อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | สัตว์โลก9แสนรัก ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใต้สำนึก

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

สัตว์โลกแสนรัก ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใต้สำนึก A New Interpretation of the Paradoxical World

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ไปดูนิทรรศการศิลปะของศิลปินคนหนึ่งที่เคยติดตามผลงานของเธอมาอยู่เนืองๆ ก่อนที่เธอจะหายหน้าหายตาไปเสียนาน

ในครานี้ที่เธอหวนกลับมาแสดงงานหลังจากหายหน้าไปหลายปี

ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงงานของเธอเสียเลย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า A New Interpretation of the Paradoxical World

ซึ่งเป็นการแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 6 ปี ของ นริศรา เพียรวิมังสา ศิลปินสาวชาวกรุงเทพฯ จากรั้วหน้าพระลาน หรือคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตกราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ และศิลปินอิสระ ที่ทำงานจิตรกรรมในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใต้สำนึกภายในของตัวศิลปิน

ถ้าใครเป็นคอหนังไทย อาจเคยผ่านตาผลงานของเธอจากภาพยนตร์เรื่อง กุมภาพันธ์ (2003) ของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ซึ่งผลงานจิตรกรรมของเธอที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “February” The paintings ที่หอศิลป์ H Gallery ในปีเดียวกันกับที่หนังฉายอีกด้วย

แต่หลังจากประสบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตจากการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้นริศราหยุดการวาดภาพเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งเธอค้นพบกระบวนการเยียวยาทางจิตใจและการแสดงความรู้สึกที่เหมาะสมกับตัวเองผ่านการทำงานศิลปะด้วยการปักผ้า ประจวบกับการที่เธอได้รับทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2016

นั่นจึงเป็นที่มาของผลงานชุดนี้ของเธอ

เมื่อก้าวเข้าไปในห้องแสดงงานนิทรรศการนี้ และกวาดตามองแบบผิวเผิน ผลงานจิตรกรรมรูปสัตว์หลากหลายชนิด จำนวน 15 ชิ้น ในนิทรรศการครั้งนี้ ดูละม้ายคล้ายคลึงกับงานวาดเส้นด้วยปากกาหมึกลงบนผืนผ้าใบเป็นอย่างยิ่ง

แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เส้นสายอันยุ่งเหยิงที่ประกอบเป็นรูปร่างสัตว์เหล่านั้นกลับเกิดขึ้นจากการปักเส้นด้ายลงบนผืนผ้าใบทั้งสิ้น

โดยตัวศิลปินได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ว่า เธอเริ่มต้นจากการหาเทคนิคเพื่อสื่อสารความคิดของตัวเอง

ซึ่งแต่เดิมนั้น จะเห็นว่าศิลปินส่วนใหญ่มักสื่อสารด้วยการวาดภาพเป็นหลัก แต่เธอได้เสาะหาเทคนิคที่เหมาะสมในการสื่อสารความคิดตัวเอง

เธอจึงนำการปักผ้าที่เธอคุ้นเคย มาเป็นแนวทางหลักในการนำเสนอผลงานชุดนี้ เพื่อใช้ในการสื่อสาร บอกกล่าวความรู้สึก และกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางความคิดและอารมณ์ร่วมของคนในสังคม

“โดยส่วนตัวเรามีความรู้สึกสนใจในความคิดของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีล้ำยุคอาจทำให้เราเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส หากแต่ความหมายของชีวิตและความสงสัยในสาเหตุของความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ยังคงเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ”

“บางครั้งเมื่อมองไปยังผู้คน จึงสัมผัสได้ถึงความเศร้าหมองที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ราวกับว่าหัวใจของเขาเหล่านั้นได้รับการเยียวยาแค่เพียงชั่วคราว ไม่อาจเติมเต็ม เราจึงเริ่มค้นหาเทคนิคเพื่อบอกเล่า สื่อสารความรู้สึกเหล่านั้น และได้ค้นพบการปักผ้า ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกภายในเหล่านี้ในรูปแบบที่เป็นเสมือนการสร้างโลกที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงออกมา”

“ผลงานที่คัดสรรมาจัดแสดงนี้ ต้องการนำเสนอความคิดในบริบทของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้ผู้ที่มาชมนิทรรศการได้เห็น และคิดในบริบทของแต่ละคน เป็นเสมือนการสื่อสารพูดคุย ระหว่างศิลปินกับผู้ที่มาชม โดยนำเสนอผ่านการปักผ้าที่ปักไปตามความรู้สึกของตน ไม่มีแพตเทิร์นใดๆ เปรียบเสมือนการเขียนไดอารี่ เพื่อแสดงความรู้สึกของตนเอง โดยใช้เข็มและด้ายแทนดินสอหรือปากกาในการขีดเขียนเรื่องราว”

โดยตัวศิลปินได้นำภาพของสัตว์ต่างๆ หลากหลายชนิด ทั้งหมาป่า, กวาง, นกฮูก, นกยูง และผีเสื้อกลางคืน มานำเสนอเพื่อเป็นตัวแทนความรู้สึกดังกล่าว

เนื่องจากสัตว์มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเชื่อมโยงไปยังจิตใต้สำนึกของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ กันมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยนำมาถ่ายทอดในรูปแบบการปักผ้าอันเป็นเทคนิคดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกนี้ เป็นเสมือนการสร้างโลกแห่งความฝันที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง แทนกระบวนการของการเยียวยาจิตใจของตัวศิลปินเอง

รวมถึงพาผู้ชมกลับไปสู่ความรู้สึกบางอย่างที่พวกเขาอาจหลงลืม ผ่านรูปแบบการปักผ้าที่ไม่มีแบบแผน ไม่มีปริมาตร และเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ศิลปินได้สื่อสารบอกเล่าความคิดของตน

นริศราเชื่อว่าคนและสัตว์มีความผูกพันกันมาเนิ่นนานแล้ว แม้จะไม่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษา แต่บางครั้งพวกมันก็สื่อสารกับคนได้อย่างน่าพิศวง โดยเฉพาะในจินตนาการและความฝัน

เธอจึงเลือกใช้ภาพของสัตว์มานำเสนอเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางความคิด

และเป็นเสมือนการพูดคุยระหว่างศิลปินและผู้ชม เพราะเมื่อมองสัตว์แต่ละชนิด แต่ละคนจะมีความรู้สึกต่างกัน เช่น เมื่อแต่ละคนมองเห็นกวางหรือหมาป่าตัวเดียวกัน แต่ละคนก็มีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นการเปิดอิสระในการสื่อสารและการตีความผ่านการดูงานศิลปะเป็นอย่างมาก

นอกจากงานจิตรกรรมปักผ้ารูปสัตว์นานาพันธุ์แล้ว กลางห้องแสดงงานยังมีงานประติมากรรมรูปกระต่ายขนาดเท่าจริงที่หล่อจากเรซิ่นวางอยู่ฝูงหนึ่ง

ซึ่งเจ้าประติมากรรมกระต่ายที่มีปริมาตรและจับต้องได้ฝูงนี้ ดูแตกต่างจากภาพจิตรกรรมปักผ้าที่แบนราบและไม่มีปริมาตร

โดยพวกมันทำหน้าที่เป็นเสมือนหนึ่งสะพานที่เชื่อมโยงโลกแห่งจินตนาการ ความฝันและจิตใต้สำนึกเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงนั่นเอง

นิทรรศการศิลปะ “A New Interpretation of the Paradoxical World” จัดแสดงที่ โนวา คอนเทมโพรารี แกลเลอรี ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชดำริ) ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2560 (เว้นวันจันทร์) เวลา 11:00-20:00 น.

สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.09-0910-6863