Eternity Village สภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของผู้คนในสังคมไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Lighthouse (2020)

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอีกงาน ที่บังเอิญจัดแสดงและเปิดตัวในวันเดียวกับนิทรรศการที่กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันต่อเลยก็แล้วกัน นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

Eternity Village หมู่บ้านนิจนิรันดร์

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ที่เราเคยเล่าถึงนิทรรศการ “กายวิภาคของความเงียบ” ของเขาไปเมื่อสองปีที่แล้ว ในครั้งนี้เขาเปลี่ยนจากการทำงานศิลปะที่สำรวจประวัติศาสตร์และความทรงจำทางการเมืองอันเข้มข้นในสังคมไทย

หันมาสำรวจประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล (Microhistory) ของคนธรรมดาสามัญในชุมชนเล็กๆ ใกล้ตัวของเขาแทน

Eternal wall (2019)

“ผลงานชุด Eternity Village ของผม เริ่มต้นมาจากความสนใจสิ่งที่ใกล้ตัวมากๆ คือหมู่บ้านจัดสรรที่ผมเข้า-ออกอยู่เป็นประจำในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา จนเป็นเหมือนชีวิตประจำวัน เป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากๆ จนเราไม่คิดที่จะสังเกต

จนวันหนึ่งผมบังเอิญพบคนงานในหมู่บ้านจัดสรรกลุ่มหนึ่งที่กำลังกวาดถนนในหมู่บ้าน การแต่งตัวของพวกเขาที่สวมหมวกสานใบใหญ่ ปิดคลุมหน้าด้วยเสื้อยืด สวมเสื้อเชิ้ตหลวมโคร่ง กางเกงผ้าสีเข้ม สวมรองเท้าแตะ มือถือไม้กวาดทางมะพร้าวอันใหญ่เหมือนๆ กัน ทำให้ผมสนใจ และเข้าไปพูดคุยสอบถามความเป็นมาเป็นไปของพวกเขา จนทำให้ผมรู้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้

The Nights Of Labor 2 (2019)

ตอนแรกผมคิดว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในอาคารสำนักงานของนิติบุคคล แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ แคบๆ ที่แอบซ่อนอยู่หลังกำแพงฝึกซ้อมน็อกบอร์ดของสนามเทนนิส ภายในสโมสรของหมู่บ้าน บนพื้นที่ขนาด 23 ตารางวา ที่เป็นที่พักอาศัยถาวรของคนงานหลายครอบครัว หลายคนอยู่ที่นี่มามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่หมู่บ้านจัดสรรเริ่มก่อตั้งไม่นาน

The Nights Of Labor 3 (2019)

ส่วนใหญ่คนงานเหล่านี้จะเข้ามาจากการแนะนำกันเป็นทอดๆ ในจังหวัดบ้านเกิด บางครั้งเป็นญาติหรือลูกๆ รุ่นต่อๆ ไปของพวกเขาเอง

แต่ด้วยความที่ฝ่ายนิติบุคคลของหมู่บ้านปิดตัวลงไปเมื่อหลายปีก่อน เพราะลูกบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับรายจ่ายค่าส่วนกลางของหมู่บ้าน ทำให้คนงานเหล่านี้ได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน ไม่มีสวัสดิการหรือแม้แต่ประกันสังคมรองรับ

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมตัดสินใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มสร้างผลงานชุดนี้เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา”

พชรกล่าวถึงที่มาของผลงานในนิทรรศการชุดนี้ของเขา

พชรเริ่มต้นการทำงานด้วยการตามบันทึกภาพชีวิตของคนงานในหมู่บ้านจัดสรรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อันจำกัดคับแคบ จากการถ่ายภาพเพื่อเก็บข้อมูลและนำไปแปรสภาพเป็นงานจิตรกรรมที่มีส่วนผสมของภาพวาดแบบเหมือนจริงผสมผสานกับบรรยากาศอันแปลกตาเหนือจริง

Chamber of Reflection (2019)

ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดของสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านจัดสรร อย่างสระว่ายน้ำชำรุดทรุดโทรม แป้นบาสเกตบอลเปลี่ยวเหงา สนามเทนนิสรกร้าง และกำแพงน็อกบอร์ดเก่าคร่ำคร่าที่แอบซ่อนที่พักอันแร้นแค้นของเหล่าบรรดาคนงานเอาไว้เบื้องหลัง

พื้นที่เหล่านี้แสดงตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันโพล้เพล้ เงียบงัน ราวกับจะแสดงออกถึงอนาคตอันหมองหม่นและความหวังอันริบหรี่ของผู้ที่อาศัยและดูแลมันอยู่

The Cross (2019)

ในขณะเดียวกันก็ปรากฏเส้นแสงอันแปลกประหลาดราวกับเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ล่องลอยวนเวียนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ชั่วนิจนิรันดร์

“เส้นแสงที่ว่านี้ผมเล่นกับเรื่องของแสงที่มีและไม่มีอยู่จริง อย่างเช่นโคมไฟที่ไม่มีหลอด แต่กลับมีแสงส่องลงมา หรือเส้นแสงที่เห็นก็เป็นเส้นสมมุติที่ล้อไปกับเส้นระนาบของพื้นที่ สิ่งก่อสร้าง หรือภูมิทัศน์ในภาพ”

หรือภาพของกลุ่มคนงานหมู่บ้านในชุดเครื่องแบบ ที่กำลังอยู่ในอิริยาบถอันแปลกตาน่าพิศวง ราวกับกำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่างอยู่ หรืออาจจะกำลังเฝ้ารอคอยปาฏิหาริย์จากฟากฟ้าเบื้องบน ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่กันแน่

The Nights Of Labor 4 (2019)

“ผมรู้สึกว่างานจิตรกรรม นอกจากจะเป็นภาพแทนความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการใคร่ครวญผ่านการจ้องมอง เพื่อค้นหาสิ่งที่มองไม่เห็นและถูกบดบังอยู่ และสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพแทนความเป็นจริงเหล่านั้น”

“งานจิตรกรรมของผมมีจุดเริ่มต้นมาจากสถานที่และบุคคลจริงที่ถูกบันทึกด้วยภาพถ่าย และนำไปแทนค่าด้วยความเป็นงานจิตรกรรม เพื่อให้ภาพแทนเหล่านี้เล่าเรื่องราวและแสดงสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านั้นออกมา มากกว่าจะเป็นการคัดลอกภาพถ่ายเฉยๆ”

“การนำผู้คนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของผมก็เหมือนกับเป็นการสำรวจตัวเองไปด้วย”

Sleep (2019)

นอกจากภาพวาดสถานที่ในหมู่บ้านและกลุ่มคนงานแล้ว ผลงานของเขายังมีภาพทิวทัศน์ชนบท ที่ถึงแม้จะอยู่ในบรรยากาศอันโพล้เพล้ แต่ก็เรืองรองไปด้วยแสงสว่างในพื้นที่โล่งกว้างสุดสายตา ราวกับจะเป็นการแสดงถึงอารมณ์หวนหาบ้านเกิดของเหล่าคนงานผู้พลัดที่นาคาที่อยู่เหล่านี้ก็ไม่ปาน

“ปีที่แล้วผมเดินทางตามไปเก็บภาพที่บ้านเกิดของคนงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในภาพที่เห็นคือที่นาของเขาที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากการสร้างเขื่อน ทำให้ท้องนาแห้งเหือดจนสามารถเดินลงไปได้ ผมก็เอามาวาดจำลองแสงสว่างให้ดูเหมือนแสงจันทร์ และตั้งชื่อภาพว่า Harvest Moon (จันทร์เพ็ญในฤดูเก็บเกี่ยว) ซึ่งแขวนอยู่ตรงข้ามอีกภาพที่ชื่อว่า Sunset (อาทิตย์ตก)”

Sunset (2019)
Harvest Moon (2019)

ผลงานของพชรในนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยเทคนิคอันแปลกใหม่ ฝีไม้ลายมืออันฉกาจฉกรรจ์ และสุนทรียะอันเปี่ยมล้นของคนทำงานจิตรกรรมแล้ว ภาพวาดเหล่านี้ยังแสดงภาพสะท้อนถึงสภาวะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และการกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง ของผู้คนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ Eternity Village หมู่บ้านนิจนิรันดร์ โดยพชร ปิยะทรงสุทธิ์ ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2563 ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN ซอยนราธิวาส 22 สอบถามข้อมูลได้ที่ @artistrungallery2016

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากพชร ปิยะทรงสุทธิ์, ARTIST+RUN GALLERY