คุยกับทูต : เอฟเรน ดาเดเลน อักกุน สัมพันธ์ไทย-ตุรกียุคนักการทูตหญิง ตอน 4 “ทวิภาคีการค้า-การศึกษา”

คุยกับทูต เอฟเรน ดาเดเลน อักกุน สัมพันธ์ไทย-ตุรกียุคนักการทูตหญิง (4)

“หนึ่งในเป้าหมายหลักของดิฉันคือการทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้าเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยอยากจะเน้นว่า นักธุรกิจของเราทั้งสองประเทศ มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในความสัมพันธ์นี้”

“เรามีสภาธุรกิจที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 สภาธุรกิจระหว่างประเทศตุรกีและประเทศไทยนั้นเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากสภานี้สามารถนำธุรกิจจากหลากหลายสาขามาบรรจบพบปะกัน”

นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน (H.E. Ms. Evren Dağdelen AkgÜn) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประจำประเทศไทย เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า

“ดิฉันต้องการที่จะพูดถึงจุดสำคัญที่อาจทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ ซึ่งก็คือ หอการค้าไทยและตุรกี (Thai-Turkish Chamber of Commerce) ซึ่งอยู่ภายใต้หอการค้าร่วมต่างประเทศ (Joint Foreign Chambers of Commerce) ในประเทศไทย ไม่มีสิทธิทางกฎหมายจากรัฐบาลตุรกี การก่อตั้งนี้เกิดจากความร่วมมือขององค์กรผู้ก่อการร้าย ฟีโต้ (FETO : (Fetullah Gülen) Terrorist Organization) ที่พยายามทำการรัฐประหารในตุรกีปี 2016”

“เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน (Fetullah Gülen) คือหัวหน้าองค์กรผู้ก่อการร้ายที่ชื่อ FETO โดยกูเลน (Gülen) เป็นบุคคลอันตรายต่อประเทศตุรกี กูเลนและพรรคพวก ได้วางแผนและพยายามล้มรัฐบาลเมื่อ 4 ปีที่แล้วในเดือนกรกฎาคม กลุ่มกองกำลังติดอาวุธของเขาได้ใช้อาวุธร้ายแรงทำร้ายประชาชนที่บริสุทธิ์ มีประชาชนกว่า 251 คนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน และยังพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีของสาธารณรัฐตุรกีด้วย”

“พวกเขาจู่โจมทำลายรถยนต์ของนายกรัฐมนตรีและถล่มสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) ของตุรกีทางอากาศ อีกทั้งยังทำลายที่พำนักของประธานาธิบดี องค์การข่าวกรองแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของตุรกี ศูนย์กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อการร้าย ในกรุงอังการาถูกทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินเจ็ต ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 55 นายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกว่า 100 นาย”

“พลเรือนมากกว่า 100 คนที่ลุกขึ้นประท้วงต่อต้านกลุ่มรัฐประหารในกรุงอังการาและอิสตันบูลถูกยิงเสียชีวิต หลักฐานทั้งหมดจากการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่ถูกถล่มโดยผู้ก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในตรุกี ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการทำงานของกลุ่ม FETO”

 

“FETO เป็นองค์กรที่พยายามกระจายไปทั่วโลก และฝังตัวอยู่ใน 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนกว่าพันแห่ง ธุรกิจ องค์กร NGOs และบริษัทผลิตสื่อ รูปแบบการดำเนินการเป็นเหมือนกันทั่วโลก FETO ยังได้พยายามแพร่ขยายไปในทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเพิ่มความสามารถในการโน้มน้าวทางการเมือง นับว่าเป็นภัยแก่ประเทศที่ FETO ดำเนินการอยู่”

“เราพยายามอธิบายและพิสูจน์ให้หลากหลายประเทศได้รู้ว่า FETO เป็นภัยแก่ความปลอดภัยต่อประเทศนั้นๆ เราได้เตือนพันธมิตรของเรา และเราก็มีความสุขที่ได้รู้ว่าความพยายามของพวกเราประสบความสำเร็จเมื่อประเทศเหล่านั้นได้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น”

“องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งได้มีแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญต่อ FETO อีกทั้งตรวจสอบและเฝ้าระวัง ก็ได้พบว่า FETO มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน การข่มขู่ การติดสินบนและการปลอมแปลงพาสปอร์ตและวีซ่า”

“การลงมติประกาศ FETO องค์กรก่อการร้าย ถูกนำมาใช้ในการประชุมครั้งที่ 43 ขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สภารัฐมนตรีต่างประเทศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2016 และสมัชชารัฐสภาแห่งเอเชีย (APA)ได้ประกาศให้ FETO เป็นองค์กรก่อการร้ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2016”

ท่านทูตอักกุน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า

“ด้วยเหตุนี้ ดิฉันก็อยากจะขอเตือนเช่นกัน ตามที่เรียกกันว่า หอการค้าไทย-ตุรกี (Thai Turkey Chamber) นั้น เป็นองค์กรที่ไม่ถูกกฎหมายสำหรับพวกเรา องค์กรนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศตุรกี และไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนประเทศตุรกีเช่นกัน”

“ดิฉันจึงอยากจะให้ทุกคนที่ต้องการติดต่อทำธุรกิจกับประเทศตุรกี ได้ติดต่อกับฝ่ายการพาณิชย์หรือสภาธุรกิจ (Business Council)”

 

“ธุรกิจของประเทศตุรกี บางธุรกิจติดอันดับในธุรกิจขนาดใหญ่ของสหภาพยุโรป เป็นผู้ลงทุนที่สำคัญและมีโรงงานที่ประเทศไทย โดยมีการจ้างคนงานจำนวนมาก ส่งเสริมสินค้าส่งออกใของประเทศไทย ธุรกิจเหล่านั้นเป็นสมาชิกสภาธุรกิจ”

“ดิฉันอยากจะเน้นอีกครั้งว่า เอเชียเป็นทวีปที่มีประสบการณ์มากและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถสูง นวัตกรรมและระบบดิจิตอล สภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืน ความตระหนักรู้ทางสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสังคมทั่วโลก”

“อย่างที่เห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตของพวกเราไม่มีความยั่งยืนอีกต่อไป ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในทุกมิติภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง”

“การร่วมมือกันของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและสร้างโอกาสร่วมกัน แต่เมื่อเกิดโรคระบาดเช่นนี้ ทำให้พวกเราไม่สามารถทำงานร่วมกันแบบพบปะกันได้แล้ว ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ และแพลตฟอร์มดิจิตอลจึงเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งเหล่านี้จะต้องเข้าถึงทุกมิติในสังคมของเรา”

“ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แพร่หลายและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมในระยะสั้นสำหรับทุกคน รวมถึงการฝึกอบรมทางภาษา จะต้องได้รับการปรับปรุง”

“ดิฉันเห็นโอกาสในการร่วมมือมากมายในมิติที่ได้กล่าวมาข้างต้นระหว่างประเทศตุรกีและประเทศไทย ทั้งทางด้านการวิจัย สถาบันการศึกษา และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก สภาวิทยาศาสตร์ของพวกเรามีบันทึกความเข้าใจ ข้อตกลงโดยความร่วมมือหรือความเข้าใจระหว่างองค์กร (MoU) และความร่วมมือมากกว่าสองปีกับ สวทช. หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA)”

“องค์กรธุรกิจขนาดเล็กของพวกเรามี MOU ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (OSMEP) ของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เกิดการระบาดของโรค ความร่วมมือในมิติใหม่ๆ ก็ควรที่จะได้รับการสำรวจด้วย”

 

ข้อคิดเห็นทางด้านการศึกษา

“มหาวิทยาลัยของตุรกีมีนักเรียนชาวต่างชาติหลายแสนคน มีการจัดงานมหกรรมมหาวิทยาลัยของประเทศตุรกีทางออนไลน์เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา และดิฉันหวังว่านักศึกษาไทยจะหาโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศตุรกี”

“การศึกษาของประเทศตุรกีเต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ มีสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างอันทันสมัย”

“มหาวิทยาลัยของเราอยู่ในกระบวนการโบโลญญ่า (Bologna system) ซึ่งให้โอกาสนักเรียนต่างชาติ เรามอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทย ดิฉันจึงอยากให้มาติดต่อสถานทูตของเราเพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับโอกาสที่ดีเช่นนี้ นักเรียนในประเทศของเราทั้งสองจะเป็นสะพานวัฒนธรรมของเราซึ่งกันและกัน”

 

“ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศตุรกีเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ต่อประเทศไทยโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ”

“ในปี 2019 บริษัทจากตุรกีติดอันดับ 1 ใน 100 ด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ประเทศตุรกี ผลิตตั้งแต่ปืนไรเฟิลไปจนถึงยานเกราะ เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานไร้คนขับ (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) เพื่อส่งออก กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าที่ใช้ป้องกันตัวเอง ประเทศตุรกีมีจำนวนการส่งออกด้านอุตสาหกรรมการป้องกันมากกว่านำเข้าเป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์”

“คู่เจรจาเฉพาะด้านของอาเซียนเป็นแนวทางใหม่เพื่อขยายและกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี แน่นอนว่าเราสามารถเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีโดยคำนึงถึงวาระพหุภาคีซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับทั้งสองประเทศ”

“ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญของดิฉันคือ ความพยายามที่จะเพิ่มช่องทางในการติดต่อที่สามารถสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น ติดตามแนวทาง 1.5”

Track 1 คือ ภาครัฐ Track 2 คือ ภาควิชาการ Track 3 คือ ภาคประชาสังคม ส่วน Track 1.5 คือการหารือของเจ้าหน้าที่จากภาครัฐในฐานะส่วนตัวหรือแบบไม่เป็นทางการ ตามแนวทางของ Track 2

“รวมทั้งเพิ่มโครงการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันต้องการจะให้เกิดขึ้นคือ การก่อตั้งสถานสอนภาษาตุรกีในประเทศไทย”