จับตาประเด็นร้อน 2 กม.ลูก สนช.ชี้ขาด “ค่าสมาชิกพรรค-เซ็ตซีโร่”

ในประเทศ

จับตาประเด็นร้อน 2 กม.ลูก สนช.ชี้ขาด “ค่าสมาชิกพรรค-เซ็ตซีโร่”

ความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยที่กำลังจะก้าวสู่โลกประชาธิปไตย เริ่มเข้มข้น คึกคัก เป็นที่น่าจับตามองของทุกฝ่าย

ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา สนช. ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” ซึ่งเป็นกลไกในการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางโปรแกรมไว้ในปี 2561

ขณะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “กรธ.” ได้ส่งมอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่สำคัญสองฉบับไปยัง สนช. แล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ซึ่ง สนช. จะมีกรอบเวลาการพิจารณาเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับกฎหมายฉบับนั้นๆ

โดย สนช. ก็เด้งรับลูกทันที ด้วยการรับหลักการในวาระแรกของกฎหมายลูกทั้งสองฉบับผ่านฉลุยไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน

แต่ประเด็นร้อนของกฎหมายลูกแต่ละฉบับทำท่าจะไม่จบง่ายๆ

เนื่องจากยังมีประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างของสังคมอยู่

เริ่มจาก พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ประเด็นสำคัญคือการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ กกต. ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัติตามมาตรา 232 ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมการ กกต. 1 ใน 5 เสือ กกต. ที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ ถึงขั้นสิ้นสภาพ หรือหมดสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รวมทั้งประเด็นการ “เซ็ตซีโร่” ที่ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า หากมีการเซ็ตซีโร่ กกต. แล้วนั้น องค์กรอิสระอื่นๆ ก็ควรจะถูกบังคับใช้กฎหมายในบรรทัดฐานเดียวกัน

คือ ล้างบางเหมือนกันให้หมด

ส่วนการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. นั้น ได้ “ตวง อันทะไชย” สนช. เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ

ซึ่งแค่เริ่มแรกก็ส่อเค้าวงแตก แบบจบไม่สวย

ด้วยเหตุที่ว่า “นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์” สนช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้เป็นประธาน กมธ.ศึกษาร่าง พ.ร.บ.กกต. ล่วงหน้ามาแล้ว กลับไม่ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้อย่างต่อเนื่อง

ผิดกับ กมธ.ศึกษาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ตั้งล่วงหน้าเช่นเดียวกัน

ซึ่งตัวประธานคือ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สนช. ที่ได้รับเลือกให้ทำงานเป็นประธานในคณะ กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.พรรคการเมือง แบบไร้รอยต่อ

รอยร้าวดังกล่าวทำให้คนใน กมธ.ศึกษาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. แตกกันถึงขั้นออกมาแฉว่า การเลือกประธานใน กมธ.วิสามัญศึกษาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ไม่ชอบมาพากล

เนื่องจาก “นพ.ธำรง ทัศนาญชลี” สนช. ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในฐานะ กมธ. ที่มีอาวุโสมากที่สุด ได้สอบถามที่ประชุม ถึงการเสนอชื่อประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้

ปรากฏว่า นอกจาก นพ.เจตน์จะได้รับการเสนอชื่อแล้ว สิ่งที่ไม่ได้คาดคิดและผิดธรรมเนียม นั่นคือ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก สนช. อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมได้เสนอชื่อ นายตวง อันทะไชย ขึ้นมาเป็นคู่แข่งขัน

ทั้งที่ตามปกติ ถ้า นพ.เจตน์ไม่ได้มีความบกพร่องในการทำหน้าที่ ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนตัวประธานแต่อย่างใด

และหากคิดจะเปลี่ยนตัว ก็น่าจะมีการพูดคุยกันนอกรอบก่อน เพราะแต่งตั้ง นพ.เจตน์มาทำงานตามคำสั่งของประธาน สนช. แต่กลับเปลี่ยนตัวโดยที่นายพรเพชรไม่ได้รับทราบ

มิหนำซ้ำการลงมติโหวตเพื่อเลือกประธาน กมธ.วิสามัญ นายตวง และ นพ.เจตน์ กลับมีเสียงเท่ากัน ทำให้ นพ.ธำรงค์ได้อาศัยสิทธิของการเป็นประธานชั่วคราว โหวตเลือกนายตวงอีก 1 เสียง ซึ่งการที่ประธานในการประชุมใช้สิทธิ์ออกเสียงโหวต ถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาท ส่วนตำแหน่งรองประธานอีกสองคน เป็นนายทหาร 1 คนคือ พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อีก 1 คนคือ นายเสรี สุวรรณภานนท์

การกระทำดังกล่าว คนวงใน สนช. มองว่าเป็นเหมือนเกมต่อรองเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่างหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า การเลือกตัวประธาน กมธ.วิสามัญ แบบเปลี่ยนโผเช่นนี้ จะมีผลนำไปสู่การเซ็ตซีโร่ “กกต.” ชุดเดิมทั้งคณะหรือไม่

ซ้ำยังปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวแบบบอกต่อกันว่า เป็นคำสั่งของบุคคลระดับบิ๊กผู้หนึ่ง ที่ส่งสัญญาณสนับสนุนนายตวงเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้

ซึ่งจะมีผลต่อการเซ็ตซีโร่ 5 เสือ กกต. หรือไม่ คงต้องรอดูบทสรุปของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ที่จะเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ เป็นผู้ชี้ขาด

ขณะที่การทำงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ ถือได้ว่าวางแผนการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีปัญหาเสียงแตกกันใน กมธ. แต่อย่างใด

โดย กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดการประชุม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ พร้อมกับเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ถึง 15 มาตรา

แต่ประเด็นร้อนที่เป็นปัญหาหาข้อสรุปไม่ได้ นั่นคือ การให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท และกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกแบบตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

ซึ่งคนใน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองเองก็ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นมาตราที่ต้องแขวนเอาไว้ก่อน เพราะจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน

อีกทั้งที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังมีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองส่วน

ส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ควรจะเก็บค่าบำรุงพรรค

แต่อีกส่วนเห็นว่าจำนวนเงิน 100 บาทไม่ได้เป็นเงินจำนวนมากแต่อย่างใด

ประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องร้อนที่พรรคการเมืองทุกพรรคออกมาคัดค้าน เพราะยากต่อการปฏิบัติ เนื่องจากการทำให้ประชาชนทราบว่า ประโยชน์ของการจ่ายเงินให้พรรคการเมือง 100 บาทแล้วนั้น ประชาชนจะได้อะไรตอบแทนบ้าง

เช่นเดียวกับในเรื่องการคัดเลือกสมาชิกพรรคเพื่อเข้าสมัครเป็น ส.ส. การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการจัดทำบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาต่อไป

เพราะจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ก่อนนำเนื้อหาที่สรุปแล้วไปชี้ขาดในที่ประชุม สนช.

ทั้งนี้ ไทม์ไลน์การทำงานของ กมธ. ทั้งสองคณะยังได้กำหนดงานสัมมนานอกสถานที่ ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม ที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเปิดเวทีให้คณะ กมธ.วิสามัญ ได้ตอบข้อสงสัยที่ค้างคาใจของสมาชิก สนช. ในบางประเด็นได้ครบถ้วน

ส่วนการประชุมในวาระ 2 และ 3 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน ส่วนร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง จะพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุม สนช. วันที่ 15 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของคณะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองคณะจะต้องเสร็จสิ้นตามไทม์ไลน์รัฐธรรมนูญกำหนด โดยปรับปรุงแก้ไขก็จะต้องไม่ขัดหลักการของกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญด้วย

เพราะฉะนั้น ความเคลื่อนไหวของ สนช. ในการพิจารณากฎหมายลูกเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามว่า สุดท้ายแล้ว กติกาหรือข้อกำหนดจะถูกกำหนดมาเพื่อผลประโยชน์ของ “ผู้เล่น” หรือ “กรรมการ” ในเกมการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 ภายใต้การกำกับของ “คสช.”