เรื่อง “เรือดำน้ำจีน” เมื่อ “หลายคน” ยลตามช่อง

คําโบราณว่าเอาไว้ “สองคนยลตามช่อง” มองของสิ่งเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกัน

แต่ถ้าสมมุติเอาว่าเป็นของสิ่งเดียวกันแล้วให้มองตามช่องกันหลายคน ผลลัพธ์ก็คงออกมาไม่ต่างอะไรกับนานาทัศนะว่าด้วยการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยหนนี้นั่นแหละครับ

โครงการนี้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการมาพักใหญ่แล้ว และเพิ่งอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อลำแรกจากจำนวนทั้งหมด 3 ลำ เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

แต่กว่าจะปรากฏเป็นข่าวก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 24 เมษายน

รอยเตอร์ถามเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

คำตอบอย่างเป็นทางการก็หนีไม่พ้น “เหตุผลทางด้านความมั่นคง” อย่างที่หลายคนคาดหมาย

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องเรือดำน้ำนี้มีความคิดเห็นแตกกันไปคนละทางสองทางมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เรียกได้ว่าตั้งแต่จะซื้อของ “ประเทศไหน” ไปจนถึงการซื้อเรือ “ชนิดไหน รุ่นไหน” ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับข้อถกเถียงที่ว่า “ควร-ไม่ควร” ที่จะซื้อหามาใช้ ใครที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ คงไม่แปลกใจที่สุดท้าย แม้แต่เมื่อมีการอนุมัติเงินให้ซื้อแล้วก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นที่หยิบมาถกเถียงกันนั้น ล้วนมีเหตุมีผลมารองรับด้วยกันทั้งสิ้น

ผมไม่มีปัญญามากมายถึงขนาดบอกได้ว่า ใครผิด ใครถูก ใครมั่ว ใครไม่มั่วหรอกครับ

ได้แต่บอกเล่าเรื่องที่เขาถกเขาเถียงกันมาให้ได้รับรู้กัน

 

ขออนุญาตยกเอาเรื่อง ควรหรือไม่ควรซื้อมาบอกเล่ากันก่อน เพราะในรายงานของรอยเตอร์ ก็เหมือนๆ กับรายงานข่าวเดียวกันของ เซาธ์ไชนา มอนิ่งโพสต์ (เอสซีเอ็มพี) ที่บอกว่า ทันทีที่ได้รับรู้ว่ามีการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อก็มีคนแสดงความกังขาออกมาทันทีเหมือนกันว่า ไทยเราจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำหรือ?

ไทยไม่ได้แม้แต่จะเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วยซ้ำไป ทำไมถึงต้องซื้อ?

แน่นอนอีกฝ่ายก็ต้องบอกว่าจำเป็น ตัวอย่างเช่น พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือในฐานะโฆษกกองทัพเรือก็บอกกับรอยเตอร์ว่า กองทัพเรือมีเรือดำน้ำ 4 ลำทำในญี่ปุ่น ตอนนี้อายุเกือบ 60 ปีแล้ว เรือดำน้ำใหม่จึงจำเป็นในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ

ย้ำตามมาด้วยว่า ขอให้คนไทยนอนใจได้เลย จัดซื้อเรือดำน้ำหนนี้คุ้มค่าแน่นอน

เอาแค่เรื่องนี้ก็เถียงกันไม่จบแล้วครับ

ในรายงานของรอยเตอร์เมื่อ 25 เมษายน บอกว่า เรือดำน้ำที่ได้รับอนุมัติให้จัดซื้อครั้งนี้ เป็นเรือดำน้ำชั้นหยวน (หยวน คลาส) รุ่น “เอส 26 ที” มูลค่า 13,500 ล้านบาท ซึ่งคนที่รู้เรื่องเรือดำน้ำบอกว่า “ถูกมาก” แถมมีบางคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้เหมือนกันว่า ราคา (ต่อลำ) ของเรือดำน้ำรุ่นเดียวกันนี้ที่ปากีสถานจัดซื้อจากจีนนั้น แพงกว่าของไทยถึงเกือบ 2 เท่า

มีผู้ (ที่อ้างว่า) รู้เรื่องบางคน บอกว่าเราน่าจะจัดซื้อเรือดำน้ำจากยุโรป หรือเกาหลีใต้ มากกว่าที่จะจัดซื้อจากจีน แต่ในประเด็นเดียวกันนี้ก็มีคนแย้งเหมือนกันว่า ด้วยงบประมาณเท่าที่มีอยู่ ไปซื้อจากยุโรปหรือเกาหลี ก็จะได้แค่เรือดำน้ำ “ขนาดเล็ก” ที่เหมาะกับการเอาไว้ลาดตระเวน

ในขณะที่ด้วยงบฯ เดียวกันนี้ เราสามารถจัดซื้อเรือดำน้ำ “โจมตี” ที่สามารถติดมิสไซล์ (อาวุธปล่อย) นำวิถีได้เลย

บางคนไปไกลถึงขนาดบอกว่า ความตั้งใจของไทยนั้น เพียงแค่ต้องการรุ่นเล็กกว่า คือ เอส 20 ที แต่จีนเสนอ เอส 26 ที ให้ในราคาเดิม แถมยังใจป้ำเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีในการซ่อม-สร้างให้อีกต่างหาก

อะไรจะเอาใจกันถึงขนาดนั้น ถูกเกินไปหรือเปล่า ถูกขนาดนี้มีการตัดอะไรทิ้งไปหรือไม่ มีฮั้วกันไหม อีกฝ่ายว่ามายังงั้น

 

รายงานของเอสซีเอ็มพี บอกเอาไว้เหมือนกันว่า เรื่องการก่อสร้างโรงงานซ่อมแซมยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ทางทหารขึ้นในไทยนั้น “กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา” แต่ไม่ได้เจาะจงลงไปถึงอู่ซ่อมเรือดำน้ำนะครับ

มีกระทั่งบางคนบอกว่า กองทัพเรือตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจีนเพราะระบบเครื่องยนต์เป็นเครื่องดีเซลในระบบ เอไอพี (แอร์ อินดิเพนเดนต์ โพรพัลชั่น) คือไม่จำเป็นต้องใช้อากาศ นั่นหมายถึงว่า จะอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าและเงียบกว่า ตรวจจับได้ยากกว่า แล้วก็มีบางคนบอกเหมือนกันว่า เงียบไม่จริง ตรวจจับยากก็ไม่จริงอีกเหมือนกัน

เล่าลือกันกระทั่งว่า กระทรวงกลาโหมอยากได้เรือดำน้ำสัญชาติเกาหลี แต่กองทัพเรือต้องการเรือจีน ลงเอยด้วยการยอมตามกองทัพเรือเพราะเรือเกาหลีเล็กกว่า แถมแพงกว่าถึง 5 เท่า

 

ผมบอกเอาไว้ก่อนแล้วว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญญาชี้แนะ บอกได้เพียงว่า ผมเองก็ “ยลตามช่อง” กับเขาด้วยเหมือนกันนั่นแหละ

เมื่อไหร่กองทัพเลิกทำให้ทุกคน “ยลตามช่อง” แต่เปิดเผย โปร่งใส ให้ดูกันกระจะๆ เต็มสองลูกตา ก็เป็นอีกเรื่อง

ทำไม่ได้ ก็ต้องทำใจ ถ้ามีเสียงค้านนะขอรับ!