เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ภูมิเพลงโคราช

บรรดาเพลงพื้นเมืองด้วยกันนั้นดูเหมือนเพลงโคราชจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษกว่าเพลงพื้นบ้านทั่วไป โดยเฉพาะเล่นร้องกันจำเพาะที่เมืองโคราช หรือนครราชสีมาเท่านั้น และตรงลานย่าโมเท่านั้นด้วย

คือเล่นแก้บน

หมายความว่า ใครที่เชื่อในเรื่องบนบานศาลกล่าว ก็จะไปขอให้ย่าโมช่วยให้สัมฤทธิ์สำเร็จผลแล้วจะถวายสิ่งต่างๆ เป็นบรรณาการตอบแทนแก่ดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของย่าโม

ในบรรดาบรรณาการถวายนั้น ก็จะมีการแสดงร้องรำประกอบด้วยเพลงโคราชเป็นสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง เสมือนละครชาตรีที่รำแก้บนตามศาลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น

เพลงโคราชเป็นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองที่มีแบบอย่างของตนโดยเฉพาะ ไม่เหมือนเพลงของภาคใดทั้งสิ้น เช่น มีสร้อยเพลงร้องประกอบว่า “ไชยะฉ่าชิชัย” เป็นต้น

เหมือนสร้อยเพลงฉ่อยภาคกลางที่ว่า “…เอ่ชา เอ๊ ช้า ชา ฉ่าชา…หน่อยแม่” ประมาณนั้น

เพลงโคราชไม่เหมือนเพลงฉ่อยที่ร้องทั่วไปในภาคกลาง ไม่เหมือนเพลงหมอลำที่ร้องทั่วไปในภาคอีสาน และไม่เหมือนเพลงบอกภาคใต้ เพลงขับซอภาคเหนือ หากเป็นของเมืองโคราชโดยเฉพาะ

อันอาจถือเอาเป็นเพลงที่มีอัตลักษณ์พิเศษของจังหวัดนครราชสีมาได้เลยทีเดียว

แม้ไม่แพร่หลายทั่วไป แต่นั่นก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของโคราชที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

สมควรที่ชาวโคราชและคนไทยทุกภาคต้องเชิดชูอนุรักษ์ ส่งเสริมไว้ ถือเป็นหนึ่งในมรดกแผ่นดินโดยแท้

มรดกแผ่นดินของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองคือเสียงหรือสำเนียงพูดจาของผู้คนที่พัฒนามาเป็นท่วงทำนองเพลงจำเพาะพื้นถิ่นนั้นๆ เอง

ถือเป็น “ภูมิภาษา” ที่เป็นจิตวิญญาณของแผ่นดิน อันสำคัญยิ่ง

เฉกเช่นภาษาสำเนียงเสียงโคราช ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่กลาง ไม่ใช่อีสาน ไม่เหนือ ไม่ใต้ แต่เป็นโคราชที่พิเศษจำเพาะ

ตรงนี้สำคัญนัก เพราะสำเนียงภาษานั้นบอกถือรกรากที่มาที่ไปอย่าง “มีนัยยะสำคัญ”

เมื่อครั้งมีโอกาสคุยกับเจ้าแขวงหลวงพระบางที่ลาวหลายปีมาแล้ว เราใช้สำเนียงพื้นถิ่นคุยกันได้รู้เรื่องและออกรสด้วยเสียง “เหน่อ” เหมือนกัน คือเหน่อหลวงพระบางกับเหน่อบ้านทวนเมืองกาญจน์

ซึ่งถ้าจะไล่ดูเส้นทาง “เหน่อ” จากหลวงพระบาง ข้ามอุตรดิตถ์ เมืองเลย สุโขทัย ข้ามเจ้าพระยามาฝั่งตะวันตกคือตาก สุพรรณบุรี อยุธยา กาญจนบุรี ไปจรดราชบุรี ล้วนมีสำเนียง “เหน่อ” พื้นฐานคล้ายกันหมด

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยให้ข้อสังเกตว่า เสียงเหน่อนี่แหละเป็นสำเนียงเมืองหลวงมาแต่เดิม ดูได้จากการแสดงโขน บทพากย์เจรจาจะใช้สำเนียง “เหน่อ” เป็นปกติ เช่น “บัดนั้น กำแหงหนุมานชาญสมร…”

นี่แหละสำเนียงหลวงของแท้

สำเนียงกรุงเทพฯ มีมาทีหลัง เป็นสำเนียงที่เกลื่อนกลืนกันระหว่างเหน่อไทย-จีนเป็นพิเศษ

ย้อนประสบการณ์หลวงพระบาง ไปได้ข้อมูลการใช้สระไอไม้ม้วน คือ “ใ” ดังเราท่อง “ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่…ฯลฯ” นั้นปรากฏว่าสำเนียงหลวงพระบางอ่านเป็น “อา-อือ” เช่น “ใหญ่” เป็น หย่า-อื่อ ใหม่เป็น หม่า-อื่อ ซึ่งดังนั้น คำให้ (ไม้ม้วน) ก็เป็น ห้า-อื้อ

หมายถึง “ม้วนขึ้นนาสิก”

ดังเราเรียก “ไม้ม้วน” นั่นเอง

เพราะฉะนั้น สำเนียงเหนือจึงตัดคำว่า “ให้” เหลือเพียง “หื้อ” (จาก ห้า-อื้อ) โดยที่มาจากคำเดียวกันคือให้

แสดงให้เห็นเส้นทางของภาษาสำเนียงว่ามี “รากร่วม” ทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

กลับมาที่เพลงโคราชอันเป็นเอกลักษณ์ของภาษาสำเนียงเสียงโคราชโดยจำเพาะและโดยแท้นั้น

สภาพการณ์ปัจจุบันเพลงโคราชเหลือพื้นที่อยู่แค่ลานย่าโมโดยมีโอกาสเล่นเฉพาะงานแก้บนเท่านั้น

นี้คือสภาพน่าเป็นห่วงยิ่ง

ได้ทราบข้อมูลถึงสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งน่าใจหาย คือนักร้องเพลงโคราชได้รวมตัวกันเป็นสมาคมรับงานแก้บนที่ลานย่าโมดังกล่าว แต่ต้องเช่าพื้นที่เพื่อจัดเป็นเวทีแสดง

ค่าเช่าพื้นที่เวทีเดือนละสามหมื่นบาท

ซ้ำยังต้องเสียค่าโน่นนี่อีกรวมปีละเป็นแสนนอกจากค่าเช่ารายเดือนนั้น

“ทุกวันนี้อยู่ยากครับ”

นี่คือเสียงจากคณะเพลงโคราช

นอกจากทางการจะไม่ใส่ใจในคุณค่าของ “ภูมิภาษา” ที่เป็นมรดกแผ่นดินแล้ว ยังรีดเลือดเอากับปูผู้ตะเกียกตะกายชูก้ามมรดกแผ่นดินไว้อีกด้วย

กระนั้นหรือ

๐ พ่อมารำมาร่าย แม่ก็รับก็รอง

ใช่สำหรับจะรับรอง หรือว่าเล่นร่ำไร

รักแม่หน่อไม้อ่อน นึกสะออนอยู่ไม่อิ่ม

เดินรำตามริม ได้แต่กระแอมกระไอ

๐ พี่อยากอยู่ร่วมวัง เหมือนอย่างสังข์ทอง

น้องทำไมไม่มอง เห็นเป็นมายาสาไถ

ดูแต่สำเภาทอง เขายังปองสร้างท่า

งามหมดจดรจนา ขอเชิญเจ้าจาระไนฯ

๐ พรำพรำน้ำฝน บนลานย่าโม

พ่อตอบแม่โต้ ไชยะฉ่าไช

ยกมือป้องหู รู้จิตรู้ใจ

รำแต้แก้ไข ด้นคิดด้นคำ

๐ แสนเสนาะสำเนียง น้ำเสียงโคราช

จังหวะฉะฉาด ช่างร้องช่างรำ

จำแลงใจลง ยืนยงคงคำ

ครึ้มครึ้มพึมพำ บทเพลงแผ่นดิน