสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพรรคอนุรักษนิยมให้เด่นขึ้น

ค) เมย์จะได้รับฉันทานุมัติในการเจรจากับสหภาพยุโรปได้เต็มที่ ซึ่งที่เธอเน้นเป็นพิเศษ ได้แก่ ความเป็นผู้นำในด้านระหว่างประเทศ เมย์เตรียมตัวล่วงหน้าด้วยการสร้างพันธมิตรกับประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ “เบร็กซิท” ถึงขั้นด่วนเชิญทรัมป์มาเยือนอังกฤษ ซึ่งเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง

และเป็นที่สังเกตว่า เมย์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ที่คาดหมายกันว่านางเลอเปนที่ต้องการแยกตัวจากสหภาพยุโรปจะเป็นผู้ชนะ

ถ้าหากเป็นตามคาดก็จะทำให้เธออยู่ในฐานะที่ได้เปรียบยิ่งขึ้น

กล่าวในทางภูมิรัฐศาสตร์ การกลับลำของนางอยู่ในแผนที่จะสร้างกลุ่มประเทศที่อยู่ขอบนอกของยูเรเซีย ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ปัจจุบันก็จับกลุ่มกันเหนียวแน่นอยู่แล้ว ให้สามารถยืนผงาดได้ในท่ามกลางความไม่แน่นอนและการไร้เสถียรภาพของโลก

อย่างไรก็ตาม การกลับลำของเธอที่หันมาโอบกอดนโยบายเบร็กซิท (เธอลงคะแนนให้คงอยู่) และปุบปับให้เลือกตั้งนี้มีค่าใช้จ่ายสูง บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษแสดงทัศนะว่า “จากนี้เธอจะกลายเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ถ้อยคำไม่อาจเชื่อถือได้ตามนั้น” และ “(การเมืองอังกฤษ) กลายเป็นการเล่นเกม” (ดูบทบรรณาธิการชื่อ The Guardian view on the 2017 general election : a poll that British does not need ใน theguardian.com 18.04.2017)

โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมย์ได้สร้างบรรยากาศ “การเมืองหลังความจริง” ขึ้นในอังกฤษ

พรรคการเมืองที่แข็งขันในการต่อต้านเบร็กซิทได้แก่ พรรคลิเบอรัลเดโมแครต ได้กลายเป็นขวากหนามสำคัญของพรรคอนุรักษนิยมขึ้น

นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยและหัวหน้าพรรคคนงานอังกฤษถึงกับเสนอตัวเป็นแนวร่วมเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ถูกปฏิเสธ

เป็นอันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการปะทะกันระหว่างพรรคอนุรักษนิยมของ นางเทเรซา เมย์ ที่กลับลำไปเป็นฝ่ายขวาใหม่ กับพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคชาติสกอตต์ และพรรคคนงาน ที่ต้องการอยู่ในสหภาพยุโรป และอาจจับมือกันอย่างหลวมๆ

ลัทธิขวาใหม่ในอังกฤษ

British Prime Minister Theresa May leaves 10 Downing Street for the weekly Prime Minister’s Questions session at the House of Commons in central London on March 1, 2017.
The House of Lords looks set today to defy Prime Minister Theresa May by demanding guarantees for EU nationals living in Britain, delaying a bill she needs to start Brexit negotiations. / AFP PHOTO / Justin TALLIS

อังกฤษพัฒนาลัทธิขวาใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง ในสถานการณ์การเมืองที่ตรงไปตรงมา นั่นคือเพื่อการต่อสู้กับลัทธิซ้ายใหม่ที่ส่งอิทธิพลครอบงำการเมืองของอังกฤษค่อนข้างสูง โดยผ่านสององค์กรใหญ่ ได้แก่ พรรคคนงานและสหภาพแรงงาน จำต้องบ่อนทำลายและควบคุมไว้

ลัทธิขวาใหม่ในสหรัฐก็มีพัฒนาการคล้ายกันได้แก่การต่อต้านลัทธิซ้ายใหม่ ที่นำโดยขบวนการนักศึกษา ปัญญาชนและกลุ่มคนงาน แต่ในสหรัฐไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ที่รองรับกระแสซ้ายใหม่ คงมีแต่สหภาพแรงงานและกลุ่มเอ็นจีโอที่จะต้องจัดการ

ขวาใหม่ในอังกฤษมีลัทธิแธตเชอร์ (นับตั้งแต่ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนพ้นตำแหน่ง 1979-1990) เป็นต้นเค้า ขณะที่ในสหรัฐมีลัทธิเรแกน (โรนัลด์ เรแกน ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1981-1989)

ลัทธิแธตเชอร์นั้นคัดค้านความคิดขวาเก่าหรือแนวคิดขวาก้าวหน้า (Right Progressive) ที่ครอบงำพรรคอนุรักษนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในช่วง 1951-1964 รับช่วงนโยบายและกรอบการปฏิบัติจากรัฐบาลพรรคคนงาน (1945-1951) จนเกิดเป็นฉันทามติระหว่างพรรคอนุรักษ์กับพรรคคนงานขึ้น ระหว่างปี 1950 ถึงราว 1970 ลัทธิแธตเชอร์เห็นว่าแนวคิดขวาก้าวหน้าไม่เหมาะสมหลายประการ ได้แก่

ก) สนับสนุนรัฐบาลขนาดใหญ่ มีระบบราชการเทอะทะ

ข) มีนโยบายนำอุตสาหกรรมเป็นของรัฐซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นผลร้ายต่อธุรกิจเอกชน

ค) ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเคนส์ให้รัฐบาลมีบทบาทสูง

ง) พึ่งพาระบบเจรจาต่อรอง ไตรภาคีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและคนงาน ทำให้อำนาจรัฐในการบริหารทางการเมืองลดลง

จ) มีการเก็บภาษีรายได้สูง ทำลายความคิดริเริ่มของปัจเจกบุคคล รวมทั้งลดทอนแรงกระตุ้นให้ทำงานเก็บออมและลงทุน

ฉ) สร้างระบบประกันสังคมที่มีราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพ ที่สร้างวัฒนธรรมการพึ่งพา สร้างชนชั้นต่ำที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งหมดนำพาไปสู่หนทางสังคมนิยมที่กลุ่มขวาใหม่เห็นว่าเป็นอันตรายยิ่ง

ลัทธิขวาใหม่ตามแนวของแธตเชอร์ประกอบด้วยความคิดหลัก 2 ประการที่ขัดแย้งกันคือ

1) ความคิดเสรีนิยม ทางตลาด ประกอบด้วยหลายมิติ คือ

ก) การสนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกชน

ข) สนับสนุนกลไกตลาดและภาคธุรกิจเอกชน

ค) สนับสนุนความเสมอภาคทางโอกาสและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

ง) คัดค้านการขยายบทบาทของรัฐหรือกิจการภาครัฐ

จ) คัดค้านสังคมนิยมและฉันทามติของสองพรรค ได้แก่ สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายของรัฐและอัตราภาษี สนับสนุนแนวคิดการเงินไม่ใช่การคลัง ลดการใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐ แปรกิจการด้านการศึกษาและสาธารณสุขเป็นของเอกชน ลดอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น ลดอำนาจของสหภาพแรงงาน เป็นต้น

2) ความคิดขวาใหม่ ที่เอียงข้างรัฐนิยมแบบเดิมประกอบด้วยหลายมิติ

ก) การสนับสนุนความเข้มแข็งของรัฐ

ข) สนับสนุนการลงโทษรุนแรงทางกฎหมายเพื่อรักษาความเป็นระเบียบ

ค) สนับสนุนศีลธรรมเก่า

ง) สนับสนุนครอบครัวแบบเก่า

จ) สนับสนุนการศึกษาแบบดั้งเดิม

ฉ) สนับสนุนวัฒนธรรมแห่งชาติ ไม่ใช่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ช) มีแนวโน้มไม่เชื่อในการรวมยุโรปเป็นสหภาพ (ดูหัวข้อ The Ideology of the New Right และ The Conservatism, Thatcherism, the New Right and Education Policy : Description ใน earlhamsociologypages.co.uk 12.12.2016 ดูแลโดย Russell Haggar)

ลัทธิแธตเชอร์ (รวมทั้งลัทธิเรแกน) นับว่าประสบความสำเร็จสูงสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญหลายประการ ได้แก่ ภายในประเทศสามารถทำลายขบวนการซ้ายใหม่ ลดทอนอำนาจของพรรคคนงานและสหภาพแรงงานไปได้มาก ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปเป็นแบบขวา

พรรคคนงานเปลี่ยนไปมีนโยบายคล้ายพรรคอนุรักษนิยม เช่น สืบทอดนโยบายการศึกษาที่เป็นแบบรวมศูนย์และเอื้อต่อธุรกิจยิ่งของพรรคอนุรักษนิยม

เกิดผู้นำพรรคอย่างเช่น โทนี่ แบลร์ เป็นผู้สืบทอดนโยบายแธตเชอร์ ในด้านสากลทำให้อังกฤษกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เช่น การรบชนะในสงครามฟอล์กแลนด์ (1982) สำหรับสหรัฐ สามารถทำลายขบวนการซ้ายใหม่ ขบวนการ “บุปผาชน” และลดทอนอิทธิพลสหภาพแรงงาน ที่สำคัญคือการเอาชนะสหภาพโซเวียตได้ บีบให้โซเวียตถอนทหารจากอัฟกานิสถาน (1988) ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นแบบตะวันตก (เริ่มต้งแต่ปี 1986) จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับลัทธิขวาใหม่บางประการ ได้แก่

1) ความคิดขวาใหม่เกิดขึ้นในความ ยากลำบากหรือขาลงของสหรัฐ-อังกฤษและอารยธรรมตะวันตกโดยรวม นั่นคือเริ่มไม่สามารถควบคุมจัดการโลกได้เหมือนเดิม เศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศเกิดวิกฤติภายใน เกิดขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ต่อต้านระบบอำนาจเดิม ต่อต้านสงครามรุกรานมากขึ้น การกระชับอำนาจตามลัทธิขวาใหม่ยิ่งขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจ-การเมือง ความแตกแยกทางสังคมรุนแรงขึ้น

2) ลัทธิขวาใหม่สะท้อนความอ่อนแอไม่ใช่ความเข้มแข็ง การนำความคิดหลายๆ อย่างมารวมกันแบบ “จับแพะชนแกะ” เพื่อให้สามารถรวมกำลังให้มากที่สุด มักปฏิบัติได้ไม่ยาวนาน เกิดวิกฤติการนำเนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ลัทธิขวาใหม่กับประชานิยม

ลัทธิขวาใหม่ปัจจุบันที่ปฏิบัติในหลายประเทศของยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีรายละเอียดต่างกันไปตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สถานการณ์ภายใน และสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ก็เห็นได้ว่ามีลักษณะร่วมกันอยู่ประการหนึ่งได้แก่ การมี “นโยบายประชานิยม” แต่ในความร่วมกันนี้ก็มีรายละเอียดต่างไปเช่นกัน

นโยบายประชานิยมนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ในสหรัฐได้เกิดขบวนการประชานิยมมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นการต่อสู้ของกลุ่มชาวนาเพื่อสิทธิประโยชน์ของตน ไม่ให้สินค้าภาคเกษตรตกต่ำ ค่าขนส่งพุ่งสูง เกษตรกรแทบไม่ได้ผลดีจากการรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีการจัดตั้งพรรคประชาชนขึ้น (1891) เรียกกันว่าพรรคประชานิยม มีการส่งตัวแทนลงสมัครชิงชัยประธานาธิบดี ภายหลังถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในพรรคเดโมแครต (1903)

ในรัสเซียก็มีขบวนการประชานิยม (Narodniki) เป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง ตั้งแต่การเลิกระบบทาสติดที่ดินในปี 1861 เพื่อต่อสู้กับระบบซาร์ ถูกปราบปรามจนสลายตัวไป ส่วนหนึ่งกลายเป็นขบวนฝ่ายซ้ายและพรรคบอลเชวิก

สำหรับประชานิยมแบบขวาใหม่มีลักษณะเด่นร่วมกันอยู่สามประการ ได้แก่

ก) การโฆษณาว่ามีชนชั้นนักการเมือง ชนชั้นนำ ระบบอำนาจเดิมที่ฉ้อฉลที่จะต้องต่อสู้ทำลาย ขณะที่มีประชาชนที่เป็นเสียงที่แท้จริงของพรรคประชานิยม

ข) การแบ่งระหว่าง “เรากับเขา” “เรา” ได้แก่ ประชาชนผู้มีวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเท่ากับมีผลประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของสามัญสำนึก ต้องเผชิญกับเอกลักษณ์และผลประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งมักเป็นคนส่วนน้อยเช่นผู้อพยพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ (ซึ่งฉ้อฉล)

แต่ผู้ที่ถือประชานิยมแบบขวาไม่จำเป็นต้องเป็นพวกหัวรุนแรง

และพวกหัวรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกประชานิยม แต่ลัทธิประชานิยมแบบขวาอาจกลายเป็นพวกหัวรุนแรงได้ เมื่อเกิดลัทธิกลัวคนแปลกหน้ารุนแรง เกิดความต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาล

ค) ประชานิยมแบบขวามียุทธศาสตร์และยุทธวิธีการใช้การสื่อสารเชิงลบ สร้าง “ความถูกต้องทางการเมือง” (หรือการเป็นคนดี) ในการแยกมิตรแยกศัตรู ใช้การยั่วยุและเหตุการณ์อื้อฉาวที่วางแผนมา รวมทั้งการแหกกฎระเบียบ ข้อห้ามต่างๆ ทำให้เป็นที่สนใจของสื่อที่ต้องการสนองสิ่งแปลกใหม่แก่ตลาด ทำให้ประชานิยมแบบขวาเหมือนได้สื่อของตนมาเปล่าๆ

(ดูบทความของ Thomas Greven ชื่อ The Rise of Right-wing Populism in Europe and the United States- A Comparative Perspective ใน fesdc.org พฤษภาคม 2016)

ลัทธิขวาใหม่จะทำให้ยุโรป

กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหรือไม่

ลัทธิขวาใหม่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับแนวคิดซ้ายใหม่ และสร้างยุโรปหรืออเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ลัทธิขวาใหม่มีความพยายามที่จะแก้จุดอ่อนของสามลัทธิที่ปฏิบัติในโลกตะวันตก ได้แก่ ลัทธิเสรีนิยม ลัทธิฟาสซิสต์ หรือนาซี และลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อให้ก้าวพ้นจากลัทธิทั้งสาม สู่ลัทธิขวาใหม่ที่มีนโยบายประชานิยมเป็นฐานดังกล่าวแล้ว แต่ว่ามันจะทำสำเร็จหรือไม่เพียงใด

ดูจากความสำเร็จน้อยของลัทธิทรัมป์ในสหรัฐ พลังของตัวลัทธิขวาใหม่เอง และความหนักหน่วงเชิงโครงสร้างของสถานการณ์ ประเมินได้ว่าขวาใหม่ในยุโรปคงจะสำเร็จได้อย่างจำกัด

เช่น ขณะที่ลัทธิขวาจัดขยายตัว ก็ปรากฏความคิดสังคมนิยมหรือ “ซ้ายจัด”

มีบุคคลอย่าง เบอร์นี่ แซนเดอร์ส ในสหรัฐ เจเรอมี่ คอร์บิน ในอังกฤษ และ ชอง ลุค เมลองชอง ในฝรั่งเศส

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่หนักหน่วงอย่างเช่น วิกฤติเศรษฐกิจ ช่องว่างทางสังคม และปัญหาอิสลาม เป็นต้น ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการสร้างลัทธิใหม่ๆ ขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงปัญหาอิสลาม