HIDDEN FIGURES “สงครามอวกาศ”

นพมาส แววหงส์

กำกับการแสดง

Theodore Melfi

นำแสดง

Taraji P. HensonOlivia Spencer, Janelle Monae, Kevin Costner, Kirsten Dunst, Masherhala Ali

ทศวรรษ 1960 เป็นยุคสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจสองค่าย คือสหรัฐอเมริกากับโซเวียตรัสเซีย

แม้จะไม่ได้ประกาศสงครามกันเป็นทางการ แต่มหาอำนาจก็ชิงดีชิงเด่นกันในทุกด้าน

การแข่งขันส่งยานขึ้นสู่อวกาศในยกแรก รัสเซียเป็นฝ่ายชนะด้วยการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปโคจรนอกโลก คือ ยูริ กาการิน

ทำให้อเมริกาเสียหน้าต่อชาวโลกเป็นอันมาก

องค์การนาซ่าซึ่งค้นคว้าทดลองส่งยานขึ้นสู่อวกาศจำต้องแข่งกับเวลาอย่างหนัก เพราะยังไม่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้

ดังนั้น ทีมวิศวกรและคณิตกรจึงทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างยานและคำนวณวิถีโคจรที่จะทำให้นักบินอวกาศกลับสู่โลกด้วยสวัสดิภาพ

ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่า จอห์น เกลน เป็นมนุษย์อวกาศคนแรกของอเมริกาที่ขึ้นไปโคจรเหนือชั้นบรรยากาศนอกโลก

นี่คือเรื่องราวก่อนหน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

ในทศวรรษ 1960 การเหยียดผิวในอเมริกายังปรากฏอยู่ชัดเจน ในลักษณะการแบ่งแยกสาธารณูปโภคกันคนละส่วน เช่น รถเมล์สำหรับคนผิวดำ โรงเรียนสำหรับคนผิวดำ สุขาสำหรับคนผิวดำ เป็นต้น แม้แต่ห้องสมุดสาธารณะนั้นคนผิวสีก็ถูกเชิญออกถ้าเข้าไปใช้

ขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคยังคงดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น ด้วยความเคลื่อนไหวของคนอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นอาทิ

โดยหลักๆ แล้ว หนังเน้นประเด็นเรื่องการแบ่งแยกเพศผิวพรรณ และการแข่งขันช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจทางอากาศกันระหว่างสหรัฐและรัสเซีย

โครงการค้นคว้าทดลองเพื่อส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศกำลังถึงจุดเข้มข้น ในขณะที่ยังต้องใช้ “คอมพิวเตอร์มนุษย์” เป็นมันสมองในการคำนวณ ในช่วงที่กำลังเริ่มมีการใช้เมนเฟรมของไอบีเอ็มเพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความรวดเร็วในการคำนวณ

ช่วงนั้นสมองมนุษย์ยังมีความสำคัญยิ่งกว่าสมองกล

หนังเรื่องนี้มีการเดินเรื่องอยู่ที่ตัวละครหลักสามคน ซึ่งเป็นสตรีผิวดำที่มีมันสมองอันน่าทึ่ง

แคตเธอรีน โกเบิล (ทาราจี พี. เฮนสัน) เป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เล็กๆ ครูในชั้นเรียนทึ่งในความสามารถของเธอจนสนับสนุนให้พ่อแม่ส่งเสียเธอเรียนในสาขานี้

เธอได้งานทำในศูนย์วิจัยที่แลงลีย์ ซึ่งกำลังพัฒนาโครงการอวกาศร่วมกับองค์การนาซ่า พร้อมกับเพื่อนสาวสองคน

โดโรธี วอห์น (ออกเทเวีย สเปนเซอร์) เป็นสาวผิวดำที่เก่งในการบริหารจัดการ และไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ เมื่อยามที่ “สมองกล” กำลังจะเข้ามาแทนที่ “สมองคน” เธอขวนขวายหาความรู้ในเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไอบีเอ็มใช้สำหรับเครื่องเมนเฟรมที่กำลังพัฒนาในรุ่นแรกๆ

ทั้งนี้ก็เพื่อจะมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามา

เพื่อนสาวคนที่สาม คือ แมรี่ จอห์นสัน (จาแนลล์ โมเน) เป็นสาวผิวดำที่อยากเป็นวิศวกร นอกจากความเป็นผู้หญิงในอาชีพที่เคยมีแต่ผู้ชายทำงานแล้ว การแบ่งแยกสีผิวยังตัดโอกาสที่เธอจะได้เข้าเรียนในสถาบันชั้นสูงที่สอนวิชานี้

ทั้งสามสาว ซึ่งมีมันสมองชั้นเลิศและมีความทะเยอทะยานทางด้านอาชีพ ต้องต่อสู้กับสภาพการทำงานที่มีการเหยียดผิวเป็นมาตรฐานปกติที่ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลก

อาทิ ตึกที่แคตเธอรีนทำงานอยู่มีแต่ห้องน้ำสำหรับคนผิวขาว เวลาเธอจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ เธอต้องเดินไปร่วมครึ่งไมล์กว่าจะถึงตึกที่มี “สุขาสำหรับคนผิวสี” วันละสองสามเที่ยว จนเป็นที่สังเกตของผู้อำนวยการศูนย์ อัล แฮร์ริสัน (เควิน คอสต์เนอร์) ซึ่งต้องพึ่ง “คอมพิวเตอร์มนุษย์” คนนี้มากขึ้นทุกที

แม้แต่หม้อกาแฟสำหรับพนักงานก็ยังมีการแบ่งแยกว่า “หม้อกาแฟสำหรับคนผิวสี”

ทว่า แคตเธอรีนก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สมองคนยังคงมีความจำเป็นเหนือสมองกล ในกรณีที่ตัวเลขจากคอมพิวเตอร์ดูเหมือนมีปัญหา

มนุษย์อวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นไปโคจรนอกโลก คือ จอห์น เกลน (เกลน เพาแวลล์) ถึงขั้นที่มีคำขอเฉพาะเจาะจงให้แคตเธอรีนเป็นคนคำนวณตัวเลขในวิถีวงโคจรและวิถีการกลับเข้าสู่โลกในการส่งยานพร้อมตัวเขาออกไปในครั้งแรก

ขณะที่มีความห่วงใยในความปลอดภัยของภารกิจประวัติศาสตร์ขององค์การนาซ่าที่มีชื่อว่า “เฟรนด์ชิป 7” ในเรื่องที่ว่าเขาจะได้กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยหรือเปล่า จอห์น เกลน เป็นคนให้ไฟเขียวโดยตัดสินใจให้เดินหน้าต่อไป ถ้าเผื่อแคตเธอรีนเป็นคนคำนวณตัวเลขยืนยันความถูกต้องให้แล้ว

ดังชื่อหนังที่ให้ความหมายสื่อถึงบุคคลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งหมด แคตเธอรีน โกเบิล อยู่ในทีมและเป็นตัวหลักในภารกิจนี้

แคตเธอรีน โกเบิล ซึ่งเป็นม่ายลูกติดสามคน แต่งงานกับ พันเอกจิม จอห์นสัน (มาเฮอร์ชาลา อาลี นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมปีนี้จาก Moonlight) กลายเป็น แคตเธอรีน จอห์นสัน ซึ่งต่อมาองค์การนาซ่ายกย่องเธอด้วยการตั้งชื่ออาคารตามชื่อเธอ

ข่าวว่าในวัยเก้าสิบแปด ตอนที่หนังเรื่องนี้สร้าง แคตเธอรีน จอห์นสัน ยังคงจำอะไรๆ ได้ดี แจ่มใสและพูดจาเป็นเรื่องเป็นราว

อ้อ…หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ด้วย และมีนักแสดงระดับรางวัลออสการ์สองคนเล่นด้วย นอกจาก มาเฮอร์ชาลา อาลี แล้วก็มี อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ สาวใช้ตัวแสบแบบได้ใจจาก The Help มาให้สีสันอีกคน

ขณะที่หนังไม่ได้ให้อะไรใหม่นักหนาเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกผิวในอเมริกา แต่ก็เป็นการย้ำเตือนให้รู้ถึงสภาพสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคย้อนไปราวครึ่งศตวรรษมานี้เอง

ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ดีเยี่ยมในการสะท้อนภาพสังคมของยุคสมัยค่ะ