วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงกับข้อพิพาทจีน-อังกฤษ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (4)
สงคราม

เจียนซาจุ่ยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบมาช้านาน จนเมื่อมีชาวอังกฤษเข้ามาอาศัยอยู่นั่นแล้ว ความคุ้นชินเดิมจึงได้เปลี่ยนไป ชาวจีนในหมู่บ้านนี้ก็เหมือนหมู่บ้านอื่นในเกาะแห่งนี้ ที่ต่างมีทัศนะที่ไม่ต่างกับชนชั้นปกครองของตน

นั่นคือ รังเกียจเดียดฉันท์ชาวต่างชาติ และเห็นชาวต่างชาติเป็นพวกป่าเถื่อน

เหตุอันเกิดที่หมู่บ้านเจียนซาจุ่ยคือ ได้มีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างกะลาสีเรืออังกฤษกับชาวจีนขึ้น

เหตุครั้งนี้กะลาสีเรือได้ฆ่าชาวจีนจนถึงแก่ความตาย แต่แทนที่ชาร์ลส์ เอลเลียต จะส่งตัวกะลาสีเรือซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนให้จีนดำเนินคดี

เขากลับอ้างว่า กฎหมายจีนมีบทลงโทษที่รุนแรงและเป็นกฎหมายที่ป่าเถื่อน เขาจึงไม่ยอมส่งตัวกะลาสีให้ทางการจีน

สรุปคือ ชาร์ลส์ เอลเลียต มองว่าจีนเป็นพวกป่าเถื่อน ไม่ต่างกับที่จีนเองก็มองเขาเช่นนั้น

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเกลียดชังชาวต่างชาติของชาวจีนที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ไฟแห่งความโกรธจึงลุกโชนขึ้น จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง

ถึงตอนนั้นเรือรบของอังกฤษก็ได้เดินทางเข้าสู่เขตน่านน้ำของจีน ผู้บังคับบัญชาเรือรบลำนี้คือ พลเรือตรีเซอร์ยอร์จ เอลเลียต (ค.ศ.1814-1893) ซึ่งเป็นญาติกับชาร์ลส์ เอลเลียต เรือรบลำนี้มาถึงน่านน้ำของจีนในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1840 โดยมีภารกิจสำคัญคือ

“…ปฏิบัติการลงโทษ (จีน) เพื่อดึงรัฐบาลปักกิ่งที่โง่เง่าให้มานั่งบนโต๊ะเจรจา”

เช่นนี้แล้วสงครามจึงระเบิดขึ้นในปีนั้น ทัพอังกฤษใช้กำลังพลที่น้อยกว่า แต่ติดอาวุธที่ทันสมัยกว่าเข้าทำศึกกับจีนด้วยความได้เปรียบ ทัพจีนที่ถือตนว่าเป็นทัพของโอรสแห่งสวรรค์ผู้สูงส่งและมากด้วยอารยะนั้น กลับถูกทัพอังกฤษที่ตนดูแคลนว่าเป็นพวกป่าเถื่อนตีพ่ายไปทุกจุด

ทัพอังกฤษเริ่มตีจีนจากเมืองกว่างโจว แล้วไล่ขึ้นเหนือไปตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองเทียนจิน (เทียนสิน) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่งมากนัก ถึงตอนนี้ราชสำนักก็มิอาจให้ทัพของชนป่าเถื่อนตีมาถึงปักกิ่งได้อีกแล้ว

จีนโดยรัฐบาลปักกิ่ง “ที่โง่เง่า” จึงยอมตั้งโต๊ะเจรจาสมตามเจตนารมณ์ของอังกฤษในที่สุด

 

ก่อนการเจรจา ทางการจีนได้ปลดหลินเจ๋อสีว์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลกว่างตงและกว่างซี โดยให้ย้ายไปกินตำแหน่งเดียวกันนี้ที่มณฑลเจียงซี ด้วยถือว่าล้มเหลวในการทำศึกกับอังกฤษ และขุนนางจีนที่ทางราชสำนักส่งมาแทนก็คือ ฉีซั่น (ค.ศ.1786-1854)

การเจรจามีขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1840 โดยอังกฤษในฐานะผู้ชนะเป็นผู้เรียกประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว อำนาจการต่อรองของจีนจึงมีต่ำมาก และสิ่งที่อังกฤษเรียกเอาก็คือ ให้จีนจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามปีละ 6 ล้านเหรียญเงินเป็นเวลาหกปี และให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนตั้งอยู่บนความเสมอภาค มิใช่ตั้งอยู่ตามแรงปรารถนาของจีนแต่เพียงฝ่ายเดียวดังที่ผ่านมา

ที่สำคัญ อังกฤษยังได้เรียกเอาเกาะฮ่องกงให้มาอยู่ในการปกครองของอังกฤษ

สาเหตุที่อังกฤษเรียกเอาเกาะฮ่องกงนั้น ว่ากันว่า ชาร์ลส์ เอลเลียต ผู้เจรจาฝ่ายอังกฤษต้องการจะสร้างท่าเรือที่เกาะแห่งนี้ให้มาก โดยเห็นว่ายิ่งมีท่าเรือมากก็ยิ่งสร้างโอกาสทางการค้าได้มาก หากเป็นเช่นนั้นจริง ฮ่องกงก็จะกลายเป็นฐานที่ดีให้แก่อังกฤษในการทำการค้ากับเมืองกว่างโจว

 

ฉีซั่นไม่มีทางเลือก เขาจำยอมต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยมิได้ปรึกษาหารือกับทางราชสำนักที่ปักกิ่ง โดยเฉพาะการยกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษนั้น เป็นที่ยอมรับไม่ได้ของจักรพรรดิจีนอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียเกียรติยศของโอรสแห่งสวรรค์ และเป็นเรื่องอัปยศของจีน

จากเหตุนี้ ฉีซั่นจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกยึดทรัพย์สินกับที่ดิน และถูกลงโทษให้ไปประจำในหน่วยทหาร

ส่วนชาร์ลส์ เอลเลียต ก็หาได้รอดพ้นชะตากรรมไปด้วย ด้วยทางราชสำนักอังกฤษเองก็ไม่พอใจที่เขาไปเรียกเอาเกาะฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะร้าง แทนที่จะเรียกเอาเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ทางการค้าได้มากกว่า

เขาจึงถูกลงโทษด้วยการให้ออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการพาณิชย์ของอังกฤษ

 

ตัวละครในประวัติศาสตร์ฮ่องกงอันประกอบด้วยหลินเจ๋อสีว์ ฉีซั่น และชาร์ลส์ เอลเลียต ที่ประสบชะตากรรมเช่นว่าจึงนับเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่ง เพราะหลังจากนั้นต่อมาอีกหลายสิบปีฮ่องกงก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่การลงโทษคนทั้งสามเป็นสิ่งที่มิอาจย้อนเวลากลับไปเพื่อเปลี่ยนคำตัดสินใหม่ได้อีก

จึงน่าสงสัยว่า จักรพรรดิจีนและราชินีนาถอังกฤษที่ทรงสถิตอยู่ภพภูมิที่เราไม่อาจรู้ได้นั้น จะทรงคิดเช่นไรกับการตัดสินลงโทษบุคคลทั้งสามของพระองค์ ในขณะที่ฮ่องกงกลับสร้างประโยชน์ให้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ข้อตกลงที่เป็นต้นเหตุให้ฮ่องกงตกไปเป็นของอังกฤษนั้นเรียกกันต่อมาว่าข้อตกลงชวนปี๋ (ชวนปี๋เฉ่าเยี่ว์ย, Chuanbi Convention)

จะอย่างไรก็ตาม สำหรับอังกฤษแล้วข้อตกลงชวนปี๋เป็นเพียงก้าวแรกของผลประโยชน์เท่านั้น ชัยชนะที่มีเหนือจักรวรรดิจีนทำให้อังกฤษเห็นผลประโยชน์ที่มากกว่านั้น แต่จะได้มันมาก็มีแต่ทางเดียว นั่นคือใช้กำลังกดดันจีนให้จนตรอกมากขึ้น

สถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ต่างกับภาวะที่เรียกว่า อย่าให้เสียของ หรือน้ำขึ้นให้รีบตัก

 

จากเหตุดังกล่าว กองกำลังของอังกฤษจึงคุกคามจีนต่อไปจนถึง ค.ศ.1842 เมื่ออังกฤษสามารถยึดจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์บริเวณด้านใต้ของแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี) ได้แล้ว อังกฤษจึงบีบให้จีนเจรจาอีกครั้งหนึ่งเพื่อขยายผลข้อตกลงชวนปี๋ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

การเจรจามีขึ้นที่เมืองหนันจิง (นานกิง) และเป็นที่มาของสนธิสัญญาหนันจิง (หนันจิงเถียวเยี่ว์ย, Treaty of Nanking) หรือสนธิสัญญานานกิง สาระสำคัญของสนธิสัญญานี้มีอาทิ

1. ให้จีนเปิดเมืองท่าห้าเมืองอันได้แก่ กว่างตง เซี่ยเหมิน (เอ้มึ้ง) ฝูโจว หนิงปอ และซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถทำการค้าและพำนักได้โดยเสรี

2. ให้กำหนดพิกัดภาษาศุลกากรที่แน่นอนและในอัตราที่ต่ำ

3. ให้ยกเลิกระบบการค้าที่จีนได้เปรียบแต่เพียงฝ่ายเดียว

4. ให้จีนชำระค่าฝิ่นที่ถูกจีนทำลายและค่าสินไหมทดแทนจากสงครามเป็นเงิน 20 ล้านหยวน

5. ให้การติดต่อระหว่างจีนกับอังกฤษเป็นไปในรูปของการสื่อสารแทนการร้องเรียน

6. ให้จีนยกเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ

7. ให้อังกฤษได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และ

8. ให้อังกฤษได้รับฐานะชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (the Most Favoured Nation; MFN)

จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ที่อังกฤษต้องการและได้มานั้นก็คือผลประโยชน์ที่อังกฤษเคยเรียกร้องจากจีน แต่จีนไม่ยินยอมและดูถูกดูแคลนอังกฤษอย่างรุนแรง

มาบัดนี้อังกฤษไม่เพียงจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการแล้วเท่านั้น หากยังได้มากกว่าที่เคยเรียกร้องแต่แรกอีกด้วย

 

ฝ่ายจีนผู้ยโสโอหังนั้น มาบัดนี้กลับต้องมาพ่ายแพ้ให้แก่คนที่ตนดูแคลนว่าเป็นพวกป่าเถื่อนอย่างหมดรูปและอย่างน่าอัปยศอดสู จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ด้านมืดของตนมาจนทุกวันนี้ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าแม้จีนจะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นแล้วก็ตาม จีนก็หาได้ลดความยโสโอหังของตนลงไม่

การดูแคลนชนต่างชาติว่าเป็นพวกป่าเถื่อนยังคงอยู่ในสำนึกต่อไป โดยเฉพาะราชสำนักชิง

ส่วนฮ่องกงนับแต่ที่ตกอยู่ในการปกครองของอังกฤษใน ค.ศ.1842 แล้ว ปีที่ว่านี้จึงเป็นเสมือนหลักหมายการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของฮ่องกง โดยที่หลังสงครามผ่านไปแล้วได้มีผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้น ซึ่งรวมแล้วมีอยู่ประมาณ 19,000 คน

ในจำนวนดังกล่าวได้รวมชาวยุโรป 600 คนเข้าไปด้วย ในขณะที่ชาวจีนที่เป็นคนพื้นถิ่นเดิมส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในเรือที่ลอยอยู่กลางน้ำ แต่ที่จะละเลยไปจากการถูกรวมด้วยไม่ได้ก็คือ หญิงโสเภณี 439 คน และผู้ค้าฝิ่นอีก 131 คน

คนสองกลุ่มหลังนี้ต่อไปจะกลายเป็นสัญลักษณ์ในด้านมืดของฮ่องกงไปอีกยาวนาน