อนุช อาภาภิรม : โควิด-19 ในฐานะดิสรัปชั่นระบบโลก

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (21)

โควิด-19
กับการสะดุดใหญ่
ทางเศรษฐกิจ-สังคม

โควิด-19 ก่อให้เกิดการสะดุดหยุดชะงักของการต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ-สังคมทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมืองใหญ่ทั้งหลายที่มีผู้คนสัญจรไปมาหนาแน่นกลับเงียบร้าง รถตามถนนก็แทบไม่ปรากฏ

ระบบการผลิต การบริโภค การค้าการลงทุนและโซ่อุปทานหยุดชะงัก

เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย สังคมตึงเครียดซึมเศร้า เกิดการปะทุทางอารมณ์ เป็นการประท้วง เป็นต้น

รัฐทั้งหลายถูกคุกคามว่าอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลว

ด้วยความมั่งคั่งล้นเหลือ เกิดความเชื่อขึ้นว่าเงินสามารถซื้อและดลบรรดาลได้ทุกสิ่ง เช่น สามารถผลิตวัคซีนด้วยความเร็ววาร์ป ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดความเห็นว่าจะสามารถควบคุมการระบาด และตัวไวรัสเองในเวลาไม่ช้า ด้วยความเชื่อมั่นในระบบตลาด พยากรณ์กันว่าเศรษฐกิจจะกลับฟื้นตัวแบบรูปตัว V ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมในเวลาอันสั้น

แต่เรื่องกลับจะไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว

บางอย่างเป็นตรงข้าม

ปลายเดือนสิงหาคม 2020 ปรากฏว่า โคโรนาไวรัสยังไม่ได้ “เชื่อง” ลง การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วในอัตราทวีคูณ

หลายแห่งเกิดการระบาดซ้ำ ต้องปิดเมืองปิดรัฐอีก

การเปิดโรงเรียนในหลายประเทศดำเนินไปท่ามกลางความกังวลของผู้ปกครองและครู

การประชาสัมพันธ์เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ถูกมองด้วยสายตาที่เคลือบแคลง

ผู้คนในสหรัฐที่ยอมรับการให้วัคซีนนี้มีเพียงร้อยละ 50 ท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของขบวนการต่อต้านวัคซีนในที่นั้น

(ดูรายงานข่าวของ Warren Cornwall ชื่อ Just 50% of American plan to get a COVID-19 vaccine. Here”s how to win over the rest ใน sciencemag.org 30/06/2020)

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้สองระบบ ระบบหนึ่งได้แก่ สังคมมนุษย์ อีกระบบหนึ่งคือ โคโรนาไวรัสที่ก่อความไม่แน่นอน ความรวนเรในนโยบายและการปฏิบัติ ด้านหนึ่งหวั่นเกรงอันตรายร้ายแรงจากโควิด-19

อีกด้านหนึ่งต้องการให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมในเวลาอันสั้น

ความซับซ้อนของสังคมมนุษย์ปัจจุบันมีลักษณะพิเศษพื้นฐานสองข้อได้แก่

ข้อแรก การแปรเป็นเชิงการเงิน

และข้อที่สอง การเป็นโลกาภิวัตน์ การแปรเป็นเชิงการเงินทำให้ทุนการเงินมีอำนาจมากขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกรอบโลก เป็นตัวปั่นราคาและมูลค่าของสิ่งต่างๆ ทำให้ทรัพย์สินทางการเงิน เช่น พันธบัตรและหุ้นมีมูลค่าเกินจริง เข้าขั้นเป็นฟองสบู่ และทำให้ทรัพย์สินอื่นคืออสังหาริมทรัพย์ถูกปั่นขึ้นด้วย เหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแก้ไขไม่ได้

โควิด-19 ยิ่งเร่งความเหลื่อมล้ำนี้

ในสหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่เริ่มมีการระบาด ปรากฏว่าชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคนตกงาน จำนวนมากต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐเพื่อยังชีพ

แต่เศรษฐีพันล้านดอลลาร์จำนวนกว่า 600 คน มีรายได้เพิ่มขึ้น 434 พันล้านดอลลาร์ ยอดรวมความมั่งคั่งเป็น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์

ครอบครัวชาวอเมริกันที่รวยที่สุด ร้อยละ 10 เป็นเจ้าของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มูลค่าถึงร้อยละ 84 ของมูลค่าทั้งหมด

ครอบครัวร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นเจ้าของหลักทรัพย์มูลค่าเพียงร้อยละ 16 ของทั้งหมด

สำหรับครัวเรือนที่อยู่ระดับล่างสุดร้อยละ 50 เกือบไม่ได้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์เลย

เหล่านี้เกิดจากธนาคารกลางสหรัฐใช้เงินราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงราคาหลักทรัพย์ไว้ในช่วงการระบาด

(ดูบทความของ Wolf Richter ชื่อ The Rich Got Richer During the Pandemic. Bailed Out by the Fed. How it Happened and Why That”s Bad for the Economy ใน wolfstreet.com 19/08/2020) มันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน

 

สําหรับข้อที่สอง ได้แก่ โลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ก็มีลักษณะไม่ยั่งยืนเช่นกัน

อุปสรรคใหญ่ของโลกาภิวัตน์ได้แก่ลัทธิชาตินิยม ซึ่งได้พัฒนาไปอย่างหลากหลาย

เช่น ชาตินิยมเชิงสังคม ชาตินิยมคนขาวสูงส่ง ชาตินิยมทรัพยากร ท้ายสุดบังเกิดมีชาตินิยมวัคซีน

โลกาภิวัตน์กล่าวอย่างสั้นคือตลาดไร้พรมแดน พรมแดนแห่งรัฐชาติมีความสำคัญลดลง แต่ในทางเป็นจริง รัฐชาติและลัทธิชาตินิยมยังคงทรงพลังในการเมืองระหว่างประเทศ

รัฐชาติต่างๆ พยายามรักษาและหาผลประโยชน์ของตนให้มากที่สุดจากกระบวนโลกาภิวัตน์

จากนี้นำมาสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ ก่อความรวนเรให้แก่โลกาภิวัตน์เป็นอันมาก

ที่ผ่านมา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โลกได้เข้าสู่กระบวนโลกาภิวัตน์ครั้งแรก โดยมีขนาดและผู้แสดงน้อยกว่าในปัจจุบันมาก

พื้นที่และผู้แสดงสำคัญอยู่ในยุโรปและอเมริกาหรือโลกตะวันตก

ในครั้งนั้นเกิดความขัดแย้งใหญ่ระหว่างอังกฤษ-อเมริกากับเยอรมนีในการชิงความเป็นใหญ่ในโลก จนเกิดเป็นสงครามใหญ่ถึงสองครั้ง

โลกาภิวัตน์ต้องสะดุดหยุดชะงักเป็นเวลาหลายสิบปี

กว่าจะรู้ผลว่าสหรัฐเป็นผู้ชนะเด็ดขาดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้ฟื้นโลกาภิวัตน์ขึ้นมาใหม่

โลกาภิวัตน์ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วโลก มีผู้แสดงทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่

มีการจัดตั้งกลุ่มและองค์กรจำนวนมาก ฝ่าฟันวิกฤติมาได้หลายครั้งตั้งแต่วิกฤติน้ำมันจนถึงวิกฤติการเงินคล้ายมีความเข้มแข็ง เป็นพลังที่ไม่อาจต้านทานได้และไม่หวนกลับ ก็ปรากฏความเปราะบาง ความไม่แน่นอน เมื่ออุปสรรคแบบเก่ากลับมาอีก

ซึ่งครั้งนี้เป็นการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกตามลำดับ

ความขัดแย้งนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบทุนโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่ปัญหาของทรัมป์กลุ่มเดียว ดังนั้น มันจะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะรู้ว่าใครแพ้ใครชนะ

จากนี้เกิดความเป็นไปได้หลายอย่างว่า โลกาภิวัตน์ครั้งนี้จะหยุดชะงัก แตกตัวและล่มสลายอย่างไร

หรือจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสหรัฐ-จีน เหมือนอย่างที่เคยเกิดระหว่างอเมริกา-อังกฤษ กับเยอรมนีหรือไม่

 

สําหรับไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 นั้น ก็มีความซับซ้อนในตัวมันเอง มีวิวัฒนาการปรับตัวได้ตามสภาพสิ่งแวดล้อม เชื่อกันว่าไวรัสนี้ใช้ค้างคาวบางชนิดเป็นแหล่งเก็บเชื้อ เมื่อปรับตัวจนสามารถเข้าสิงในตัวมนุษย์ได้แล้ว มันก็ปรับตัวไปต่างๆ

เช่น จำนวนมากไม่แสดงอาการหรือมีอาการป่วยไข้น้อย จำนวนหนึ่งเป็นหนักต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ที่ป่วยไข้จำนวนมากเกิดขึ้นที่ปอด แต่ก็มีบางคนที่เกิดอาการที่หัวใจและระบบประสาท บางคนก็หายดี บางคนหายแล้วมีอาการค้างอยู่เป็นเดือน

ความซับซ้อนดังกล่าว ก่อความไม่แน่นอนหรือความไม่รู้ของมนุษย์ต่อโควิด-19 หลายประการ เช่น อัตราการติดเชื้อ การแพร่เชื้อ การเข้ารักษาในโรงพยาบาล และการตายเป็นอย่างไร

เชื้อไวรัสนี้แตกต่างกันในกลุ่มประชากรต่างๆ อย่างไร อัตราผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีมากน้อยเพียงใด บุคคลเหล่านี้แพร่เชื้อต่างกันหรือไม่อย่างไร อัตราส่วนของผู้มีภูมิต้านทานโควิด-19 มีมากน้อยเพียงใด ความคงทนของภูมิคุ้มกันยาวนานเพียงใด ไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์หรือไม่ และเป็นในทางดีหรือทางร้าย

เหล่านี้ทำให้นโยบายทั้งหลายมีความไม่แน่นอน หรือเหวี่ยงไปมาได้

 

โควิด-19
กับระบบซับซ้อน
และปัญหาซับซ้อนที่ปรับตัวได้

โควิด-19 เผยให้เห็นถึงความสำคัญจำเป็นของการมองระบบต่างๆ ที่เป็นตัวมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจำนวนมากว่าเป็นระบบซับซ้อนและเล็งเห็นว่าปัญหาใหญ่ทั้งหลายที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่

เป็นปัญหาซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive Systems Problem) เราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องทั้งสองนี้

ระบบซับซ้อนเป็นระบบที่ประกอบด้วยองค์ย่อยจำนวนมากที่ทำงานเฉพาะด้านแบบกึ่งเป็นตัวเอง องค์ย่อยเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์หรือการกระทำระหว่างกัน สร้างเป็นระบบที่ซับซ้อนขึ้น

ตัวอย่างระบบซับซ้อนที่เป็นตัวมนุษย์ หรืออยู่ในธรรมชาติ เช่น สมองมนุษย์ รังมดและปลวก ภูมิอากาศ การระบาดของไวรัส (ไม่นับที่เกิดจากการทำสงครามชีวภาพ)

ตัวอย่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ระบบเศรษฐกิจ-สังคม อินเตอร์เน็ต ความซับซ้อนในสมองมนุษย์ เห็นได้จากว่า มีเซลล์ประสาทในสมองจำนวนแสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์มีจุดประสานประสาทหรือไซแนปส์อีกมาก รวมแล้วมีนับเป็นล้านล้านจุด

ปฏิสัมพันธ์ของเซลล์ประสาทเหล่านี้สร้างระบบอุบัติใหม่เรียกว่า “จิตสำนึก” เป็นต้น

จิตสำนึกนี้เกิดขึ้นมาเอง ไม่มีใครควบคุมหรือเป็นผู้ออกแบบ

ระบบซับซ้อนดังกล่าวเป็นระบบเปิด มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา เป็นการถ่ายโอนข่าวสาร พลังงานและวัตถุไป-มาข้ามขอบเขตของระบบ เกิดการป้อนกลับหรือความทรงจำ (การเรียนรู้จากประสบการณ์) ช่วยให้ระบบนั้นสามารถปรับตัว มีความคงทนต่อการรบกวนต่างๆ

ลักษณะและพฤติกรรมของระบบซับซ้อน ไม่ได้เป็นแบบเชิงเส้น เหตุเล็กอาจเกิดผลใหญ่ได้ เรียกว่า “ผลกระทบปีกผีเสื้อ”

เป็นพลวัตมีหลายมิติไม่ได้สมดุล

ต้องการพลังงานจากภายนอกตลอดเวลาเพื่อรักษาองค์ประกอบต่างๆ ของระบบไว้ และท้ายสุดมันปรับตัวได้

มีนักศึกษาระบบบางคนเปรียบเทียบลักษณะและความแตกต่างระหว่างระบบองค์ประกอบเดียวหรือองค์ประกอบน้อย (Simple System) กับระบบซับซ้อนมีองค์ประกอบมาก ไว้ว่า ระบบองค์ประกอบน้อยมีลักษณะลดทอน เช่น สังคมโบราณซึ่งแม้ว่าโดยธรรมชาติเป็นระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้

แต่เมื่อเทียบกับสังคมปัจจุบันก็มีความซับซ้อนน้อยกว่ามากในหลายด้าน เช่น จำนวนประชากร การแบ่งงานกันทำ การใช้วัตถุดิบและพลังงาน ปริมาณและความหลากหลายของผลผลิต การขนส่งและการค้า การสร้างสารและการสื่อสาร การลดทอนในสังคมโบราณอาจเป็นการลดทอนว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้มาจากพวกกาลีบ้านกาลีเมืองไม่กี่คน หรือผู้แก้ปัญหาได้แก่พระเอกขี่ม้าขาวบางคน เป็นต้น

แต่ในสังคมซับซ้อนปัจจุบัน เพ่งเล็งถึงการอุบัติใหม่ของปัญหา การเคลื่อนไหวผู้คนหลากหลายฐานะอาชีพ ในการปรับตัวและแก้ไขปัญหา

ความแตกต่างที่สำคัญอื่นได้แก่ระบบน้อยองค์ประกอบ เน้นความมีประสิทธิภาพเห็นว่าความมีประสิทธิภาพช่วยให้ระบบคงทน

ส่วนระบบซับซ้อนเน้นการปรับตัวซึ่งจะช่วยให้ระบบอยู่รอด ระบบน้อยองค์ประกอบเน้นการทำนายได้ ส่วนระบบซับซ้อนยอมรับความไม่แน่นอน ระบบง่ายๆ เน้นการออกแบบให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ระบบซับซ้อนเน้นการวิวัฒน์ ว่าจะมีวิวัฒน์ไปในทางใด ระบบน้อยองค์ประกอบชอบเรื่องการมีลำดับชั้น ความเคร่งครัด การตายตัว และลิขิตสวรรค์ ส่วนระบบซับซ้อนเน้นการกระจาย ความยืดหยุ่น การเป็นพลวัตและการทดลอง

(ดูบทความของ Robert C. Jones ชื่อ Adapting to Uncertainty : Complexity Science and COVID-19 ใน niskanencenter.org มิถุนายน 2020)

 

โควิด-19 ยังได้ทำให้ผู้คนทั้งหลายได้ตระหนักว่ามนุษย์ได้ก้าวสู่ขั้นของปัญหาแบบใหม่ ที่ไม่สามารถใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ อย่างเช่นที่เกิดในสังคมไม่ซับซ้อนมากได้อีกต่อไป ผู้คนทั้งหลายย่อมพบว่า โควิด-19 เป็นมากกว่าปัญหาการแพทย์สาธารณสุข หากแต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีดำเนินชีวิต การเมือง ไปจนถึงปัญหาทางจริยธรรมด้วย

ปัญหาโควิด-19 มีตัวไม่รู้อยู่จำนวนมาก ไม่มีรูปแบบแนวทางหรือยาและวัคซีนมาแก้ปัญหาได้สำเร็จรูป หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามการวิวัฒน์ สถานการณ์ และความต้องการที่ไม่สมบูรณ์และขัดแย้งกัน คำตอบนี้ไม่ใช่ว่าถูกหรือผิด หรือจริงหรือเท็จ แต่เป็นดีกว่าหรือแย่กว่า และมีขั้นตอนของการปฏิบัติที่ต่างกันไป (ดูบทความของ John Pourdehnad และคณะ ชื่อ Disruptive Effects of the Coronavirus – Errors of Commission and of Omission? ใน jdc.jefferson.edu มีนาคม 2020)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการนำแบบซับซ้อน และสมรภูมิสงครามกับโควิด-19