กรองกระแส : การแยก แตกตัว ทางความคิด ทางการเมือง แยกแตก จากภายใน

ถามว่าปรากฏการณ์ที่ สปท. อย่างนักหนังสือพิมพ์ผู้มีเกียรติภูมิอย่าง นายสุทธิชัย หยุ่น และนักหนังสือพิมพ์ผู้เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าง นายมานิจ สุขสมจิตร ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อและจดทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ สะท้อนอะไร

สะท้อนว่าคนเหล่านี้ถูกยุยงส่งเสริมจาก นายทักษิณ ชินวัตร หรือจากพรรคเพื่อไทยอย่างนั้นหรือ

คนที่ติดตามผลงานของ นายสุทธิชัย หยุ่น คนที่ติดตามบทบาทของ นายมานิจ สุขสมจิตร สามารถตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

เหมือนกับเมื่อตอนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.อันนำไปสู่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นไปได้หรือที่คนระดับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคนอย่าง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ไปรับงานมาจาก นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

เหมือนกับเมื่อตอนที่กัลยาณมิตรแห่งวัดพระธรรมกายออกมาต่อต้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 เหมือนกับเมื่อตอนที่มวลมหาประชาชนออกมาต่อต้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 14/2560 เป็นไปได้หรือที่จะกระทำไปตามคำยุยงและเสี้ยมสอนจาก นายทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคไทยรักไทย

เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

สนิม เกิดแต่เนื้อ

ปัจจัย จากภายใน

ที่นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมากด้วยเกียรติภูมิอย่าง นายสุทธิชัย หยุ่น ที่นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมากด้วยบทบาทอย่าง นายมานิจ สุขสมจิตร ออกมาคัดค้านและต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อและจดทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

ก็เพราะร่างกฎหมายเหล่านั้นมาจาก “คสช.”

ที่อดีตรองนายกรัฐมนตรีอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และอดีตรัฐมนตรีอย่าง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ออกมาคัดค้านและต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมอันนำไปสู่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ก็เพราะร่างกฎหมายนั้นมาจาก “คสช.”

ที่บรรดากัลยาณมิตรแห่งวัดพระธรรมกายทั้งในและนอกประเทศออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 ที่บรรดามวลมหาประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 14/2560

ก็เพราะร่างคำสั่งอันเสมือนเป็นกฎหมายนั้นมาจาก “คสช.”

หากไม่มีร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ นายสุทธิชัย หยุ่น นายมานิจ สุขสมจิตร คงมีชีวิตอยู่อย่างสงบ หากไม่มีร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมอันจะนำไปสู่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็คงจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบ เช่นเดียวกับกัลยาณมิตรแห่งวัดพระธรรมกาย เช่นเดียวกับประชาชนซึ่งต้องใช้รถกระบะ

เป็น คสช. หรือองคาพยพแห่ง คสช. ต่างหากที่ทำการในลักษณะ “เรียกแขก”

ปฏิกิริยา การเมือง

พวกเดียวกัน คนกันเอง

ต้องยอมรับว่าทั้ง นายสุทธิชัย หยุ่น และ นายมานิจ สุขสมจิตร มีความเห็นอกเห็นใจและมิได้คัดค้านต่อต้านรัฐประหาร โดยเฉพาะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นายมานิจ สุขสมจิตร ยังรับเชิญไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ

ยิ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยิ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ยิ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ยิ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วัดพระธรรมกายนั้นก็เป็นวัดในสังกัดมหาเถรสมาคม อยู่ในมหานิกาย

มวลมหาประชาชนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมผู้นั่งรถกระบะผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 14/2560 ก็เป็นชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตโดยปรกติและตั้งความหวังว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. จะคืนความสุขให้กับพวกเขา

แต่แล้วพวกเขาก็เริ่มสัมผัสกับคำสั่ง ประกาศ ร่างกฎหมายที่มีแนวโน้มว่าจะก่อปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้มากกว่าจะทำให้สังคมมีความสงบสุขอย่างแท้จริง

ร่าง พ.ร.บ.สื่อก็เหมือนกับย้อนอดีตไปยัง ปว. ฉบับที่ 17 และฉบับที่ 42 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมอันจะนำไปสู่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็เหมือนกับเป็นการนำเอายุคแห่ง “สามทหาร” หวนคืนมา คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 เท่ากับปิดล้อมวัดพระธรรมกาย คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 14/2560 เท่ากับทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านอันดำรงอยู่กับวัฒนธรรมรถกระบะลงไปภายในพริบตาพลัน

พวกเขาล้วนได้รับความเดือดร้อน จึงออกมาคัดค้านและต่อต้าน

แยก และแตกตัว

ความคิด การเมือง

พวกเขาล้วนเคยตั้งความหวังและฝากความหวังไว้กับ คสช. เป็นกระบวนการบริหารจัดการของ คสช. ต่างหากที่ก่อปฏิกิริยาให้เกิดขึ้น เมื่อมิอาจทนได้จึงได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

เป็นความไม่เห็นด้วยอันสะท้อนลักษณะการขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิด และในที่สุดก็นำไปสู่การแยกตัวในทางการเมือง เป็นการแยกและแตกตัวจากภายใน ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะตามมา

เป็นการสะสมความไม่เป็นเอกภาพในทางความคิด นำไปสู่ความขัดแย้งและแยกตัวทางการเมือง