วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี สายสัมพันธ์เริ่มต้น

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

จากมุมมองกว้าง เชื่อมโยงและอ้างอิงกับสถานการณ์และความเป็นไปของสังคม สู่สายสัมพันธ์อันคลาสสิค

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เดินหน้าสู่กิจการศตวรรษ ด้วยนับจุดเริ่มต้นธุรกิจในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2464 เมื่อเปิดร้าน “เจียไต๋จึง” โดยบิดาของธนินท์ เจียรวนนท์ (เจี่ย เอ็กชอ) ดังที่นำเสนอในตอนต้น

“หลังจากที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรีเรียนจบจากเสฉวนก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน ในปี พ.ศ.2496 ท่านประธานจรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า “เจริญโภคภัณฑ์” หรือเรียกย่อๆ ภาษาอังกฤษว่า CP” (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History โดยธนินท์ เจียรวนนท์ ) เรื่องเล่าตอนหนึ่ง กล่าวถึงการเริ่มต้นรุ่นที่สองของธุรกิจครอบครัว จรัญ และมนตรี เจียรวนนท์ ที่อ้างถึงข้างต้นเป็นพี่ชายของเขา

“2496 เริ่มกิจการโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรก จากเครื่องบด และผสมอาหารในโรงจอดรถที่บ้านตรอกจันทน์ ภายหลังได้ปรับปรุงเป็นโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัย… 2502 เริ่มแปลงทดสอบสายพันธุ์ผักของเจียไต๋” ข้อมูลประวัติทางการ (ปรากฏใน website หลักของซีพี-http://cpgroupglobal.com/) ให้ภาพชัดขึ้นอีก ว่าด้วยกิจการที่แตกแขนง และเติบโต

“ช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ.2500 ร้านเจริญโภคภัณฑ์ได้ขยายกิจการไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง ผมเริ่มช่วยพี่ชายบริหารส่วนงานอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ที่บริษัทขายในตอนนั้นเน้นขายอาหารเลี้ยงไก่ หมู มีทั้งข้าวโพด แป้งถั่ว รำข้าว ปลาป่น เป็นต้น ยุคนั้นเรามีโรงแปรรูปเล็กๆ อยู่ แต่ผมไม่ได้รับผิดชอบเรื่องสูตรอาหารสัตว์” เรื่องเล่า (“บันทึกความทรงจำ”) อีกตอนหนึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งใจเล่าความเป็นไปของธุรกิจครอบครัวในช่วงเวลาเขาเริ่มต้นทำงาน

“เมื่ออายุราว 20 ปี นอกจากงานที่ร้านแล้ว ผมได้ไปช่วยงานที่บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด และสหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทยด้วย…” หากเทียบเคียงคงราวๆ ปี 2502 เขาได้ให้ภาพใหญ่เชื่อมโยงสังคมไทยเวลานั้นไว้ด้วย “ในช่วงทศวรรษที่ 2490 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2491-2500) มีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยทำธุรกิจ มีการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง…บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด และสหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย ก็เป็นผลผลิตจากนโยบายนี้เช่นกัน”

(จากหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”)

 

เรื่องราวอันพิสดารเกี่ยวกับบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด คงต้องอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งมีขึ้นเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว (พัฒนาการและบทบาทของสหสามัคคีค้าสัตว์ โดยรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานวิจัยเสนอต่อสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2523)

เนื้อหาในงานวิจัยชิ้นนั้นให้ภาพบริบทและสถานการณ์สังคมไทยแตกต่างจากมุมมองของธนินท์ เจียวนนท์บ้าง โดยมีสาระเป็นงานวิชาการอย่างที่ควรอ้างอิงไว้

“ในระหว่างปี 2490-2500 ผู้นําทางทหารอาจจําแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มซอยราชครู อันมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นํา และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ อันมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นํา…ตลอดระยะเวลาระหว่างปี 2490-2500 ทั้งกลุ่มซอยราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ต่างใช้อํานาจทางการเมืองในการขยายฐานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในระยะแรกฐานอํานาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มซอยราชครูกว้างใหญ่กว่ากลุ่มสี่เสาเทเวศร์มาก แต่นับตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา ฐานอํานาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว…”

มุมมองอย่างเฉพาะเจาะจงของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ต่อสหสามัคคีค้าสัตว์นั้น ควรบันทึกไว้ในฐานะบริบทสำคัญด้วยเช่นกัน

“บริษัทดังกล่าวถือกําเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2498 เป็นต้นมา…ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จํากัด มีส่วนสร้างปรากฏการณ์อันอื้อฉาวหลายต่อหลายกรณี พฤติกรรมดังกล่าวนี้มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจแม้แต่น้อย หากเราได้ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของบริษัทนี้ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า สหสามัคคีค้าสัตว์ถือกําเนิดขึ้นในยุคสมัยแห่งนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม (Economic Nationalism) ซึ่งผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ฉกฉวยโอกาสในการหยิบยก “ความรักชาติ” มาเป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล กําเนิดของสหสามัคคีค้าสัตว์เป็นเพียงผลของการใช้อํานาจทางการเมืองในการขยายฐานอํานาจทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อใช้ฐานอํานาจทางเศรษฐกิจรองรับและขยายฐานอํานาจทางการเมืองอีกทอดหนึ่งเท่านั้น”

 

หากเทียบเคียงช่วงเวลา จะพบว่าธนินท์ เจียรวนนท์ เข้าทำงาน เป็นจังหวะโอกาสสำคัญ สะท้อนความสัมพันธ์ครั้งแรกอย่างมีนัยยะกับกลไกและระบบอำนาจรัฐ ขณะเดียวกัน สหสามัคคีค้าสัตว์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงความคิดของเขาเข้ากับอิทธิพลใหม่ของโลก

“ผมเริ่มสนใจในการเลี้ยงไก่ตั้งแต่ตอนที่ทำงานอยู่ที่บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ที่นี่ทำให้ผมได้เรียนรู้วิชาการบริหารจาก ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งดูแลบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ในขณะนั้น ที่สำคัญคือ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเลี้ยงไก่เนื้อ” ธนินท์ เจียรวนนท์ ยอมรับว่าประสบการณ์การทำงานครั้งแรกดังกล่าวได้จุดประกายถึงจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ซีพีกับช่วงเวลาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษถัดมา

หากให้ผมตีความ ความสัมพันธ์กับกลไกและระบบแห่งอำนาจรัฐที่ว่ามีลักษณะเฉพาะ เป็นความสัมพันธ์แตกแต่งจากเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มการเมืองอันคลาสสิคในเวลานั้น ไม่ว่าเครือข่ายธุรกิจ “ซอยราชครู” ก่อนหน้านั้น หรือเครือข่ายธุรกิจ “สี่เสาเทเวศร์” ร่มเงาใหญ่เหนือสหสามัคคีค้าสัตว์ด้วย

กรณีธนินท์ เจียรวนนท์ อาจเป็นบทเรียนเริ่มต้น ว่าด้วยความสัมพันธ์กับกลไกและระบบซึ่งสามารถสืบทอดต่อเนื่อง มีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์กับบุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มอิทธิพลหนึ่งๆ ชั่วเวลาใดเวลาหนึ่ง

 

ในภาพที่ใหญ่กว่านั้นอีก เชื่อว่าธนินท์ เจียรวนนท์ ได้มองเห็นและสัมผัสความสัมพันธ์ใหม่ กับอิทธิพลอันยิ่งใหญ่

“การเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญเกิดขึ้นหลังจาก…ปี 2502…เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 2 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท …ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีแผนการที่จะจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์ซึ่งใช้เครื่องจักรแบบทันสมัย เพื่อให้การฆ่าสัตว์เป็นไปโดยถูกต้องตามสุขลักษณะ ในการนี้ บริษัทจำต้องกู้เงินจำนวน 938,200 เหรียญอเมริกัน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยประมาณ 20 ล้านบาท โดยกู้จากกองทุนเงินกู้เพื่อการพัฒนา (Development Loan Fund) ขององค์การ USOM ประมาณ 80% หรือไม่เกิน 750,000 เหรียญอเมริกัน ส่วนที่เหลือกู้จากบริษัท เอ.เอส.แอตลาส แห่งประเทศเดนมาร์ก (A.S. Atlas)…” (อ้างจาก “พัฒนาการและบทบาทของสหสามัคคีค้าสัตว์”)

อิทธิพลสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นสงครามเวียดนาม มีมิติมากกว่ากิจกรรมทางทหารและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าเล็กน้อยกับอีกกรณีหนึ่งควรเทียบเคียง

ปี 2498 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (หรือเอสซีจีปัจจุบัน) ลงนามในสัญญากู้เงิน 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก EX-IM Bank นับเป็นการกู้เงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกของธุรกิจไทย จุดตั้งต้นแห่งการพลิกโฉมหน้าและโอกาสอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจไทยเก่าแก่

ว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจ ท่ามกลางอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงการเงิน การลงทุน ยังรวมถึงเทคโนโลยีด้วย ช่วงเวลาและเรื่องราวทำนองเดียวกันกับซีพียุคใหม่กำลังเริ่มต้น

ยุคธนินท์ เจียรวนนท์ จากผู้จัดการทั่วไป (2507) ในวัย 25 ปี สู่ผู้จัดการใหญ่เต็มตัว (2512) ในเวลาต่อจากนั้นไม่นาน