อภิญญา ตะวันออก : เรื่องบ้านๆ กับเครื่องชั่งตวงวัดฉบับเขมร

อภิญญา ตะวันออก

พอลองมาเป็นชาวไร่

ฉันก็พบมุมมองการอ่านที่เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ว่าทำไม?

ซึ่งพลันเมื่อได้ลงมือทำปลูกข้าวโพดจริงนั้น ฉันก็พบอีกว่าวิถีประจำวันของเกษตรกรนั้นเต็มไปด้วยสกิลการใช้เครื่องมือของพวกชั่งตวงวัดตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวและถนอมดูแลเมล็ดพันธุ์

จำได้ว่าตอนค้นพบ “รงเวียส่รงวาล่” มาตราชั่งตวงวัดและปฏิทินฉบับเขมร ฉันเอาแต่สนใจเรื่องตัวเลขและการปกครองมณฑลของกัมพูชายุคนโรดม-สีโสวัตถิ์ และเป็นที่มาของนาม “หลวงยกกระบัตรจโรยจังวา” ผู้ให้แรงบันดาลใจในการอ่านระบบมาตราท้องถิ่นที่เขมรมีมาก่อนแล้ว กระทั่งฝรั่งเศสมาบังคับให้ใช้ของตน

ตานี้ ฉันก็ค้นพบอีกว่า เขมรแต่เดิมพวกเขารังวัดที่ดินเพาะปลูกเป็นไร่และงานมาแต่โบราณกาล

ฉันดีใจมาก เพราะตั้งแต่ฉันอยู่เขมรและพบคนเมือง-ชนบท เหมือนกับพวกเขาทั้งหมดรู้จักแต่แฮกต้าซึ่งเป็นระบบของพวกตะวันตก

ไร่เขมรมีหน้ากว้างยาว 40 x 40 เมตร 1,600 ตารางเมตร “1 ไร่เสมอด้วย 4 งาร (งาน) 1 งานกว้าง x ยาว = 20 พะเยียม หรือ 400 ตารางพะเยียม” พะเยียมเขมรจึงน่าเทียบได้กับวาของไทย

แต่ระบบพะเยียมเขมรนั้นไม่ซับซ้อนอะไร โดยใช้ร่างกายของเรากางแขนออกไปทั้ง 2 ข้างมีค่าเท่ากับ 1 พะเยียมพอดี!

นี่คือระบบชั่งตวงวัดเขมรที่ใช้กันมาแต่โบราณจนคริสต์ศตวรรษที่ 19

แต่ให้ตายเถอะ ฉันเองไม่คิดว่าวิถีชีวิตประจำวันของชาวศตวรรษที่ 21จะมาไกลขนาดนี้ อย่างที่เห็นว่า พอหยิบมือถือที่โหลดแอพพลิเคชั่น-พิกัดนา ฉันก็ออกไปวัดที่ดินไม่กี่ไร่ของตน เพื่อหาพิกัดภูมิศาสตร์ละติจูดลองจิจูด (ค่าเอ็กซ์วาย) ตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอเพื่อพิสูจน์ถิ่นฐานทำกินตอนสมัครตนเป็นเกษตรกร

ช่างง่ายดายอะไรเช่นนี้ แต่เมื่อคิดถึงวิถีอดีตของบรรพชนอุษาคเนย์ที่คิดค้นตำรับ “รงเวียส่รงวาล่” หรือมาตราหน่วยชั่งตวงวัดต่างๆ ตามชีวิตประจำวันของกัมพูชา ก็ให้พบว่ามีความน่าทึ่งในเครื่องไม้เครื่องมือของชาวพื้นถิ่นเกษตรกรรมแต่โบราณ ที่ชัดเจนเรียบง่ายและเหมาะแก่ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ลืมตาทำงานในไร่นาจนถึงเข้านอนตอนค่ำ

หลักฐานเก่าแก่ที่พอจะร่วมสมัยสุด คือภาพฝาผนังวัดบูรณ์-นครเสียมเรียบ แต่ที่เก่าแก่กว่านั้น คือจารึกต่างๆ ที่ค้นพบจากปราสาทหินยุคกลางใกล้สุดคือราว 800 ปีสมัยชัยวรรมันที่ 7

 

“รงเวียส่รงวาล่” เขมรนี้จึงมีการจำแนกละเอียดย่อยลงไปและมักเกี่ยวข้องกับผลผลิตท้องถิ่น ซึ่งพืชไร่ยืนพื้นเหล่านั้น มีถั่ว งาและข้าวเป็นสำคัญ สัตว์นั้น ปลา (แห่งตนเลสาบ) คือตัวกำหนดเครื่องมือชั่งตวงวัดสำคัญ ที่มีแต่กระทั่งมือมนุษย์ทั้ง 2 ข้าง ไปจนถึงระบบมาตราต่างๆ

รงเวียส่รงวาล่ของกัมปูเจียจึงบ่งชัดว่า วิถีเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ไปด้วยสแร-นาข้าวและสัตว์น้ำนั้น เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบชั่งตวงวัดเขมรนี้จะย้อนบอกเล่าถึงทำกินของผู้คนในภูมิภาครอบทะเลสาบใหญ่และใช่แต่อุปกรณ์ทำกินเท่านั้น โดยแก่นแท้ว่า “รงเวียส่รงวาล่” คือหน่วยมาตราผลิตผลของเกษตรกรรมที่หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ข้าวและปลา” รวมทั้งศิลปะของภาษาที่ปรากฏอยู่บนประติมากรรมและจารึกบนปราสาทหินยุคกลาง

เช่นที่ปราสาทบันเตียฉมาร์ คำว่า “การุง” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเครื่องมือชั่งตวง “ข้าวสาร” เก่าแก่โบราณและให้น้ำหนักที่ 50 กิโลกรัมต่อ 1 การุง นับเป็นมาตราเก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่ร่วมพันปีมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบข้อความวรรคหนึ่งระบุว่า “กะออมสำหรับใส่น้ำล้างเท้า ทำด้วยเงินจำนวนมวยดำบอ(ร์)” จากศิลาจารึกหลักที่-K171 ค.ศ.969 ที่จังหวัดกำปงทม

“1 ดำบอ” คืออะไร?

 

ให้นึกถึงหมูดำบอพันธุ์พื้นบ้านของไทย แต่ดำบอเขมรที่นี้ หมายถึงจำนวน 4 กะออมล้างบาท ในจารึกหลักนี้จึงมีกะออม 4 อัน ถ้าพบว่า “ปีดำบอ” หมายถึงจำนวน 8

เริ่มจากระบบชั่งตวงวัดเขมรแบบจักสาน หรือกระบุงคนไทยคุ้นเคยนั้น มีตั้งแต่ “เตา” (taw) คือเครื่องตวงข้าวที่ทำจากหวายไผ่หรือไม้มีขนาดเป็นทรงกลมและทรงเหลี่ยม “1 เตา” เท่ากับ 12 กิโลกรัมข้าวเปลือกและ 15 กิโลกรัมข้าวสาร เทียบเท่ากับ “หนึ่งถัง” ของไทย

แต่ถังข้าวสารไทยก็มีขนาดไม่เท่ากับถังข้าวสารเขมรที่ใหญ่กว่าถังไทยราว 1 เท่า หรือเท่ากับข้าวสาร 30 กิโลกรัม อันเป็นขนาดเท่ากับ “ละอี” ซึ่งเป็นเครื่องตวงของเขมรอีกชนิดหนึ่ง

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำว่าถังนี้ น่าจะเป็นเพียงภาษาพูดทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากพบการใช้ถังเป็นอุปกรณ์ตวงข้าวในกัมพูชา โดยทางปฏิบัตินั้น ชาวเขมรใช้เตาตวงแทนแต่นับเป็นจำนวนถัง ซึ่ง 2 เตาเทียบเท่ากับ 1 ถัง ถ้าต้องการข้าวสาร 10 ถังก็ต้องตวง 20 เตา

กล่าวโดยนัยทีนั้น ชาวเขมรยังใช้ “ละอี” ไม่สู้จะแพร่หลาย จึงต้องใช้เตาตวงแทนเป็นส่วนใหญ่ และให้น่าสงสัยว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับถังที่ใช้ตวงของไทยเพราะกำหนดค่าไม่เหมือนกัน และเชื่อได้ว่าเขมรเองไม่เคยใช้ถังตวงข้าวมาแต่แรก

ในกลุ่มเดียวกันนี้ ยังมี “กนเตียง” ที่รูปร่างเล็กกว่าเตาครึ่งหนึ่งหรือ 1 ใน 3 ดังนี้ บางครั้งชาวนาจึงเรียกเครื่องตวงชนิดนี้ว่าโกนเตา/ลูกเตาบ้าง “ขงึง” บ้าง แต่โดยชื่อกนเตียงแล้วกลับไม่เป็นที่รู้จัก

สรุป : เตาใหญ่กว่ากนเตียงแต่เล็กกว่าละอี-ที่มีขนาดเท่ากับถัง! ทั้งหมดใช้ตวงเมล็ดพันธุ์รวมทั้ง “องกอร์” ที่แปลว่าข้าวสาร!

 

ตานี้ก็มาถึง “ทะนาน” อุปกรณ์ที่ทำจากกะลาและใช้ตวงข้าวที่คนไทยรู้จักดี แต่เขมรเรียกสิ่งนี้ว่า “เนีย” (เนียลิ์) จากงานวิจัยของสำนักพิมพ์ไรยุม พบว่าในปี พ.ศ.2552 ชาวเขมรชนบทยังนิยมใช้เนียมากกว่ากระป๋องสังกะสี

นอกจากเนีย/ทะนาน ยังมีเนียที่เล็กลงมาและทำจากกะลาเช่นกัน แต่ชาวเขมรเรียกว่า “ดก” สำหรับมาตรฐานจำนวนของทะนานอย่างเนียและดกนั้น อาจพิสดารชั้นธรรมดาเมื่อเทียบเท่ากับการตวงข้าวสารถั่วงาด้วยอุ้งมือทั้ง 2 ของมนุษย์ซึ่งเรียกกันว่า “กมบอง” จ้ะ

วิธีก็คือ ใช้มือทั้ง 2 ข้าง ให้มีลักษณะ “กบองได” หรือประกบกัน โดยจะกอบเป็นข้าวสารถั่วงาอะไรก็ได้ ถ้ามือเดียวเรียกว่า “มวยตูกได” โดย “1 กมบอง” มีค่าเท่าใดไม่ทราบ แต่ “10-อุ้งมือ” (ด็อบ่มวยได) เท่ากับ 1 พลวน

อนึ่ง “พลวน” นี้มีเรื่องเล่าเป็นคำเก่าแต่โบราณ มีหลักฐานพบว่า ศิลาจารึกหลัก-K903 (ราวศตวรรษที่ 6) พลวนใช้เป็นจำนวนเติม มีค่าเท่ากับดำบอ (จำนวน 4) สิบเท่า หรือ 40 นั่น!

กล่าวกันว่า “ดบ่กมบอง” หรือสิบมือกอบ = “1 พลวน” สำหรับไม้ผลมะม่วง/สวายเบา ราว 50 ผล แต่โดยเฉลี่ยแล้ว 1 พลวนมีจำนวนค่าราว 40 เช่นเดิม

แต่ถ้าเล็กลงไปอีกก็เรียกว่า “กดาบ่” “องกอร์ 1 กดาบ่” ก็คือข้าวสาร 1 กำมือ

หนึ่งกำมือยังมากไป ก็ให้แค่ “หยิบ” โดยกรีดหรือจีบนิ้วทั้ง 5 บรรจงหยิบเมล็ดข้าวถั่วงาแต่ปลายนิ้ว ภาษาเขมรเรียกชั่งตวงประเภทนี้ว่า “จึบ” แต่บางถิ่นก็เรียก “จืบ”

ซึ่งหากเป็น “มวยจับ” หมายถึงข้าวรวง 1 กำมือ หรือกำเคียวหนึ่งจับ ฟังดูคล้ายกับ “จับขนมจีน” แต่ไม่ เขาใช้ “จงหวาย” ที่เป็นลักษณะนามของหมวดเชือกและหวายไปนั่น

บ่ายแก่แล้ว เห็นทีต้องไปพรวนดิน ฉันมีจอบ พร้าเป็นอาวุธ และปุ๋ยอีกจำนวนหนึ่ง

ฉันจะ “จึบ” ปุ๋ยด้วยปลายนิ้ว โปรยลงโคนข้าวโพดประมาณ จากนั้นก็ลงจอบ “ฉับๆ”

แต่ไม่ใช่ “มวยจับ” พอเหงื่อตก “พลั่กๆ” นึกถึงปลาทะเลสาบ