หนุ่มเมืองจันท์ | ความยืดหยุ่น

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ฟัง “มารุต ชุ่มขุนทด” ของ “คลาส คาเฟ่” ที่โด่งดังมากในช่วง “โควิด”

จากร้านกาแฟที่ใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง”

เริ่มต้นจาก “โคราช” บ้านเกิดขยายไปยังจังหวัดรอบๆ ก่อนเข้า กทม.

แม้จะเป็น “สตาร์ตอัพ” ร้านกาแฟที่มาแรง

แต่ก็เป็นที่รู้จักไม่มากนัก

จนกระทั่งเกิด “โควิด” การพลิกกลยุทธ์สู้วิกฤตของ “มารุต” กลายเป็นกรณีศึกษาที่ได้รับการกล่าวขวัญพอๆ กับ “เพนกวิน อีท ชาบู”

คนรู้จัก “คลาส คาเฟ่” จากการแก้ “ปัญหา” ครับ

“มารุต” เล่าว่า ตอนทำ “คลาส คาเฟ่” ครั้งแรก เขาเริ่มต้นจากการสร้าง “ความแตกต่าง”

“คู่แข่ง” มีอะไร

เขาจะไม่มี

เขียนเลยว่า 5 สิ่งที่ “คู่แข่ง” ทำมีอะไรบ้าง เขาจะทำตรงข้าม

เช่น คู่แข่งเปิดเพลงช้าๆ มีโซฟาให้นั่งสบาย เน้นความเป็นส่วนตัว ฯลฯ

ร้านเขาเปิดเพลงเร็ว ทันสมัย

โต๊ะในร้านแบบคนรุ่นใหม่ นั่งทำงาน ไม่เป็นส่วนตัว

กลยุทธ์แบบนี้ บริษัทไหนที่เป็น “ดิสรัปเตอร์” จะต้องทำ

เช่น ไทยแอร์เอเชีย

อะไรที่เป็น “จุดเด่น” ของ “การบินไทย” เขาไม่ทำ

เลาจน์หรูๆ ที่นั่งสบายๆ

ไทยแอร์เอเชีย ไม่ทำ

เขาเน้นราคาถูก ใช้แค่ไหนจ่ายแค่นั้น

ไม่มีอาหารเสิร์ฟ ต้องซื้อ

กระเป๋าน้ำหนักเยอะ จ่ายเพิ่ม

วิธีคิดแบบนี้ ธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างจาก “คู่แข่ง” เอาไปใช้ได้

แต่ต้องเลือกดีๆ นะครับ

ไม่ใช่ทำ “ร้านอาหาร”

“คู่แข่ง” ทำอาหารอร่อย

เราสร้างความแตกต่างด้วยการทำอาหารไม่อร่อย

แบบนี้แพ้ตั้งแต่เริ่มต้น

“คลาส คาเฟ่” เริ่มต้นแบบ “เอสเอ็มอี”

แต่พอคิดจะขยายกิจการ เขาก็ปรับวิธีคิดใหม่ให้เป็นแบบ “สตาร์ตอัพ”

ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว

ระดมทุนได้ก็เผาเงินทันที

เป้าหมาย คือ ขยายกิจการ และสร้างตลาด

“กำไร” เอาไว้ทีหลัง

“มารุต” บอกว่า วิธีคิดแบบ “สตาร์ตอัพ” ต้องรีบใช้เงินที่ระดมทุนมาลงทุนอย่างรวดเร็ว

ถ้าเผาเงินช้า นักลงทุนจะโวย

เพราะแสดงว่าขยายตลาดได้ช้า

7 ปีที่ผ่านมา “คลาส คาเฟ่” จึงขาดทุนมาโดยตลอด

แต่พอเจอวิกฤต “โควิด” วิธีคิดของ “มารุต” ก็เปลี่ยนไป

“เงินสด” สำคัญที่สุด

“พี่จิ๋ม” สุวภา เจริญยิ่ง ที่ปรึกษาด้านการเงินของ “คลาส คาเฟ่” บอกเลยว่าอะไรขายได้ให้รีบขาย

เอา “เงินสด” มาไว้ในมือให้เร็วที่สุด

สินค้าที่มีอยู่ในสต๊อก เขาเอามาขายราคาถูกๆ ทันทีเพื่อเอาเงินสดเข้ากระเป๋าก่อน

การทำงานแบบ “สตาร์ตอัพ” ยังใช้อยู่

แต่ใช้กับการตัดสินใจและลงมือทำอย่างรวดเร็ว

เขาปิดร้านใน กทม.เกือบทั้งหมด

กลับไปยึดฐานที่มั่นที่โคราชและจังหวัดใกล้เคียง

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็น “เอสเอ็มอี”

ไม่คิดเรื่องขยายสาขา แต่คิดเรื่องต้นทุน-กำไร อย่างละเอียด

สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้ลูกค้าซื้อกลับ

ไม่ว่าจะเป็นกาแฟบรรจุขวด หรือน้ำผลไม้ที่กลายเป็นสินค้าขายดีของเขา

เชื่อไหมครับว่าในช่วงที่เจอวิกฤต “โควิด”

ปีนี้เป็นปีแรกที่ “คลาส คาเฟ่” มีกำไร

เพราะเขาเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็น “เอสเอ็มอี”

ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องคิดแบบ “สตาร์ตอัพ” ทุกเรื่อง

การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้

การยืดหยุ่นในเชิงวิธีคิดและวิธีทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เพราะในตำราไม่เคยสอน

ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ผู้บริหารเวิร์คพอยท์ เคยเล่าประสบการณ์หนึ่งตอนไปงานที่ต่างประเทศ

เขาต้องเจอกับผู้คนในแวดวงธุรกิจบันเทิงมากมาย

ครั้งหนึ่ง “กร” เจอผู้กำกับละครเวทีชื่อดังคนหนึ่ง

คุณพ่อของเขาก็เป็นผู้กำกับละครเวทีเช่นกัน

…ดังมาก

การเติบโตภายใต้ร่มเงาของพ่อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ด้านหนึ่ง ได้เรียนรู้กลยุทธ์ต่างๆ จากพ่อ

แต่อีกด้านหนึ่ง ลูกก็จะไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ตามความเชื่อของเขา

ผู้กำกับฯ หนุ่มคนนี้บอกว่าตอนที่ทำงานด้วยกัน พ่อจะห้ามหรือคุมตลอด

ควรทำแบบนี้

ห้ามทำแบบนั้น

แม้จะอึดอัด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ยิ่งนาน เขาก็เริ่มท้อ

ใช้วิธีการเถียง หรือปะทะ ก็แพ้ทุกครั้ง

“บารมี” ของพ่อนั้นเหนือกว่าเขา

ระหว่างพ่อพูด กับเขาพูด

ใครๆ ก็เชื่อพ่อ

จนวันหนึ่งก็คิดกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมา

เขามีลูกสาว

พ่อหลงหลานมาก

อะไรๆ ก็หลาน

ผู้กำกับฯ คนนี้จึงใช้วิธีการพาลูกไปที่ทำงาน

ตอนประชุมก็ให้ลูกเข้ามาด้วย

พ่อที่เคยโฟกัสกับ “งาน” ก็เปลี่ยนไป

หันไปสนใจ “หลาน”

นั่งประชุมอยู่ พอหลานเริ่มงอแงก็อุ้มหลานออกจากห้อง

ปล่อยให้ลูกตัดสินใจได้เต็มที่

ผู้กำกับฯ คนนี้จึงได้โอกาส “ปล่อยของ”

ยิ่งพ่อไปวุ่นวายกับหลานมากเท่าไรก็เปิดโอกาสให้เขาคิดและตัดสินใจมากเท่านั้น

พอพ่อเข้าประชุมไม่ปะติดปะต่อหลายครั้งเข้าก็ตามเรื่องไม่ทัน

ปล่อยให้ลูกจัดการเลย

ละครเวทีที่เขากำกับฯ จึงสร้างมิติใหม่

มีเพลงแร็พแทรกในละคร

ไม่ต้องเป็นเพลงแบบเดิมๆ

วันนี้เขากลายเป็นผู้กำกับละครเวทีคลื่นลูกใหม่ที่โด่งดัง

ถ้าถามว่าคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขาคือใคร

“พ่อ” คือส่วนหนึ่ง

แต่คนที่เปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือ

คือ เจ้า “ลูกสาว” ตัวเล็ก