เปลี่ยนหน้ากลางอากาศ

ขั้นตอนของหนังสือพิมพ์กว่าจะออกมาถึงมือท่านผู้อ่าน เป็นงานที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง อาจจะหาจุดเริ่มต้นและจุดลงท้ายไม่พบ

แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีจุดเริ่มต้นของงาน

ว่ากันตั้งแต่การตกลงใจเริ่มลงทุนออกหนังสือพิมพ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นวันแรกก่อนหนังสือพิมพ์จะเป็นรูปเล่มไปถึงมือผู้อ่านในวันรุ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นชุดแรก คือ “นักข่าว” หรือ “ผู้สื่อข่าว” ต้องออกปฏิบัติงาน “หาข่าว” ตั้งแต่เช้าไปตามกระทรวงทบวงกรม ทำเนียบรัฐบาล หรือสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐสภา หากเป็นนักข่าวสายการเมือง ส่วนนักข่าวสายอาชญากรรม เรียกอย่างนั้น คือนักข่าวตระเวนไปตามสถานีตำรวจ หรือโรงพัก มีรถออกตระเวนไปพร้อมกับช่างภาพ

ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไร หรือปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้น นักข่าวและช่างภาพตระเวนต้องไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำเวลาได้ แต่กับนักข่าวการมืองต้องมีกำหนดการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รวมถึงปลัดกระทรวง และอธิบดี กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนสำคัญ

คือส่วนที่เป็นภาคสนาม

อีกพวกหนึ่งที่ต้องตระเวนไปนอกบริษัท คือพนักงานขายโฆษณา ที่ต้องตระเวนไปตามเอเยนซี่และบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อเสนอขายพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์โฆษณาขายสินค้า

ทั้งงานข่าวและงานโฆษณา ส่วนของนักข่าว สมัยก่อนต้องหาสถานที่ที่มีโทรศัพท์ เพื่อโทรศัพท์เข้าไปยังหัวหน้าข่าว ไปยังผู้เรียบเรียงข่าว (รีไรเตอร์)

ส่วนของพนักงานขายโฆษณา ต้องเข้าบริษัทช่วงบ่ายถึงเย็นเพื่อรายงานผลการขายโฆษณาในวันนั้นว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด จะได้กำหนดแผนปริมาณโฆษณาในเดือนนั้น หรือไตรมาสนั้นให้ได้ว่า จะมีรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เดือนนั้นจำนวนเท่าใด

งานภายในบริษัท และกองบรรณาธิการ เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเช่นเดียวกับงานบริษัทกิจการอื่น แต่ส่วนของกองบรรณาธิการการเข้าปฏิบัติหน้าที่มีเวลาแตกต่างกันบ้าง ตั้งแต่ผู้ที่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ช่วงเช้า ช่วงสาย และช่วงบ่ายถึงเย็น กับช่วงหัวค่ำเช่นที่ผมปฏิบัติ

ระหว่างวัน ในกองบรรณาธิการจะเริ่มได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังเหมือนข้าวตอกแตก ตั้งแต่ช่วงสายถึงช่วงเย็นช่วงค่ำ เป็นเสียงพิมพ์ดีดจากผู้เรียบเรียงข่าว หัวหน้าข่าวแต่ละหน้า และนักข่าวบางคนที่ต้องเข้ามาในกองบรรณาธิการเพื่อพิมพ์ข่าวด้วยตนเอง

จากต้นฉบับข่าว ต้องผ่านไปยัง ซับ เอดิเตอร์ เพื่อให้ขนาดตัวอักษร และพาดหัวข่าวใหญ่เล็กแล้วแต่บรรณาธิการและหัวหน้าข่าวแต่ละหน้าจะกำหนด จัด “ตีหน้า” เพื่อส่งให้ฝ่ายเรียงพิมพ์จัดการเรียงพิมพ์ในแต่ละหน้า ซึ่งหน้าในแทบทุกหน้าทั้งข่าวและต้นฉบับอื่นต้องจบในหน้า ไม่มีการต่อหน้าอื่นเหมือนกับข่าวหน้า 1

เสียงข้าวตอกแตกจากพิมพ์ดีดในกองบรรณาธิการจะเบาลง บางครั้งเงียบเสียง ในช่วงพักเที่ยงรับประทานอาหารกลางวัน

อีกงานหนึ่งคือฝ่ายพิสูจน์อักษร ตรวจการเรียงพิมพ์ให้ตรงกับต้นฉบับ คำถูกผิดก่อนส่งให้ช่างเรียงแก้อีกครั้ง และอีกครั้ง ตั้งแต่ตรวจพิสูจน์อักษรเป็นปรู๊ฟยาว คือตรวจตั้งแต่ยังไม่เข้าหน้า กระทั่งเมื่อนำมาเข้าหน้า ต้องตรวจอีกครั้ง ที่สุดต้องปรู๊ฟที่เรียกว่า “ปรู๊ฟน้ำ” คือปรู๊ฟด้วยกระดาษพิมพ์ที่พรมน้ำลงบนตัวเรียงพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นสำเนาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนตรวจแก้ให้เสร็จ ส่งไปปรู๊ฟกระดาษแก้ว ไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือพิมพ์ลงบนแผ่นเพลสส่งเข้าโรงพิมพ์

ห้วงที่ผมมาทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นห้วงที่มีแท่น หรือเครื่องพิมพ์กระดาษม้วน ระบบออฟเซ็ต

ก่อนหน้านั้น ระบบการพิมพ์มีเครื่องพิมพ์เป็นระบบโรตารี ต้องใช้เพลสเป็นแผ่นตะกั่วที่นำเข้าเครื่องแต่ละหน้า

การทำเพลสลักษณะนี้ เรียกว่า “ตบแบบ”

บันทึกเรื่อง “ชั่วโมงก่อนแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่” ของ ถาวร สุวรรณ ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 ฉบับ “ครูนักข่าว” บอกไว้ว่า

เวลานั้นมีเหลือหน้าหนึ่งกับหน้าต่อข่าวเท่านั้น อย่างไรเสียก็คงได้ยินเสียงแท่นพิมพ์ทำงาน เราคิดกันว่า คือชัยชนะของเรา

ผมถามไปทางช่างเรียงตลอดเวลาว่า ทำไปถึงไหนแล้ว ยกหน้าต่อลงไปที่ห้องแท่นพิมพ์หรือยัง หน้าใน “ตบแบบ” หมดหรือยัง และสุดท้ายผมถามว่า สี่ทุ่มเสร็จไหม คำตอบต้องมาจากห้องแท่นคือน่าจะเรียบร้อย

ผมนั่งไม่ติด เดินลงไปที่ห้องแท่นพิมพ์ซึ่งสมัยนั้นใช้แท่น “ตบแบบ” โดยเป็นแท่นระบบ “โรตารี” เมื่อช่างเรียงยกหน้าหนังสือลงมาแล้วก็จะเอากระดาษที่มีไส้ในเป็นกระดาษซับหนาปิดทับลงบนกรอบหน้าแล้วอัด กระดาษนั้นก็จะเป็น “แบบ” สำหรับขดตามรูปโค้งเพื่อเทตะกั่วหล่อออกมาเป็นหน้าๆ ไป…

ครั้นแล้วหน้าทุกหน้าที่หล่อตะกั่วแล้วก็ถูกยกเข้าไปสอดกับตัวแท่นพิมพ์ อีกไม่กี่นาทีแท่นพิมพ์ก็จะเดินเครื่อง… คือการพิมพ์หนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายของระบบโรตารี คือหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยซึ่งย้ายจากถนนสีลมมาอยู่ที่หัวถนนดินแดง แล้วสั่งเครื่องพิมพ์แบบโรตารีเข้ามาพิมพ์หนังสือพิมพ์

เพียงไม่นานจากนั้น ระบบการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์โรตารีปรับเปลี่ยนเป็นระบบเครื่องออฟเซ็ต เปลี่ยนจากระบบ “ตบแบบ” เป็นระบบแผ่นเพลส และมีทั้งพัฒนาการ วิวัฒนาการเกี่ยวกับระบบการพิมพ์ที่น่าศึกษา

ผมไม่ทันระบบ “ตบแบบ” แต่เริ่มทำงานเมื่อมีระบบออฟเซ็ตที่ใช้กระดาษม้วนมาพิมพ์หนังสือพิมพ์เป็นฉบับ ชั่วโมงละเป็นหมื่นฉบับ ความรวดเร็วของข่าวจึงเกิดขึ้นได้เพียงนับเป็นชั่วโมง เมื่อมีข่าวด่วนเกิดขึ้น

โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนข่าวในหน้า 1 ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันเมื่อเริ่มแรกยังออกจำหน่ายช่วงสาย และวันหนึ่งในห้วงนั้น ข่าว จอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากออกไปอยู่ต่างประเทศสักพักจะกลับเข้ามาประเทศไทย มีการชุมนุมคัดค้านทุกวัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องรอข่าวนี้ทุกวัน

ที่สุดเช้าวันนั้นมีข่าวว่าจอมพลถนอมกลับมา พี่ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม มาทำงานแต่เช้า โทรศัพท์ถึงผมและ อรุณ วัชรสวัสดิ์ ซึ่งควบคุมงานที่โรงพิมพ์ซินเสียนเยอะเป้า สี่แยกเอสเอบี ว่าจะเปลี่ยนหน้า 1 อย่าเพิ่ง ให้หนังสือพิมพ์ “ขึ้นแท่น” ภายในชั่วโมงนั้น “หน้า 1” ประชาชาติส่งมาถึงโรงพิมพ์เพื่อจัดทำเพลส

เป็นภาพ จอมพลถนอม กิตติขจร ยืนด้านซ้ายบนของหน้าหนังสือพิมพ์ ใบหน้ายิ้ม ยกมือโบก เคียงกับข่าวพาดหัว “ถนอมกลับเข้าไทย” เป็นหนังสnอพิมพ์ฉบับเดียวในเช้าวันนั้นที่มีข่าวนี้ ขายระเบิดไปเลยครับ