ธงทอง จันทรางศุ | ชวนหวาดเสียว

ธงทอง จันทรางศุ

กว่าบทความที่ผมเขียนในค่ำคืนวันนี้จะได้ลงพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ก็คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมแล้ว ผมไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าอุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมืองของบ้านเราจะอยู่ในระดับใด อาจจะเพิ่มขึ้นจากวันนี้หรือลดลงจากวันนี้ หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับวันนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น

ผมไม่ใช่หมอดูหมอเดาจึงไม่อยากจะพยากรณ์อะไรทั้งสิ้น

รู้แต่เพียงเหตุผลตามสามัญสำนึกของตัวเองที่มีอายุเลยวัยเกษียณราชการมาหลายปีพอสมควรแล้วว่า บรรยากาศทางการเมืองในเดือนสิงหาคมขณะนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าสบายใจเลย

ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะชี้ผิดชี้ถูกได้ว่าใครควรทำอะไรอย่างไร

แต่ถ้าจะให้ผมพูดอะไรบ้างในยามนี้ ผมก็อยากจะบอกให้เราช่วยกันมองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บ้างเถิด ว่ามีอะไรที่พอจะนำมาสอนใจเราได้บ้าง


เมื่อมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้น ผมเป็นนิสิตปีหนึ่งอยู่ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตัวเองไม่ประสีประสาทางการเมืองเท่าไหร่นัก แต่ถ้าถามว่าพอใจการเมืองการปกครองที่มีอยู่ในเวลานั้นหรือไม่ ผมก็ต้องบอกว่า ผมอึดอัดพอสมควร

อึดอัดกับเรื่องอะไรหรือ จะเป็นเรื่องอะไรเล่า นอกจากมีรัฐบาลทหารที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นจอมพลติดต่อกันถึงสามคนและเป็นเวลานานเกินสิบปี

จอมพลคนแรกคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนผมเกิด ในวันที่ผมเกิดท่านก็เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีท่านก็มีอันเป็นไปต้องอพยพเข้าของไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นและถึงแก่อสัญกรรมที่ประเทศนั้น

นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งจอมพลคนที่สอง มิหนำซ้ำยังเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ผมจำความได้ จะเป็นใครอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ถึงแก่อสัญกรรมไปพร้อมด้วยข่าวคราวอื้อฉาวเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางราชการที่หายหกตกหล่นไปอยู่ในกระเป๋าของท่านเป็นจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือ จอมพลถนอม กิตติขจร ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2506 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 หย่อนไปเพียงไม่กี่เดือนก็จะครบ 10 ปีบริบูรณ์

ช่วงเวลาสิบปีนี้ท่านเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามรอบ ด้วยการรับมรดกอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์เป็นรอบแรก

รอบที่สองท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเห็นพ้องร่วมกันของพรรคการเมืองทั้งหลายภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเรียกว่าเป็นรัฐบาล “สหัปมงคล”

ถัดมาอีกสองปีจอมพลถนอมก็ปฏิวัติยึดอำนาจ ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร แล้วก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่งเป็นรอบที่สามในปี 2515

รอบนี้อยู่ได้เพียงสิบเดือน รัฐบาลก็ล้มคว่ำคะมำหงายลงไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ข้อสังเกตของผมซึ่งไม่ใช่ความเห็นทางวิชาการที่มีการวิจัยลึกซึ้ง บอกให้รู้แต่เพียงว่าคนไทยนั้นเป็นคนเบื่อง่าย นายกรัฐมนตรีต่อให้ดีแสนดีเพียงใด ถ้าอยู่ไปนานหลายปีเข้า โอกาสที่จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นในหัวใจคนก็ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร

เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีพุทธศักราช 2523 ท่ามกลางความสนับสนุนจากหลายฝ่าย ตลอดเวลาที่ท่านเป็นผู้นำของประเทศ ท่านได้ฝากฝีมือฝากผลงานที่น่าชื่นชมไว้เป็นอันมาก แต่อีกในราวแปดปีต่อมา ถึงปีพุทธศักราช 2531 ผมมีอายุมากพอที่จะจับอารมณ์คนไทยและเมืองไทยในเวลานั้นได้ว่าความเบื่อหน่ายกับผู้นำได้เกิดขึ้น

ยิ่งกว่านั้นคือ ท่านนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.เปรม ก็จับจากความรู้สึกเช่นนั้นได้ และผมอยากจะเดาเสียด้วยซ้ำว่าท่านเองก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับ “การเมือง” เอาการอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อมีการยุบสภาแล้ว พล.อ.เปรมจึงแสดงความจำนงที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา

เมื่อมองย้อนอดีตอย่างนี้แล้ว กลับมามองดูปัจจุบันบ้าง

ถ้าเราไม่ปฏิเสธความจริงก็จะพบว่า คะแนนนิยมหรือความชื่นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรียบเทียบกันระหว่างเวลาที่ท่านเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ไม่อยู่ในระดับที่จะพูดได้ว่าเหมือนเดิมเสียแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจับตามองดูความคิดเห็นของเยาวชนที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวของยุคสมัยนี้

อย่าว่าแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยครับ ต่อให้เอาผมหรือเอาใครก็ตามที่อายุหกสิบกว่าปีแล้วไปเจรจาความเมืองกับเด็กสมัยนี้ เราก็ต้องปรับความถี่เข้าหากันมากพอสมควร

จะเป็นด้วยเหตุผลอะไรสารพัดก็ตามที ผมยอมรับและบอกกับตัวเองว่า แว่นที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมใช้มองโลกในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ เป็นแว่นที่ใช้งานมานานปี ในขณะที่แว่นของคนหนุ่ม-สาวใช้เป็นอุปกรณ์มองโลก มันเป็นแว่นคนละรุ่นคนละเรื่องกับแว่นของผมเลยทีเดียว

ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าแว่นของคนแก่ดีกว่าแว่นของเด็ก หรือแว่นของเด็กดีกว่าแว่นของคนแก่

เพียงแต่อยากจะเตือนสติของทั้งตัวเองและของลูกหลานว่า ท่ามกลางความร้อนแรงของอุณหภูมิการเมืองในขณะนี้ จะพูดจะทำอะไรขอให้คิดให้รอบคอบ การเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีความเห็นต่าง เป็นสิ่งที่จะเอื้อคุณประโยชน์ได้มาก

โปรดหลีกเลี่ยงการใช้กำลังหักหาญอันอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ใหญ่หลวงอันไม่พึงปรารถนาขึ้นได้โดยง่าย

การศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์ของชาติไหนๆ ก็ตามที ถ้านำมาคิดไตร่ตรองเพื่อสอนใจแล้ว ก็ต้องถือว่าการศึกษาหรือเรียนรู้นั้นคุ้มค่าเพราะนำความรู้ไปใช้แล้วเกิดประโยชน์จริง

สำหรับผม เหตุการณ์เวลานี้ ไม่ต้องย้อนกลับไปไกลจนถึงยุคสมัยก่อนผมเกิดหรอกครับ

เอาแต่เพียงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีคนทันรู้เห็นเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่เป็นอันมากรวมทั้งผมคนนี้ด้วย ก็มีอะไรสอนใจเราตั้งเยอะแยะแล้ว

ถ้าศึกษาเรื่องนี้แล้วยังงงงวยอยู่ว่าสอนให้เรารู้อะไรบ้าง

เดี๋ยวเรานัดพบกันส่วนตัว แล้วผมจะกระซิบให้ฟังก็ยังได้

ทุกวันนี้ฟังหรือดูข่าวสารบ้านเมืองแล้วรู้สึกเหมือนคนยืนอยู่ริมทางรถไฟ มองไปทางซ้ายมือก็เห็นรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งตรงมาตามราง ทางขวามือก็เห็นรถไฟอีกขบวนหนึ่งวิ่งสวนเข้ามาเต็มฝีจักร ข้อสำคัญคือรางรถไฟนั้นไม่ใช่รางคู่ แต่เป็นรางเดี่ยวน่ะสิ

หวาดเสียวครับหวาดเสียว

แค่ที่นั่งเขียนหนังสืออยู่นี่ก็ใจหายไปเป็นกองแล้ว ทำอย่างไรดีครับ รถไฟถึงจะไม่ชนกัน

ยกมือไหว้ละครับ ช่วยผมคิดที