จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (5)

วันวานก็เรียกอดีต ผ่านเลยมากว่า 40 ปีย่อมเป็นอดีต ย้อนคิดถึงอดีตครั้งใดก็อดที่จะภาคภูมิใจจนถึงประหลาดใจไม่ได้สักหน เป็นไปได้อย่างไรกันเด็กน้อยผู้ยากไร้แต่เก่าก่อน กลับได้รู้จักมันคุ้นใกล้ชิด “(อดีต) นายกรัฐมนตรี” ของประเทศนี้หลายท่านทั้งที่มาจากการ “เลือกตั้ง” และไม่ได้รับ “เลือกตั้ง” จากประชาชน

อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ใกล้ชิดมากกว่าท่านอื่นๆ ที่มีโอกาสได้เคยพูดคุยไม่ว่าจะเป็น (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านบรรหาร ศิลปอาชา (ท่านพี่จิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ท่านพี่) ชวน หลีกภัย และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

กล่าวไว้บ้างแล้วว่ามีวาสนาได้เคยทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงสามารถเก็บเรื่องราวต่างๆ มาเขียนถึงเป็นการบอกเล่าในหลากหลายด้าน แบบไม่มีการเรียงลำดับระยะเวลาวันเดือนปีอะไรทั้งนั้น นึกอะไรขึ้นมาว่าสมควรจะนำมาเผยแพร่ได้ ก็เรียบเรียงทันที

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านมักจะใช้คนให้ถูกกับงานเสมอ รู้ว่าใครถนัดอะไร ลูกศิษย์คนไหนมีความสามารถตรงไหน และในความที่ท่านเป็นทุกอย่างรวมทั้งมีจิตวิญญาณเป็นศิลปิน เป็นนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชอบศิลปวัตถุทั้งงานปั้นและภาพเขียน ที่บ้านทรงไทยในซอยสวนพลู จึงถูกประดับตกแต่งไปด้วยงานศิลปะหลากหลายสไตล์

จิตรกรรมฝาผนังเป็นอีกอย่างหนึ่งที่มักใช้ประดับบ้านพัก รวมทั้งพระพุทธรูปในยุคต่างๆ ก็จะถูกจัดวางไว้ตามมุม ตามจุดอันเหมาะสมของเรือนไทยนอกเหนือจากเรือนที่เป็น “ห้องพระ” แม้แต่ในห้องนอน

ท่านได้พระพุทธรูปจากผู้ที่เคารพนับถือมาเพิ่มอีกองค์หนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นสมัยไหน และต้องการจะตั้งไว้ในซุ้มเรือนแก้วบริเวณห้องนอน

ตรงนี้แหละเป็นหน้าที่ซึ่งได้รับคำสั่งมาว่าช่วยไปทาสี “เรือนแก้ว” เป็นสีแดงชาดให้ด้วย จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ว่างสักที กระทั่งเวลาล่วงเลยมาค่อนข้างนานหลายอาทิตย์

เย็นวันที่ 19 สิงหาคม 2518 มีการชุมนุมของ “ตำรวจ” ที่ท้องสนามหลวงซึ่งไม่ไกลกับสำนักงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งประจำทำงานอยู่ แกนนำม็อบชื่อ พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ (เสียชีวิต) สมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม “นายพันอันตราย” แต่เพราะยุคสมัยอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี การก่อม็อบเดินขบวนเรียกร้องอะไรต่อมิอะไรมันมากมายไม่เว้นแต่ละวัน จึงไม่คาดคิดว่าม็อบตำรวจจะเกิดการบานปลายรุนแรงขึ้น เพราะได้ชุมนุมกันต่อเนื่องมาหลายครั้งแล้ว

แต่ครั้งนี้กลับบานปลายเคลื่อนย้ายจากสนามหลวงมุ่งสู่ “ซอยสวนพลู” ซึ่งเป็นบ้านพักของ “นายกรัฐมนตรี” โดยรายงานข่าวแจ้งเข้ามาว่าม็อบกลุ่มนั้นคึกคักฮึกเหิมเพราะได้เติมเครื่องดื่มประเภทมึนเมาเข้าไปด้วย

งานทาสีเรือนแก้วพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อย แต่ยังไม่ทันออกจากบ้านปรากฏว่าอาจารย์คึกฤทธิ์กลับเข้ามาถึง ท่านเดินขึ้นบ้านเพื่อจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดพักผ่อนอยู่กับบ้านก่อนรับประทานอาหารเย็น

ท่านถามว่ามาทำอะไร ก็บอกว่ามาทำงานที่อาจารย์สั่งไว้ “เออดีแล้ว–อย่าเพิ่งกลับนะ ประเดี๋ยวจะตำน้ำพริกให้กิน” ท่านกล่าวสั้นๆ

ยังไม่ทันได้ตำน้ำพริกกินข้าว มีรายงานข่าวแจ้งมาว่าม็อบตำรวจจำนวนมากกำลังเดินทางมายังบ้านพักแล้ว

ขณะนั้น ทีมงานนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีบางท่าน รวมทั้งผู้แทนราษฎรของ “พรรคกิจสังคม” ตำรวจติดตาม ตำรวจท้องที่เริ่มมารวมตัวกันปรึกษาหารือว่าจะเจรจาพูดคุยรับมือกับม็อบที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหล้า เบียร์ ได้อย่างไร?

ในที่สุดได้ประสานติดต่อเปลี่ยนเป้าหมายให้ม็อบเดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเลยทางแยกเข้าบ้านพักของอาจารย์คึกฤทธิ์ เข้าไปในซอยอีกไม่น้อย และนายกรัฐมนตรีจะไปพบเพื่อเจรจาพูดคุยกันที่นั่น

 

ขบวนของนายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ โดยเหลือเพียงจ่าตำรวจวัยใกล้เกษียณซึ่งทำหน้าที่ประจำอยู่ที่บ้าน คงอยู่เฝ้าบ้านต่อไป ซึ่งจำไม่ได้เช่นเดียวกันว่านอกจากจ่าแก่ๆ แล้วยังมีตำรวจหน่วยอื่นๆ ตำรวจท้องที่มาดูแลรักษาความเรียบร้อยอยู่อีกหรือไม่

ด้วยวิญญาณนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ จึงได้ติดตามขบวนนายกรัฐมนตรีไปด้วย และนั่นแปลว่าได้พลาดโอกาสได้ดูชมฉากตำรวจทำลายข้าวของในบ้านพักอาจารย์คึกฤทธิ์อย่างเมามัน ขณะเดียวกันก็หยิบฉวยทรัพย์สินอะไรต่อมิอะไรไปด้วยไม่น้อย แต่ในวินาทีนั้นไม่มีใครสามารถยืนยัน หรือจับภาพไว้ได้ว่าเป็นตำรวจ หรือมือที่สาม และอื่นๆ

ถ้าหากเป็นยุคสมัยนี้ที่ทุกคนมีกล้องคือโทรศัพท์มือถือติดตัว นอกเหนือจากกล้องวงจรปิดที่มีทุกซอกทุกมุม ก็น่าจะสามารถได้รู้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นมากกว่าภาพนิ่งขาวดำ ในสมัยเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

 

ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีกำลังเจรจาชี้แจงกับตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ตำรวจอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าสื่อสารกันอย่างไรได้แยกเข้ามายังบ้านพักซอยสวนพลู และบุกเข้าทำลายข้าวของดังกล่าว หลายคนวิเคราะห์ว่าสื่อสารกันไม่เข้าใจเนื่องจากคนจำนวนมาก แต่หลายคนเชื่อว่า “เป็นความตั้งใจ” มากกว่า

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเกินกว่าที่คาดนั้น คงสืบเนื่องมาจากได้รับการปลุกเร้าอารมณ์ และดื่มเหล้าย้อมใจมาตั้งแต่เย็นจนค่ำมืด ขณะเดียวกันก็มีการแทรกซึมจากคนนอก หรือมือที่สาม หรือที่เท่าไรไม่รู้ได้ เพื่อสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเคลื่อน “กำลังทหาร” ออกมา “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาล

หลายปีต่อมาหลังจากอาจารย์คึกฤทธิ์ “ยุบสภา” คืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมทั้งลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 (ดุสิต) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็น “เขตทหาร” กระทั่งท่าน “สอบตก” บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากกว่าพรรคอื่นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องเป็นรัฐบาลผสม แต่ก็ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ เกิดเหตุการณ์ “นองเลือด 6 ตุลาคม 2519”

ท่านเล่าให้ฟังว่าวันที่ตำรวจกำลังลุยมาจะถึงบ้าน เรียกว่ากำลังตึงเครียด ก็มีโทรศัพท์จาก “นายทหารใหญ่” ซึ่งกุมอำนาจในกองทัพขณะนั้นเข้ามาสอบถามด้วยความห่วงใยว่าท่านต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่? เอาอยู่หรือไม่? ท่านก็ได้แต่ตอบขอบคุณไปว่า ไม่เป็นไร?

ถ้าท่านต้องการความช่วยเหลือ วันนั้นอาจเกิดความวุ่นวายจนถึงมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ “ตำรวจ-ทหาร” ซึ่งในที่สุดก็จะมีการเคลื่อนกำลังออกมาควบคุมสถานการณ์ และ “ยึดอำนาจ”

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ยอมให้มีการ “ยึดอำนาจ” เพื่อยกเลิกหรือที่เรียกว่า “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ทิ้ง และอำนาจของประชาชนก็กลับไปสู่มือ “เผด็จการ” ในยุคสมัยของท่านเป็นอันขาด จนในที่สุดก็ไม่สามารถยืนระยะต้านทานจากกลุ่มกระหายอำนาจต่างๆ ได้สำเร็จ ท่านจึงเลือกที่จะคืนอำนาจสู่ประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย

ท่านเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า

“ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้พยายามทุกทางที่ดึงรั้งทุกฝ่ายให้ตั้งอยู่ในแนวทางของระบอบประชาธิปไตยแต่พอประมาณเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ได้พยายามพูดกับทุกๆ ฝ่าย ทุ่มเทตัวเองคั่นกั้นกลาง กั้นการกระทบกระทั่งไม่ให้เกิดความรุนแรง ในขณะนั้นก็ถูกทุกฝ่ายเหยียบย่ำตลอดเวลาอย่างที่ไม่คิดกันถึงเรื่องน้ำใจของคนอีกคนหนึ่ง”

“…ตลอดเวลาที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็เป็นเวลาที่มีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนมีเสรีภาพทุกอย่าง แม้แต่จะไล่ขว้างระเบิดกันกลางถนนหนทางก็ทำได้ นอกจากนี้ ผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรก็มีอำนาจวาสนาจะไล่รัฐบาลออกเมื่อไรก็ได้…”

“…ความจริง ใจนั้นก็รู้สึกว่า จะต้องอดทนเพื่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง แต่เมื่อทำอย่างนั้นแล้วคนก็เห็นว่ากะล่อน ทำทุกอย่างเพื่อรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้ ตนเองก็ยังนึกไม่ออกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีนี่มันดีอย่างไร นอกจากจะเป็นงานหนัก เป็นเรื่องที่จะต้องอดทน…”

หลังเหตุการณ์ “ตำรวจ” บุกทำลายบ้านพัก คืนวันที่ 19 สิงหาคม 2518 ผ่านไปเพียงวันเดียว อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวกับสื่อมวลชนว่า

“อโหสิกรรมให้หมดแล้ว ไม่ต้องการจะเอาความแต่อย่างใด”