หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/ ‘บุกเบิก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ในพื้นที่ป่าหลายแห่งที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ กระทิงมีประชากรค่อนข้างมาก ในป่าบางแห่งซึ่งไม่มีช้างอาศัยประจำ กระทิงทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางแทน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘บุกเบิก’

 

…สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นสัตว์ป่ากระทำคือ พวกมันเดินทางตลอดเวลา เคลื่อนย้ายที่ไปตามฤดูกาลโดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด เป็นวิถีซึ่งสัตว์ป่าดำเนินมาเนิ่นนาน บางตัวเดินทางเพียงในระยะสั้นๆ หลายตัวไปไกลนับพันกิโลเมตร

หลายชนิดเดินทางเป็นฝูงใหญ่ แต่ก็มีหลายตัวเดินทางลำพัง มีเพียงเงาตัวเองเป็นเพื่อนร่วมทาง

ไม่ว่าจะเรียกการเดินทางของสัตว์ป่าว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ไปเพราะสัญชาตญาณ เพราะหน้าที่ เป็นความหวัง หรือแค่เพราะตามๆ กันไป

แต่เมื่อถึงเวลา สัตว์ป่าก็จะเริ่มเดินทาง ไม่ว่าจะไปไกลหรือใกล้ ทุกตัวก็ไปสู่จุดหมายเดิมๆ

พวกมันเดินทาง แม้รู้ว่าหนทางข้างหน้ายากลำบาก พวกมันรับรู้ถึงความจริงว่า นี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย

สัตว์ป่าเมื่อเริ่มเดินทาง พวกมันมีความหวังอันหมายถึงแหล่งอาหารอันสมบูรณ์รออยู่

สำหรับคนคงไม่ต่างจากนี้

ความต่างอาจอยู่ที่ สัตว์ป่ามีความหวังรออยู่

ส่วนคน เมื่อจากไปไกลที่จากมา คือสิ่งที่คนมักนึกถึง

ผมไม่รู้หรอกว่า เหล่า “นักบุกเบิก” คิดอย่างไร อะไร เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเดินทาง

มี “นักบุกเบิก” คนหนึ่ง ซึ่งผมรู้จัก แต่ผมไม่เคยถามว่า เขาคิดอย่างไร

และเขาก็ออก “เดินทาง” ไปไกลเกินกว่าคำถามผมจะไปถึงแล้ว…

 

…หลวงพ่อชุ่ม เจ้าอาวาสวัดท่าวังไทร อำเภอวังน้ำเขียว ในวัย 70 กลางๆ จบบทสวดขณะเรากรวดน้ำส่งความระลึกถึงไปยังพ่อผู้ล่วงลับ

หลวงพ่อเริ่มสร้างวัดแห่งนี้มาเนิ่นนาน ตั้งแต่เป็นศาลาไม้หลังเล็กๆ จนกระทั่งมีโบสถ์หลังใหญ่ และกำลังสร้างศาลาใหญ่

สุขภาพหลวงพ่อไม่ดีนักแล้ว หลายโรครุมเร้า ต้องละเว้นงานหนักๆ อย่างที่เคยทำ

“นี่เพราะหลวงพ่อฆ่าเก้งตัวนั้นแหละครับ” ในฐานะเป็นคนที่หลวงพ่อเคยเลี้ยงตอนเด็กๆ ผมกล้าหยอกล้อท่าน

หลวงพ่อหัวเราะ “คงจริงนะ ดูสิ เขามาเอาคืนกันใหญ่”

กว่า 50 ปีก่อน บ้านท่าวังไทรคือป่า เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น

หลวงพ่อในวัยรุ่น ติดตามคณะผู้เข้ามาบุกเบิก เดินทางตามเส้นทางเกวียน นำวัวเข้ามาเลี้ยง

ชายหนุ่มจากเมืองกรุงผู้มีความฝันอยากทำปศุสัตว์ หลังลงแรงทำไร่อยู่ในเมืองปากช่องหลายปี เขาตั้งใจทำความฝันให้เป็นจริง

นำวัวเข้ามาเลี้ยงในป่าลึก เดินทางทุรกันดารในป่าที่สัตว์ป่าทำราวกับไม่รู้จักคน

“เก้งตัวนั้นน่ะ หลวงพ่อจับเอามีดแทงง่ายๆ เลย มันวิ่งหนีหมาไนลงมาในน้ำ หลวงพ่อกำลังแล่เนื้อกวางอยู่พอดี ได้เก้งมาเป็นอาหารอีก”

ความชุกชุมของสัตว์ป่าตอนนั้น เป็นเรื่องเล่ามาจนถึงวันนี้

ไม่เฉพาะสัตว์กินพืช เหล่าสัตว์ผู้ล่าก็มีประชากรไม่น้อย

“วัวเอาเข้าเท่าไหร่ ก็ถูกเสือเอาไปกินหมด ต้องยอมแพ้ เลิกเลี้ยง” หลวงพ่อเล่า

คอกวัวถูกทิ้งร้าง ชายหนุ่มเมืองกรุงถอยกลับเข้าเมือง ลูกทีมเขาหลายคนปักหลักจับจองที่อยู่ต่อ หลวงพ่อบวชและออกธุดงค์ไปทั่วประเทศ ก่อนกลับมาสร้างวัดในที่เคยอยู่

“ตรงมะขามป้อมต้นนั้นแหละ พ่อเราเขายิงกระทิง” หลวงพ่อชี้ให้ดูต้นมะขามป้อมต้นใหญ่บนเนินสูงใกล้ๆ โบสถ์

 

ถึงวันนี้ พ.ศ.2563 บ้านท่าวังไทร เป็นทางผ่านสู่แหล่งท่องเที่ยว ถนนลาดยางเรียบ สองฟากฝั่งที่เปลี่ยนจากป่าทึบมาเป็นไร่ข้าวโพดกว้างไกลสุดตา กลายเป็นพื้นที่โรงแรมใหญ่ รีสอร์ตหรูๆ และบ้าน “หลังที่สอง” ของคนกรุง

ขบวนมอเตอร์ไซค์ รถยนต์วิ่งขวักไขว่ รถติดไม่แพ้ในเมืองช่วงเทศกาล

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ผู้ชายที่เคยดั้นด้นเข้ามา กลับมาอยู่ในที่ของเขาอีกครั้ง…

 

ตั้งแต่เด็ก ผมฟังเรื่องราวผจญภัยของพ่อบ่อยๆ ส่วนใหญ่จากคนรอบข้างและคนในทีมที่เคยร่วมงานกับพ่อมากกว่า พ่อไม่เล่าให้ฟังมากนัก นอกจากรูปถ่ายขาว-ดำเก่าๆ ที่ผมดูบ่อย ทำให้รู้เรื่องราวมากขึ้น

พ่อไม่เคยเล่า แต่ดูเหมือนพ่อจะถ่ายทอดสายเลือดแห่งการผจญภัยมาสู่ผมอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ในวันที่พ่อป่วย ล้าเกินกว่าจะเดินทาง ขณะนั่งบนเก้าอี้โยกหน้าบ้าน

ผมออกจากป่าขับรถที่เปรอะเปื้อนโคลน หรือตัวถังบุบบู้บี้ผ่าน ผมเข้าใจสายตาของพ่อ

ผมเองก็ไม่เล่าอะไรให้พ่อฟังมาก จากสายตาที่พ่อมอง ผมรู้ว่าพ่อเข้าใจ และรู้ว่า ผมผ่านและพบเจออะไรบ้าง

 

วันหนึ่ง ช่วงท้ายของชีวิตพ่อ หลังกลับจากโรงพยาบาล ผมเอารูปสัตว์ป่าฉายให้พ่อดู

พ่ออ่อนล้าเกินกว่าจะพูดอะไร มีเพียงแววตาที่บอกถึงความยินดี

พ่อรู้ดีว่า ไม่ว่าจะบุกเบิกสิ่งใด ต้องใช้กำลังกายและใจมากเพียงไหน

 

กับเหล่าสัตว์ป่า การเดินทางของพวกมันมีแหล่งอาหารเป็นสิ่งกำหนด แต่ผมไม่รู้และไม่เคยถามพ่อว่า อะไรทำให้เริ่มต้นเดินทาง

ทุกครั้งที่ไปวัดท่าวังไทร ผ่านบ้านพักสวยงาม รีสอร์ต โรงแรมหรู ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ผู้ชายคนหนึ่งกับทีมของเขาผ่านมา และมันเป็นดงทึบ

เรานำเถ้ากระดูกพ่อมาไว้ที่วัดท่าวังไทร

คงไม่จำเป็นที่ผมต้องรู้ว่าพ่อคิดอย่างไรเมื่อเริ่มต้นเดินทาง เพราะผมเชื่อว่า ในฐานะผู้ “บุกเบิก” พ่อจะมีความสุขกับการอยู่ที่นี่…