กรองกระแส / ปั่นป่วน โกลาหล ภายใน รัฐราชการรวมศูนย์ จาก พลังเยาวชน

กรองกระแส

 

ปั่นป่วน โกลาหล

ภายใน รัฐราชการรวมศูนย์

จาก พลังเยาวชน

 

ปรากฏการณ์ที่มี ส.ว.บางส่วนออกมาปฏิเสธบทบาทของตัวเอง ปฏิเสธบทบาทในการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

สะท้อนอะไร

ปรากฏการณ์ที่มี ส.ส.บางส่วนภายในพรรคร่วมรัฐบาลออกมาต่อต้านโครงการอันเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างเปิดเผยและโจ่งแจ้ง

สะท้อนอะไร

ปรากฏการณ์ที่มี ส.ส.บางส่วนไม่เพียงแต่ปฏิเสธนโยบายของรัฐบาล หากแต่มาร่วมกับฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของผู้สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร

สะท้อนอะไร

ปรากฏการณ์ที่มีกองเชียร์รัฐประหารออกมาเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อเข้าไปแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สะท้อนอะไร

 

ปฏิกิริยาแตกแยก

แยกตัวทางการเมือง

การที่กองเชียร์รัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ปฏิเสธบทบาทและความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

1 ยอมรับความล้มเหลว 1 เห็นควรให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่

การปฏิเสธบทบาทและความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานะแห่งนายกรัฐมนตรีเท่ากับยอมรับความล้มเหลว

1 ความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ความล้มเหลวของรัฐประหาร

เนื่องจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการวางแผนผ่านรัฐธรรมนูญ

นี่คือการปฏิเสธรัฐประหาร นี่คือการปฏิเสธรัฐธรรมนูญ

ส่วนหนึ่งจึงเป็นการไร้ความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง แต่ด้านหลักคือภาวะเสื่อมทรุดและไร้ประสิทธิภาพของอำนาจนำซึ่งยึดครองมาอย่างยาวนาน

นั่นก็คือ อำนาจนำภายใต้โครงสร้าง “รัฐราชการรวมศูนย์”

 

อำนาจจากปี 2557

การสืบทอดอำนาจ

ต้องยอมรับว่าสถานะของรัฐบาล สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนกันยายน 2563 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เมื่อ 6 กว่าปีก่อนอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สามารถที่จะจัดการฝ่ายตรงกันข้ามโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยให้อยู่ในกรอบได้อย่างเป็นจริง กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเดินไปในเส้นทางเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร

สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล

ขณะเดียวกัน แม้จะมีดาวดวงใหม่คือพรรคอนาคตใหม่ปรากฏขึ้นพร้อมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แต่ก็สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แสดงบทบาทในฐานะ ส.ส.

ยิ่งกว่านั้น ยังรุกไล่เล่นงานพรรคอนาคตใหม่ผ่านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เท่ากับพลานุภาพของ คสช. พลานุภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีอยู่

 

อนิจจังแห่งอำนาจ

รัฐราชการรวมศูนย์

แม้หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อำนาจก็มิได้ดำรงอยู่อย่างสถิตสถาพร

หากแต่อยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจัง

โดยเฉพาะนับแต่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา อำนาจของ คสช.ก็ถูกท้าทายโดยปัจจัยทางการเมืองและสังคม

1 ปัจจัยของพรรคอนาคตใหม่ 1 ปัจจัยจากการยุบพรรคอนาคตใหม่

เวลาเพียง 1 ปีก่อนและหลังการเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้เคลื่อนไหวและปักธงในทางความคิดที่พุ่งปลายหอกไปยัง “รัฐราชการรวมศูนย์” อย่างต่อเนื่อง

ความคิดนี้ได้แพร่กระจายในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็น “นิวโหวตเตอร์”

เมื่อมีการดำเนินกลยุทธ์ยุบพรรคอนาคตใหม่เช่นเดียวกับที่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จึงก่อให้เกิดสภาพการณ์ “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมา

เกิดการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างคึกคักและกว้างขวาง

 

ปรากฏการณ์รุ่นใหม่

ของเยาวชนปลดแอก

อาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ของ “เยาวชนปลดแอก” ที่เริ่มจากการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม เป็นผลสะเทือน 1 จากการยุบพรรคอนาคตใหม่ 1 จากปรากฏการณ์แฟลชม็อบ

แต่เมื่อเข้าสู่การชุมนุมของธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม

ปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” ก็ทะลุเพดานในทางความคิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และกลายเป็นขบวนการเยาวชน สะท้อน “พลัง” ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างใหญ่หลวง

นี่คือปัจจัยใหม่ทางการเมืองที่ทะลวงเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สั่นสะเทือนไม่เพียงแต่ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่สร้างความหวั่นไหวให้กับภายในโครงสร้างของ “รัฐราชการรวมศูนย์” อย่างมีนัยสำคัญ

            “อาฟเตอร์ช็อก” คือ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังประสบ