มุกดา สุวรรณชาติ : สถานการณ์ฉุกเฉิน ประตูทางออกถูกปิด…ต้องพัง

มุกดา สุวรรณชาติ

สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน คล้ายกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเพียงแค่คล้ายแต่ไม่เหมือน

ในครั้งนั้นมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งโอกาสที่จะได้ยากมาก

ในครั้งนี้ก็มีการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับขี้โกง แต่โอกาสแก้ในระบบรัฐสภาคงจะยากมากเช่นกัน

ความคล้ายกันก็คือ มีอำนาจปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย มาจากกลุ่มที่ทำการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

ประชาชนได้เห็นความอยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบ การคอร์รัปชั่น มีแต่ความอึดอัดแต่ไม่สามารถแก้ไขได้

แต่ในปัจจุบันนี้มียังความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นแรงบีบคั้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อความอยู่รอด

เมื่อมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักเรียนและปัญญาชนก้าวหน้า ก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลและต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงปี 2516 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายระเบิด คือก่อนเกิดเหตุการณ์มีความเงียบ

และเมื่อเริ่มแล้วก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและก็จบอย่างเร็ว

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ไม่มีลักษณะเงียบแบบนั้น

มันเหมือนมีการปะทะกันมาก่อน มีการโต้ตอบกันประปราย แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวแรงขึ้น

เพราะทางออกแบบประนีประนอมถูกปิดกั้นไว้

คำว่าการปฏิรูป การปรองดอง ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องหลอกกัน

สภาพความเป็นจริงคือการเอาเปรียบกัน การกดขี่ข่มเหง ทำกันอย่างเปิดเผย ชนิดไม่อายใคร จนเด็กๆ ก็รู้ และรับไม่ได้

สถานการณ์วันนี้จึงเหมือนกับสัญญาณเพลิงไหม้ดังขึ้นในอาคารขนาดใหญ่ ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สำนักงานและที่อยู่อาศัย โดยธรรมชาติแล้วผู้คนจะต้องวิ่งไปหาทางออก ไม่ว่าประตูธรรมดา ประตูฉุกเฉิน ใครที่อยู่สูงก็ต้องหาทางลงตามบันไดหนีไฟ

แต่มีคนไปตั้งโปรแกรมให้ประตูฉุกเฉินปิดทั้งหมด จนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากเจ้าของอาคาร

ถ้าเป็นแบบนั้นจะต้องเกิดการตายหมู่แน่นอน

วิธีที่จะรอด คือต้องผ่านช่องทางประตูทางออก และประตูที่ลงบันไดหนีไฟ

ถ้าประตูปิด ก็ต้องทำลายประตู หรือบางจุดอาจต้องทำลายผนัง ทำลายกระจก แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อหาทางออก หาทางลง เพื่อลำเลียงคนส่วนใหญ่ให้พ้นอันตรายจากเพลิงไหม้

การนิ่งนอนใจ คิดว่าไม่เป็นไรยังมีเวลา เมื่อลิฟต์ไม่ทำงานแล้ว เพราะไฟฟ้าถูกตัด ก็จำเป็นต้องเดินลงบันได ถ้าหากมัวแต่ช้า จะเหมือนเมื่อครั้งเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดที่ New York จะไปคิดว่า ตามธรรมชาติไฟลามขึ้นข้างบน เราอยู่ชั้นล่างกว่าตั้งเยอะ คงไม่เป็นไรไม่ได้ กว่าจะคิดได้ตึกก็ถล่มลงมาแล้ว คนที่ระมัดระวังและรีบเดินลงมาก่อนแม้จะเดินถึง 30-40 ชั้น แต่ก็สามารถรอดพ้นจากอันตรายได้

ผู้มีอำนาจเข้าใจว่า ยื้อให้อยู่ใต้ระบอบรวมศูนย์อำนาจหลังรัฐประหารได้ตั้งนาน และสามารถสืบทอดอำนาจในระบบเลือกตั้งได้แล้ว มีเสียงข้างมาก ทั้ง ส.ว.และ ส.ส. ทำไมจะอยู่ต่อไม่ได้

แต่ความจริงคือประชาชนรู้ทุกเรื่อง และอดทน แต่เขาทนมานาน พอถึงวันที่ต้องอด เขาจะไม่ทน

 

ประชาชนรู้ว่าทำไมต้องสืบทอดอำนาจ

ถ้าปล่อยให้คนอื่นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ผู้มีอำนาจเดิมอาจจะถูกเล่นงานในเรื่องต่างๆ ย้อนหลัง ไม่ว่าเรื่องของชิ้นเล็กแบบนาฬิกา ที่ถูกตามจิกตามตีไม่เว้นทุกวัน

หรือเรื่องของชิ้นใหญ่ แบบรถไฟ เรือเหาะ รถเกราะ เครื่องบิน เรือดำน้ำ ก็จะมีคนมาขอตรวจสอบ

และเรื่องเก่าแบบการใช้กำลังอาวุธปราบผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตจำนวนมากก็ยังไม่จบ แค่กลบเอาไว้

หรือเรื่องใหม่แบบการนำข้าวสารในโกดังราคาสูงไปขายในราคาอาหารสัตว์ เงินหล่นหายไปกลางทางเป็นหมื่นล้านยังไงก็ถูกขุดแน่

การโยกย้ายข้าราชการมีคนไม่พอใจเป็นจำนวนมาก อีกสารพัดโครงการซึ่งมีการโวยวาย

แม้ผู้ที่ออกมาตรวจสอบจะถูกจับถูกฟ้องไปบ้างแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนั้นจะยุติหรือสิ้นสุดลง

ทุกอย่างอาจถูกรื้อฟื้นย้อนกลับมาดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น

ยกเว้นผู้เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมจะช่วยกันดึง ช่วยกันดองไว้ ซึ่งก็อาจจะทำได้เป็นปี ถ้ามีอำนาจค้ำ

แต่ถึงวันหมดอำนาจ ก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

 

รู้ว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับขี้โกงให้ได้เปรียบ

คือจะต้องกำหนดให้มี ส.ว.แต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ให้มีส่วนในการคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี = มีคะแนนเสียงตุนอยู่จำนวนหนึ่ง ในอดีตบางครั้งมีถึงสามในสี่ของจํานวน ส.ส. แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.มีครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. นี่จึงเป็นหลักประกันว่าโอกาสสืบทอดอำนาจมีความเป็นไปได้สูง

วิธีการเลือกตั้งก็ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ แม้แพ้เลือกตั้งในเขตต่างๆ ก็ยังได้ ส.ส. โดยกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยหรือแม้แต่ทั่วโลกก็คงจะหายากมาก

คือให้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส.เขตมานับคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและมาคิดสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เมื่อไม่ได้ใช้บัตรเลือกคนและบัตรเลือกพรรคแยกจากกัน โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้คะแนนแบบท่วมท้นก็ไม่มี มีแต่จะได้จำนวน ส.ส.ลดลง

รู้ว่าตั้งพรรคใหม่โดย การหาซื้อ ส.ส. หรือดูด ส.ส.เก่าจำนวนมากโดยการสนับสนุนของผู้มีอำนาจหรือผู้มีเงิน ให้ได้ ส.ส.จำนวนหนึ่งเพื่อไปรวมเสียงกับ ส.ว.แล้วเลือกนายกฯ ได้

กันไม่ให้คนอื่นมาเป็นนายกฯ โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางให้การเลือกนายกฯ หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ใน 5 ปีแรก สามารถนำ…กองหนุน ส.ว. 250 คน…มาร่วมเป็นผู้คัดเลือกในการประชุมรัฐสภาด้วย ใครที่ไหนจะมี ส.ว.มาหนุน ยกเว้นคนตั้ง ส.ว.

คนอื่นมาบริหารปกครองก็จะทำได้ยาก เพราะจะต้องผ่านด่าน กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรวจสอบ ควบคุมตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นนายกฯ จนถึงขณะบริหาร ถ้าเกิดข้อผิดพลาด นายกฯ และรัฐบาลอาจถูกล้มได้ง่ายๆ ยกเว้นเป็นพวกเดียวกัน

เรื่องนี้จึงมีการวางแผนลงรายละเอียดตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายลูกที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อชิงความได้เปรียบทุกองค์กร ทุกจังหวะก้าวการเมือง

ประชาชนสังเกตได้ว่ามีการเซ็ตซีโร่ กกต. ตั้ง กกต.ชุดใหม่ไว้ช่วยตอนเลือกตั้ง

แต่ทำไมไม่เซ็ตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญ แถมต่ออายุ

แต่ทำไมต่ออายุ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่ขาดคุณสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งอีก 9 ปี

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ร่างไว้ให้แก้

นักศึกษา นักเรียน ที่ออกมาเคลื่อนไหว เสนอข้อเรียกร้องได้ถูกต้อง ถือว่ายิงตรงเป้า แต่ไม่มีใครยอมทำ…เพราะนายกฯ ส.ว และรัฐธรรมนูญ 2560 คือสามเหลี่ยมพีระมิดของโครงสร้างอำนาจจริง ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง อำมาตยาธิปไตยที่ซ่อนอยู่หลังการเลือกตั้ง จะล้มทันที ดังนั้น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามปกติจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมตกลงกัน

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร และมีการร่างใหม่ตามที่คณะทหารยุคนั้นต้องการ การจะเป็นระบอบประชาธิปไตยมากหรือน้อย หรือจะให้เป็นอํามาตยาธิปไตยก็ล้วนแล้วแต่ตามความต้องการของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค น้อยครั้งมากที่จะได้เห็นการร่างรัฐธรรมนูญมาจากความต้องการของประชาชน

การร่างรัฐธรรมนูญเองแล้วฉีกเองเป็นเรื่องปกติของกลุ่มที่ยึดอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจแบบเผด็จการได้อย่างเต็มที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงฉีกรัฐธรรมนูญที่ร่างเองมาทั้งสิ้น ในยุคหลังมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แล้วร่างใหม่เป็นฉบับ 2550 แต่เมื่อเห็นว่ายังแพ้การเลือกตั้งก็สามารถฉีกทิ้งได้อีก แล้วร่างใหม่เป็นฉบับ 2560

ประชาชนจะถูกบังคับให้เคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ แต่ผู้มีอำนาจให้ความเคารพเรื่องนี้น้อยอย่างยิ่ง เริ่มจากการบิดเบือนกฎหมาย ตีความตามที่ตัวเองต้องการ โดยมีนักกฎหมายขายวิญญาณ ช่วยตีความ มีการพิจารณาที่ไม่เป็นมาตรฐานโดยคนในกระบวนยุติธรรมบางส่วน จนถึงขั้นฉีกรัฐธรรมนูญและกฎหมายทิ้ง โดยการใช้กำลัง เรื่องฝืนกฎหมายประชาชนธรรมดาทำไม่ได้ ถูกจับทันที อยุติธรรมจึงครองเมือง

รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ควรแก้ไขได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพสังคม ซึ่งการแก้ไขต้องมีข้อกำหนด ขั้นตอนและวิธีการที่เป็นไปได้จริง นี่เป็นประตูทางออกฉุกเฉิน

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างไว้ไม่ให้แก้ไขได้จริง เมื่อเปรียบเทียบจากสถานการณ์ปัจจุบัน

1. หลอกให้ยื่นแก้ไขได้ไม่ยาก ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส.หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส. และ ส.ว.รวมกัน หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นรายชื่อร่วมลงชื่อเสนอการแก้ไข-เพิ่มเติม ข้อนี้เพื่อไทยหรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านร่วมกันก็ทำได้ เสียงประชาชน 50,000 ชื่อก็ไม่ยาก

ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

ด่านที่ 2 วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของรัฐสภา (375) ตอนนี้ฝ่ายค้านในสภามีไม่ถึง 250 ต้องหาเสียง สนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หรือ ส.ว.ให้ได้อีก 130 เสียง ต่อให้ ปชป.มาหนุนก็ทำไม่ได้ ต่อให้ ส.ส.ทั้งสภาร่วมก็ทำไม่ได้

เพราะยังต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง แล้วใครจะยอมแก้เพื่อลดอำนาจตนเอง ตอนนี้ ส.ว.ก็ประกาศแล้วว่า ห้ามแตะเรื่อง ส.ว. เขาจะอยู่กินเงินเดือนจนครบ 5 ปี

 

เกมการเมืองกำลังเดิน…
แก้ไข รธน.2560 ผ่านสภา เป็นการซื้อเวลา

เกมการเมืองเป็นเรื่องปกติ และไม่สามารถหลีกพ้น ตัวอย่างเช่น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชิ่ง…ออกมาจากเพื่อไทย เพื่อเตรียมสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะคิดว่าสะดวกที่สุด ทั้งการหาทีมงาน วางนโยบาย และทำงานจริง แต่ตอนนี้ถูกบีบแล้ว และชัชชาติก็ไม่หมูอย่างที่คิด

โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ เขาไม่เดินตามเกมคนอื่น แพ้ชนะไม่เป็นไร เดินไปข้างหน้าสนใจเป้าหมายเดียว คนอื่นต้องพลิกเกมเอาเอง โอกาสหน้า จะพูดถึงเกมนี้ เพราะยังอีกนาน

ส่วนเกมแก้รัฐธรรมนูญ 2560 คงไม่มีโอกาสแก้หลักการสำคัญ หรือแก้ทั้งฉบับผ่านสภา เพราะนี่คือโครงสร้างหลักและกลไก ที่ส่งเสริมอำมาตยาธิปไตยให้เหนือกว่าประชาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้งเป็นฉาก

คนอยากแก้ก็รู้ แต่ก็จะลองเล่นเกมนี้ให้คนดู ซื้อเวลาขณะที่รอให้น้ำร้อน

อำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น เพราะ ส.ว.ไม่ต้องเลือกตั้งมีถึง 250 คน และอำนาจบริหารก็มีที่มาจาก ส.ส.+ส.ว. ตอนนี้สืบทอดได้แล้ว

ส่วนอำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ประชาชนก็ไม่มีส่วนในการตั้ง แต่ ส.ว.และผู้มีอำนาจ มีส่วนในการแต่งตั้ง

ยังมีกรรมการยุทธศาสตร์ที่มาคุมทิศทางประเทศที่ประชาชนก็ไม่ได้เลือก เมื่อมีความได้เปรียบแบบนี้ ใครเล่าจะยอมปล่อยทิ้งไปง่ายๆ ทั้งอำนาจและเงินตอบแทน

ถ้ามีกระบวนการแก้ไขเกิดขึ้นตามกระแส พรรคร่วมรัฐบาลคงเข้าร่วมด้วย และจะต้องถกเถียงกันวุ่นวาย หาข้อยุติไม่ได้ เวลาจะถูกลากให้ยาวจนวงแตก

แต่นักศึกษา นักเรียน ประชาชน จะทนได้กี่วัน

การร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม เคยเกิดขึ้นมาจากสถานการณ์พิเศษ หลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน สองครั้งเท่านั้น คือ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังพฤษภาทมิฬ 2535

การประท้วงของเยาวชน ที่เรียกว่า ม็อบมุ้งมิ้งจะคล้ายหมัดแย็บ ที่ไม่น็อก แต่จะทำให้ตาปิด และม็อบคนตกงาน คนที่ยากลำบากจะตามมา พวกเขาต่อยเป็นแต่มวยไทย และตอนนี้ไม่มีใครเชื่อกรรมการแล้ว