เมืองอุทัยธานี มีการละเล่นแม่ศรี, รำสวด | สุจิตต์ วงษ์เทศ

การเล่นแม่ศรีในเทศกาลตรุษสงกรานต์ที่วัดพิชัยปุรณาราม เมื่อ พ.ศ.2510 ลักษณะการเล่นแม่ศรีจะเชิญหญิงสาวที่หน้าตางดงามหรือแต่งกายสวยงามที่สุด มาเป็นตัวแทนแม่ศรีนั่งบนครกตำข้าว นำผ้ามาปิดตา จุดธูปพนมมือ แล้วคนที่มานั่งล้อมวงช่วยกันร้องเพลงแม่ศรี หญิงสาวที่เป็นแม่ศรีก็จะลุกขึ้นรำตามจังหวะเพลงอย่างอ่อนช้อยไปรอบๆ เป็นที่สนุกสนาน (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี (เบญจมราชูทิศ))

แม่ศรีและรำสวดเป็นชื่อการละเล่นของเมืองอุทัยธานี พบรูปถ่ายพร้อมคำอธิบายย่อๆ พิมพ์อยู่ในสมุดภาพเมืองอุทัยธานี (หนังสือปกแข็งขนาด A4 เอนก นาวิกมูล และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยจังหวัดอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ.2561)

แม่ศรีเป็นประเพณีบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง และพบที่เมืองนครราชสีมา (เพราะรับวัฒนธรรมอยุธยา) แต่ไม่พบเมืองอื่นๆ ในอีสานที่รับวัฒนธรรมลาว ส่วนรำสวดเป็นคำใหม่กลายจากลำสวดในงานศพ พบทั่วไปในภาคกลาง แต่ในอีสานและลุ่มน้ำโขงมีการละเล่นงานศพตามประเพณี เรียก “งันเฮือนดี”

 

แม่ศรี เทวีข้าว

แม่ศรี เป็นเทวีข้าวมีอํานาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง มักพบในรัฐใกล้ทะเลที่มีการค้าเดินสมุทรกับดินแดนโพ้นทะเล ได้แก่ ชวา (อินโดนีเซีย), กัมพูชา, ไทย ฯลฯ แต่ไม่พบบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน เช่น อีสาน, ลาว เป็นต้น

ในวัฒนธรรมไทย แม่ศรีสืบทอดจาก เมสฺรี ในวัฒนธรรมเขมร (ผ่านรัฐละโว้) ดังนั้นย่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง เขียนได้ 2 อย่างคือ แม่สี (แบบเขมร) กับแม่ศรี (แบบชวา) มีเล่นเข้าทรงแม่ศรีงานเลี้ยงผีหน้าแล้ง ต่อมานิยมเล่นเดือนเมษายนในสงกรานต์ (ชื่อสงกรานต์ขึ้นศักราชใหม่รับมาจากอินเดีย)

แม่ศรีกับแม่นาค (เอกสารเก่าเรียกนางนาค) ในความเชื่อของไทย รับมรดกตกทอดจากกัมพูชา (ผ่านรัฐละโว้) แต่งกายนุ่งโจงกระเบน (แบบเขมร) คล้ายกันหรือเหมือนกัน โดยเฉพาะ “ห่มผ้าสไบ ดอกไม้ห้อยหู” ในการละเล่นดั้งเดิมมีคําร้องดังนี้

ร้องแม่ศรี มีว่า

“ดอกไม้ห้อยหู                  สีชมพูห้อยบ่า

น้ำอบชุบผ้า                    ห่มเวลาเย็นเอย”

 

ร้องนางนาค มีว่า

“จําปาสองหูห้อย            สร้อยสังวาลแลมาลัย

ชมพูผ้าสไบ                   เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม”

 

ชวา เจ้าสาวในพิธีแต่งงานถูกเรียกว่า “เทวีศรี” มีนิทานเรื่องเจ้าสาวกับเจ้าบ่าวเป็นทายาทพระยานาคราช

เขมร พิธีแต่งงานต้องมีทําขวัญเซ่นผีบรรพชนด้วย “บายศรี” (หมายถึงข้าวสุกของแม่ข้าว) มีนิทานว่าเจ้าสาวชื่อนางนาคเป็นธิดาพญานาคอยู่บาดาล

ไทย พิธีแต่งงานสมัยอยุธยามีพิธีทําขวัญด้วยเพลงนางนาค จากนั้นมีเพลงพระทอง (เจ้าบ่าว) พรรณนาการสมสู่กับนางนาค (เจ้าสาว) เป็นสัญลักษณ์การเกิดซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

นาม “แม่ศรี” น่าจะรับจาก “พระศรี” อีกพระนามหนึ่งของพระลักษมี ผู้ทรงเป็นชายาพระวิษณุ (พระนารายณ์) และเป็นที่รู้จักกันในอานุภาพของพระศรีว่าทรงเป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภทั้งปวง ซึ่งมีความหมายที่รับรู้กันทุกรัฐว่า “เทวีข้าว”

แม่ศรีถูกเรียกด้วยคําเขมรดั้งเดิมที่มีก่อนแล้วว่า “เมสฺรี” (เม-เซฺร็ย) หมายถึงสตรีผู้เป็นใหญ่มีอํานาจ [เม แปลว่า หัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่, สฺรี แปลว่า หญิง คํากลายจาก สฺตฺรี (เสฺตฺร็ย)] ต่อมารับคําในภาษาสันสกฤตว่า “ศรี” มีความหมายต่างๆ ได้แก่ (1.) สิริมงคลในพระนาม พระพุทธรูป หรือเจ้านาย (2.) พระลักษมี ชายาพระวิษณุ (3.) หมากพลู เป็นราชาศัพท์

“สฺรี” ในกัมพูชา กับ “ศรี” ในชวา น่าจะมีลักษณะทับซ้อนแล้วปะปนด้วยเหตุหลายอย่างตั้งแต่กัมพูชากับชวาเป็นที่รับรู้ทั่วไปของนักวิชาการนานาชาติว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดติดต่อแลกเปลี่ยนต่างๆ มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พบหลักฐานจํานวนมากทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ตั้งแต่ฝีมือช่างสลักลวดลายบนปราสาทจนถึงลัทธิเทวราช แล้วในที่สุดคําว่า ศรี มีอํานาจเหนือคําว่า สฺรี

รำสวด
เป็นชื่อใหม่ได้จากชื่อเก่าว่า “ลำสวด”

เพลงรำสวด ได้ชื่อใหม่กลายคำจากลำสวด เป็นประเพณีงานศพพบหลายจังหวัดในภาคกลาง

ลำสวด หมายถึง ทำนองสวดคฤหัสถ์เรื่องพระมาลัย โดยชาวบ้านเล่นล้อเลียนพระสงฆ์สวดอภิธรรมในงานศพ

ลำ มาจากคำลาว หมายถึง การเปล่งเสียงถ้อยคำเป็นทำนองอย่างเสรี มีความยาวไม่จำกัด เช่น หมอลำ (เหมือนคำว่าขับ เช่น ขับเสภา) รำ มาจากคำเขมร หมายถึง การแสดงท่าเคลื่อนไหวตามจังหวะทำนอง (เหมือนคำลาวว่า ฟ้อน) สวด หมายถึง อ่านเป็นทำนองสูงต่ำ เช่น พระสงฆ์สวดมนต์หรือสวดเล่าเรื่องเวสสันดร เป็นต้น

ลำสวดเป็นการละเล่นสนุกสนานงานศพตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) หลายพันปีก่อนรับศาสนาพุทธ แม้รับพุทธศาสนาแล้วก็ยังเชื่อเรื่องขวัญสืบเนื่องจนปัจจุบัน แต่โดยทั่วไปเข้าใจเป็นวิญญาณ (ลำสวด ต่อมาพัฒนาเป็นสวดลำ ต้นทางลำตัดและลิเก)

ขวัญเป็นความเชื่อว่าคนตายขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายไปชั่วคราวจึงต้องมีพิธีสู่ขวัญ เรียกขวัญทำขวัญ ให้ขวัญได้ยินแล้วกลับคืนสู่ร่างดังเดิม โดยมีร้องรำทำเพลง ตีเกราะเคาะไม้ เต้นระบำรำฟ้อน ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทางของมหรสพงานศพในไทยตราบจนทุกวันนี้ ได้แก่ ปี่พาทย์, โขนละคร, ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรี จนถึงโคโยตี้เต้นหน้าศพ

ลำสวดที่กลายคำเป็นรำสวดก็เป็นมหรสพเนื่องในความเชื่อเรื่องขวัญ

 

การเล่นแม่ศรีในเทศกาลสงกรานต์ ราว พ.ศ.2510 เป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันในพื้นที่ภาคกลาง สำหรับในตัวเมืองอุทัยธานี เมื่อถึงคราวสงกรานต์ก็นิยมเล่นกันที่ลานวัดของชุมชนต่างๆ อาทิ วัดพิชัยปุรณาราม วัดขวิด หรือวัดทุ่งแก้ว (ภาพจากวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม พระภาณุวัฒน์ ฐานิสฺสโร เอื้อเฟื้อภาพ) [คำอธิบายและภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 หน้า 163]
การแสดงเพลงรำสวด ใช้เล่นในการสวดศพหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบแล้ว จุดประสงค์คือต้องการอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพงานศพในเวลากลางคืน และให้เจ้าภาพคลายความโศกเศร้า วิธีการเล่นจะให้ผู้เล่นนั่งล้อมวงแบ่งเป็นฝ่ายชายฝ่ายหญิงหันหน้าเข้าหากัน ฝ่ายชายเริ่มร้องก่อนโดยขึ้นต้นด้วยนะโม 3 จบ ขณะที่ร้องทั้งชาย-หญิงร่ายรำไปด้วย เนื้อร้องเป็นเรื่องราวที่นำมาจากวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้าน เช่นเรื่องขุนช้างขุนแผน สามก๊ก ไชยเชษฐ์ [คำอธิบายและภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 หน้า 208]