วิเคราะห์ : เทคโนโลยี 5 จี ช่วยเรื่องระบบนิเวศน์-สิ่งแวดล้อมได้แค่ไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถาบันเอิร์ธแห่งมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย สหรัฐ เผยแพร่บทความเรื่องการปฏิวัติของเทคโนโลยียุค 5 จี จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร เขียนโดยคุณเรเน่ โช มีรายละเอียดน่าสนใจจึงขอคัดประเด็นสำคัญๆ นำมาเล่าสู่กันฟัง

“โช” บอกว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดปรากฏการณ์ที่ชัดเจน นั่นคือสังคมโลกใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างเข้มข้น

ทุกประเทศที่ประกาศล็อกดาวน์เมือง ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ก็หันมาติดต่อผ่านออนไลน์ สั่งซื้อสินค้า อาหารการกิน ประชุมระหว่างประเทศ ติดต่อธุรกิจ เรียนหนังสือ อ่านข่าว ดูหนังฟังเพลงหรือแม้กระทั่งปรึกษาโรคกับหมอ

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมืออันสำคัญของการสื่อสาร การป้องกันการแพร่ระบาดโรคและดูแลสุขภาพของผู้คนทั้งโลก

 

ตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ๆ คนอเมริกันใช้คลื่นความถี่โหลดดูหนังระบบเอชดีที่มีความคมชัดสูงมากขึ้นถึง 3 กิ๊กกะไบต์

คลื่นความถี่ที่มีความเร็วสูง มีความเสถียรมากรองรับกับความต้องการในปริมาณมากๆ ได้แก่คลื่น 5 จี

ที่บ้านเราโชคดีได้ใช้คลื่น 5 จี ระหว่างมีการล็อกดาวน์ ให้คนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ เพราะสำนักงาน กสทช.จัดประมูลคลื่น 5 จี เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คลื่น 5 จี มีความเร็วกว่าคลื่น 4 จี 100 เท่า รับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่โดยไม่มีอาการสะดุด ความหน่วงต่ำมาก ส่งไฟล์หนัง ไฟล์ภาพใหญ่ๆ ได้เร็วปรื๋อ

ช่วงโควิดระบาดแรงๆ บรรดาธุรกิจการค้าบนออนไลน์ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะซื้อ-ขายกันผ่านจอมือถือ จอคอมพิวเตอร์

ในทางการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยี 5 จีมาใช้ตรวจวินิจฉัยโรค ติดตั้งในรถขนส่งเครื่องมือแพทย์-ยาไปยังห้องพักผู้ป่วยที่เป็นจุดเสี่ยง

ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยี 5 จีจะใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย ควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ บังคับหุ่นยนต์ในโรงงานผลิตสินค้าได้เร็ว แม่นยำ ผ่าตัดผู้ป่วยด้วยความเที่ยงตรงสูง ใช้กับโดรนในการเกษตร ระบบขนส่งสินค้า

คาดว่าอีกไม่นานจะใช้คลื่น 5 จีผ่านระบบดาวเทียมเพื่อติดต่อสื่อสารส่งข้อมูลไปยังจุดห่างไกลในพื้นที่ชนบท ไม่มีเสาสัญญาณรองรับ

 

ผู้เขียนบทความได้ตั้งคำถามว่า แล้วคลื่น 5 จีจะช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้างล่ะ?

คลื่น 5 จีมีประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลได้มากและมีความเร็วสุดๆ ย่อมมีศักยภาพในการปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเทคโนโลยี 5 จีเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกสรรพสิ่ง เท่ากับช่วยประหยัดพลังงาน เพราะเครื่องมือต่างๆ ที่เชื่อมต่อทำงานเร็วขึ้น ใช้พลังงานก็น้อยลง

วัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานก็ลดลง นั่นหมายถึงการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศก็น้อยลงไปด้วย

คลื่น 5 จีจะช่วยให้ท้องฟ้าสดใสสะอาดขึ้น มลพิษในน้ำเจือจางลง ขยะของเสียน้อยลงและยังคุ้มครองสัตว์ป่าได้มากขึ้น

ผู้เขียนหยิบยกข้อมูลของสหประชาชาติที่ประเมินว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ราว 68 เปอร์เซ็นต์จะใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ฉะนั้น ผู้บริหารเมืองจะต้องนำเทคโนโลยี 5 จี ข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) artificial intelligence (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการกับระบบความปลอดภัย การดูแลจัดการปัญหาขยะ ระบบน้ำประปารวมทั้งป้องกันภัยพิบัติต่างๆ

ทำให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองน่าอยู่ ร่มรื่น ไร้อาชญากรรม เป็นเมืองอัจฉริยะ และพัฒนาสู่แนวทางยั่งยืน

 

“โช” หยิบยกกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า 5 จีให้ประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมอย่างอเนกอนันต์

เรื่องแรกคือ การประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซพิษ

เนื่องจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ในการใช้เทคโนโลยี 5 จีต้องการให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด น้อยกว่าคลื่น 4 จี ซึ่งหมายถึงการใช้พลังงานในการรับหรือส่งข้อมูลที่มากขึ้น เร็วขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าโหลดหนังที่มีความคมชัดสูง (high-definition) จำนวน 300 เรื่อง ผ่านคลื่น 4 จี ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่หากใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณเดียวกันกับคลื่น 5 จี สามารถโหลดหนังความคมชัดเป็นพิเศษระดับอัลตร้า (ultra-high-definition) ได้มากถึง 5,000 เรื่อง

เมื่อใช้ 5 จีกับอุปกรณ์เชื่อมต่อเทคโนโลยี IOT (internet of things) จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากเพราะระบบเซ็นเซอร์ช่วยประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในการควบคุมการใช้พลังงานอย่างอัตโนมัติ จะตัดไฟฟ้าในทันทีที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน เช่น ไฟฟ้าในโรงงาน ไฟบนถนนหนทาง หรือในอาคารบ้านเรือน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ต กริด (smart grid) และมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) ที่นำมาใช้กับตึกเอ็มไพร์สเตต มหานครนิวยอร์ก ช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้มากถึง 38 เปอร์เซ็นต์

โรงไฟฟ้าของบริษัท จีอี ดิจิตอล เพาเวอร์ เมืองบูชอง ประเทศฝรั่งเศส ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ 10,000 ตัว สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปรากฏว่าได้ผลยอดเยี่ยมสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ถึง 67,000 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเดือนเมษายน ปี 2559 กินเนสส์ เวิร์ลด์ เร็กคอร์ด บันทึกโรงไฟฟ้าดังกล่าวว่าใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

ส่วนเมืองไทย มีข่าวจากสำนักงาน กสทช. ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทำโครงการนำร่องระบบสมาร์ต กริด และสมาร์ต มิเตอร์ ในเขตเมืองพัทยา เพื่อควบคุมความต้องการจ่ายไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง การแจ้งยอดการใช้ไฟ กฟภ.ไม่ต้องส่งพนักงานออกไปอ่านมิเตอร์ตามบ้านคนเหมือนแต่ก่อน

คลื่น 5 จีใช้กับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในระบบการจราจร จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซพิษ เนื่องจากมีเครื่องมือตรวจสอบเส้นทางในระบบเรียลไทม์ ควบคุมการปล่อยไฟสัญญาณให้รถวิ่งได้ฉลุย และอุปกรณ์จีพีเอสในรถยนต์ช่วยบอกว่าที่จอดรถยนต์ตรงไหนว่างและอยู่ใกล้สุด

อุปกรณ์เซ็นเซอร์ด้วยคลื่น 5 จีที่นำมาควบคุมระบบน้ำ การใส่ปุ๋ยในพืชผลการเกษตร จะประมวลข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ความชื้นของดินในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้การบริหารจัดการน้ำการเพาะปลูกและผลผลิตในฟาร์มมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

เมื่อผลผลิตออกมาสู่ท้องตลาด ระบบเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลแจ้งไปยังแหล่งรับซื้อว่าผลผลิตออกมาเมื่อใด จะเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่ มีการใช้สารเคมีในปริมาณเท่าใด ให้พลังงานกี่แคลอรี่ มีแร่ธาตุอะไรบ้างผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ว่าควรซื้อผลผลิตนั้นไปบริโภคหรือไม่

ระบบตรวจสอบเหล่านั้นยังช่วยลดปริมาณของเสีย เพิ่มความปลอดภัยในการบริโภค และลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่ง

 

ในตอนท้ายของบทความ ยกตัวอย่าง รัฐอินเดียนา ติดตั้งเทคโนโลยีคลื่น 5 จี ตรวจสอบสิ่งโสโครกปฏิกูลหรือขยะในท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเซนต์ โยเซฟ สามารถควบคุมการปล่อยมลพิษลงในแม่น้ำได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่ประเทศคอสตาริกา ใช้อุปกรณ์คลื่น 5 จีกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการปกป้องผืนป่าอันสมบูรณ์ ระบบเอไอสามารถจดจำและตรวจสอบเสียงเลื่อย เสียงเครื่องจักรกลของกลุ่มลักลอบโค่นป่า จากนั้นแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในทันทีว่า กลุ่มทำลายสิ่งแวดล้อมกำลังตัดต้นไม้ในบริเวณใด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยี 5 จีช่วยปกป้องธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง